ข่าวสาร/กิจกรรม
|
สศช. ติดตามโครงการภายใต้แผนงานสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก เพื่อขับเคลื่อนแผนพัฒนาภาคสู่การปฏิบัติ
วันที่ 21 ต.ค. 2565 (จำนวนผู้เข้าชม 53)
|
เมื่อวันที่ 17 - 18 ตุลาคม 2565 นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ ผู้ทรงคุณวุฒิและหัวหน้ากำกับการลงพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คณะอนุกรรมการติดตามโครงการภายใต้แผนงานสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก ลงพื้นที่ติดตามโครงการภายใต้แผนงานสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก เพื่อขับเคลื่อนแผนพัฒนาภาคสู่การปฏิบัติ ณ จังหวัดชัยภูมิ พร้อมด้วย นางสาวเพชรรัตน์ สายทอง ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางสาวสุริยา สุระเสียง วัฒนธรรมจังหวัดชัยภูมิ อาจารย์อดุลย์ สนั่นเอื้อเม็งไธสง รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์และสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ นายสุรัตน์ ดิษฐเชาวลิต เกษตรอำเภอบ้านแท่น นายมนตรี ดีมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเจ้าหน้าที่ สศช.
การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เพื่อประชุมหารือรับฟังปัญหาและผลการดำเนินงานโครงการสำคัญ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในระดับพื้นที่ ได้แก่
(1) โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย)ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรณีการพัฒนาหม่ำตามวิถีชุมชน (ตำบลช่องสามหมอ อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ) ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ
(2) โครงการกระตุ้นและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย (CCPOT) สู่สากล ของกระทรวงวัฒนธรรม กรณีกลุ่มสตรีทอผ้าไหมบ้านเสี้ยวน้อย ตำบลบ้านเล่า อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ
(3) โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรณีวิสาหกิจชุมชนส้มโอทองดีแปลงใหญ่บ้านแท่น หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านแท่น อำเภอบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ
โดยในการลงพื้นที่ติดตามโครงการดังกล่าว พบว่า การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายของโครงการ ประธานกำกับการลงพื้นที่ฯ ได้มอบนโยบายในการดำเนินโครงการควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาตลอดห่วงโซ่การผลิตให้ครบวงจรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งหาแนวทางการลดต้นทุนวัตถุดิบ และการสร้างเรื่องราวหรืออัตลักษณ์ให้มีความโดดเด่น โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ควรบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วนและเชื่อมโยงกับชุมชน ในการสนับสนุนองค์ความรู้ทางวิชาการในการพัฒนาพร้อมเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค นอกจากนั้นควรให้ความสำคัญการสร้างความเข้มแข็ง การมีส่วนร่วมระหว่างบ้าน วัด โรงเรียน (บวร) และสืบทอดภูมิปัญญาของชุมชนให้แก่เยาวชนรุ่นหลัง รวมถึงการให้ความรู้ด้านธุรกิจเพื่อการส่งออก และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนอื่นที่มีประสบการณ์ด้านการส่งออก เพื่อนำมาประยุกต์ใช้และเกิดการสร้างงานสร้างรายได้ชุมชน |