ข่าวสาร/กิจกรรม
|
Thailand Policy Lab ยกทัพผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมเชิงนโยบาย ร่วมกันแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาเชิงระบบ โดยยึดหลักประชาชนเป็นศูนย์กลาง ภายในงานเสวนา "Policy Innovation Exchange ครั้งที่ 3"
(จำนวนผู้เข้าชม 46)
|
เมื่อวันที่ 20 - 21 ตุลาคม 2565 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยห้องปฏิบัติการนโยบายประเทศไทย หรือ Thailand Policy Lab (TPLab) ภายใต้ความร่วมมือกับ UNDP ได้จัดงานเสวนา Policy Innovation Exchange ครั้งที่ 3 ขึ้น ภายใต้หัวข้อ "คิดนโยบายแนวใหม่ ในโลกที่ซับซ้อน: แนวคิดเชิงระบบ และประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Reimagine Policymaking: Systems Approach and People-Centered Design)” ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเว็นชัน เซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ โดยมี นายวิโรจน์ นรารักษ์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ Mr. Renaud Meyer ผู้แทน UNDP ประจำประเทศไทย เป็นประธานกล่าวเปิดงาน
งานเสวนา Policy Innovation Exchange ครั้งที่ 3 ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมเชิงนโยบายจากทั้งในและต่างประเทศมาร่วมกันแลกเปลี่ยนแนวคิด กระบวนการ และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการ โครงการหรือกิจกรรมในการแก้ไขปัญหาเชิงระบบ โดยการยึดหลักประชาชนเป็นศูนย์กลาง การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมุ่งเน้นการสร้างความเชื่อใจให้กับประชาชน เพื่อให้มองเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการแก้ไขปัญหาในเชิงรุกมากกว่าการตั้งรับ ที่สามารถตอบสนองความต้องการ ปิดช่องว่างของความเปราะบาง และลดความซับซ้อนทางสังคม ผ่านการนำเสนอวิธีการต่าง ๆ ที่ช่วยจุดประกายความคิดของผู้ออกแบบนโยบาย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน ให้เข้าใจถึงปัญหาและเกิดมุมมองที่จะช่วยต่อยอดไปสู่การหาแนวทาง หรือการออกแบบนโยบายที่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นระบบองค์รวม (Holistic) และครอบคลุมปัจจัยหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยการเน้นให้ประชาชนทั่วไปเข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมกับกระบวนการออกแบบนโยบายมากขึ้น (Inclusivity)
ตลอดงานเสวนาฯ ทั้ง 2 วันที่ผ่านมา มีหัวข้อการบรรยายที่น่าสนใจและหลากหลาย อาทิ (1) การออกแบบภารกิจในศตวรรษที่ 21 เพื่อเปลี่ยนเป้าหมายเป็นการลงมือทำ โดยคุณ Dan Hill ผู้อำนวยการ Melbourne School of Design (2) กระบวนการออกแบบนโยบายสำหรับปัญหายุคใหม่ โดยคุณ สุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สศช. (3) การแก้ปัญหาแบบมองหลายมิติ โดยคุณ Millie Begovic ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม UNDP (4) การออกแบบชุดของทางเลือกให้ตรงจุดและตอบโจทย์ โดยคุณ Michael McAllum หัวหน้าด้านการคาดการณ์เชิงกลยุทธ์ Chora Foundation (5) เมืองที่ทุกคนมีส่วนร่วม: ระบบการติดตามและประเมินผลนวัตกรรมของเมือง โดย ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (6) Better Reykjavik แพลตฟอร์มเพื่อการมีส่วนร่วมของไอซ์แลนด์ โดยคุณ Eiríkur Búi Halldórsson (7) นโยบายที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง: หลักการออกแบบอย่างเท่าเทียม (Universal Design) โดยคุณ Udi Pollak และ (8) เมืองกรุงเทพฯ สำหรับทุกคน โดยคุณ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ งานเสวนาดังกล่าว เป็นหนึ่งในกิจกรรมตามกรอบแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงาน Thailand Policy Lab ในการสร้างและพัฒนาเครือข่ายนวัตกรและผู้จัดทำนโยบาย (Community of Innovators) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเครือข่ายผู้จัดทำนโยบายทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในการสร้างสรรค์แนวทางการแก้ไขปัญหา รวมทั้งการพัฒนานโยบายสาธารณะแห่งอนาคตผ่านการใช้นวัตกรรมที่หลากหลาย ตรงกับความต้องการของประชาชน และเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยทั้งในสภาวะปกติและสภาวะที่มีความไม่แน่นอน
ข่าว/ภาพ : กองยุทธศาสตร์และประสานการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน
|