ข่าวสาร/กิจกรรม
|
สศช. ติดตามโครงการภายใต้แผนงานสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก เพื่อขับเคลื่อนแผนพัฒนาภาคสู่การปฏิบัติ
วันที่ 20 ต.ค. 2565 (จำนวนผู้เข้าชม 69)
|
เมื่อวันที่ 17 – 18 ตุลาคม 2565 ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานอนุกรรมการติดตามโครงการภายใต้แผนงานสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก ลงพื้นที่ติดตามโครงการภายใต้แผนงานสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก เพื่อขับเคลื่อนแผนพัฒนาภาคสู่การปฏิบัติ ณ จังหวัดตรัง พร้อมด้วย นายโสภณ แท่งเพ็ชร ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นางศศิฑอณร์ สุวรรณมณี ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม ผู้ช่วยศาสตราจารย์โกสินทร์ พัฒนมณี รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง นายวสันต์ สุขสุวรรณ์ เกษตรจังหวัดตรัง นางวีนัส นาคสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคใต้ สศช. และเจ้าหน้าที่ สศช.
การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เพื่อประชุมหารือและรับฟังผลการดำเนินงานโครงการสำคัญเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในระดับพื้นที่ ได้แก่ (1) โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด กรณีวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ข้าว หมู่ที่ 2 ตำบลนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง (2) โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) กรณีโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์มัลเบอร์รี่เพื่อสุขภาพ ตำบลนาโยง จังหวัดตรัง โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง และ (3) โครงการกระตุ้นและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย (Community Cultural Product of Thailand : CCPOT) สู่สากล กระทรวงวัฒนธรรม กรณีชุมชนเครือข่ายทางวัฒนธรรมวัดท่าพญา (ผ้าบาติก) ณ วังเทพทาโร ตำบลเขากอบ อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้รับทราบผลการดำเนินงานซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย รวมทั้งได้รับฟังปัญหาอุปสรรค ข้อคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในระดับพื้นที่ ในกรณีของกลุ่มวิสาหกิจแปลงใหญ่ที่มีปัญหาด้านการบริหารจัดการ ควรจัดให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อเรียนรู้แนวทางการบริหารจัดการกลุ่มให้ประสบผลสำเร็จ และใช้เครื่องจักรอุปกรณ์การทำเกษตรให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า นอกจากนี้ในการพัฒนาชุมชนฐานรากควรให้สถาบันการศึกษาเข้ามาสนับสนุนการศึกษาวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และใช้หลัก BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) โดยการอาศัยฐานทรัพยากรที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน ตลอดจนการนำ Soft Power ของชุมชนมาต่อยอดในการพัฒนาเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และการท่องเที่ยวชุมชน เช่น การออกบรรจุภัณฑ์ที่มีความสวยงามเป็นอัตลักษณ์ และนำเสนอสาระการท่องเที่ยวชุมชนเพื่อเป็นช่องทางการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวชุมชน รวมทั้งมีการบูรณาการของภาคีที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนตลอดห่วงโซ่คุณค่า และควรให้ความสำคัญในการส่งเสริมกลุ่มเยาวชน คนรุ่นใหม่ในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะ เพื่อต่อยอดและสืบทอดการผลิตสินค้าชุมชนให้มีความยั่งยืน รวมทั้งพัฒนายกระดับเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก |