ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
สภาพัฒน์ จัดเวทีระดมความคิดเห็นต่อร่างแผนพัฒนาภาคกลาง ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566-2570) ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วันที่ 23 ก.ย. 2565 (จำนวนผู้เข้าชม  106)
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเวทีระดมความคิดเห็น "ร่างแผนพัฒนาภาคกลาง ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570)”  เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคีการพัฒนาทุกภาคส่วนในพื้นที่ ทั้งในด้านสถานการณ์ ปัญหา และแนวทางการพัฒนาแผนพัฒนาภาคกลาง เพื่อให้ สศช. รับไปดำเนินการปรับปรุงแผนพัฒนาภาคฯ ให้มีความสมบูรณ์และสามารถตอบสนองความต้องการของพื้นที่ได้อย่างแท้จริง 

เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565 นายโสภณ  แท่งเพ็ชร์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สศช. เป็นประธานการประชุมระดมความเห็น "ร่างแผนพัฒนาภาคกลาง ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570)” ณ โรงแรมคลาสสิค คามิโอ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยได้รับเกียรติจากรองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายประทีป การมิตรี กล่าวต้อนรับ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นายชัยพจน์ จรูญพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ผู้แทนส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจเอกชน และเครือข่ายภาคประชาสังคม ประมาณ 130 คน 

(ร่าง) แผนพัฒนาภาคกลาง (พ.ศ. 2566 – 2570) เป็นการนำร่างกรอบแผนฯ ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบูรณาการนโยบายการพัฒนาภาค (ก.บ.ภ.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2564 มาดำเนินการเพิ่มเติมสาระสำคัญในรายละเอียดให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายการพัฒนาที่ต้องการมุ่งเน้นให้พื้นที่ภาคกลางเป็น "ฐานการผลิตสินค้าและบริการมูลค่าสูง" ด้วยการให้ความสำคัญกับการพัฒนาใน "5 มิติ หรือ HEART" ได้แก่ (1) H : High Value-added Products and Services การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ (2) E : Education and Training การพัฒนาศักยภาพแรงงานให้มีทักษะใหม่ที่จำเป็นในการทำงานและพัฒนายกระดับทักษะเดิมให้ดีขึ้น (3) A : Art and Creativity การนำศักยภาพในด้านศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ (4) R : Resilience การเสริมสร้างความยืดหยุ่นภายในสาขาการผลิตหลักของพื้นที่ภาคกลาง และ (5) T : Treatment of Environmental Pollution and Restoring Natural Resources การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีแนวทางการพัฒนาประกอบด้วย (1) ยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปที่มีมูลค่าเพิ่มสูงได้มาตรฐานระดับสากล (2) ส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวสำคัญและแหล่งท่องเที่ยวชุมชนให้เป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวคุณภาพ (3) พัฒนาระบบบริการส่งเสริมสุขภาพและการให้บริการทางการแพทย์ที่มีศักยภาพในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ได้มาตรฐานในระดับสากล (4) พัฒนาเมือง เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนและเมืองชายแดน รวมทั้งพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง-ตะวันตก ให้เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต (5) พัฒนาและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตของภาคกลาง และ (6) ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ครอบคลุมทั้งมิติและแนวทางการพัฒนา ตลอดจนนำเสนอข้อเท็จจริงในเชิงพื้นที่เพื่อสะท้อนความเห็นรวมถึงปัญหา อุปสรรคและโอกาสของพื้นที่ภาคกลางที่ควรได้รับความสำคัญเชิงนโยบาย

ผลที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ สศช. จะนำความคิดเห็นไปประมวลและปรับปรุงร่างแผนพัฒนาภาคกลาง ในระยะ 5 ปี ภายใต้แผนฯ 13 ให้มีความครบถ้วนและสมบูรณ์ สอดคล้องกับเป้าหมายและทิศทางการพัฒนาประเทศ เพื่อนำเสนอคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ (ก.น.บ.) และคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ตามขั้นตอนต่อไป เพื่อให้ส่วนราชการ ภาคเอกชน องค์กร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อบรรลุเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาในระดับพื้นที่และภาคกลาง ต่อไป
-------------------------
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
22 กันยายน 2565

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์