ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
สภาพัฒน์จัดประชุมประจำปี 2565 ชวนคนไทยร่วมขับเคลื่อนแผนฯ 13   “พลิกโฉมประเทศไทย ก้าวไปด้วยกัน”
วันที่ 23 ก.ย. 2565 (จำนวนผู้เข้าชม  557)

วันนี้ (23 กันยายน 2565) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดประชุมประจำปี 2565 เรื่อง "พลิกโฉมประเทศไทย ก้าวไปด้วยกัน” ในรูปแบบการประชุมออนไลน์ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีการพัฒนาและประชาชนทุกภาคส่วน ในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 สู่การพลิกโฉมประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน 


การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต้องให้ความสำคัญกับ "การพัฒนาคน” และ "ความมั่นคงของการดำรงชีวิต”
ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า  การจัดประชุมประจำปี 2565 ของ สศช. มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาประเทศภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ที่ต้องการจะสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเพื่อแก้ไขจุดอ่อนและข้อจำกัดที่มีอยู่ในปัจจุบัน พร้อมกับยกระดับขีดความสามารถเพื่อสร้างสรรค์โอกาสจากบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งหวังที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่ประเทศที่มีสังคมก้าวหน้า และเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นภาพอนาคตที่ทุกคนอยากเห็นและอยากให้เกิดขึ้น สะท้อนผ่านแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13

แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 มุ่ง 5 เป้าหมายหลัก 13 หมุดหมาย พลิกโฉมประเทศไทย
นายดนุชา  พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำเสนอสาระสำคัญของร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และแนวทางการขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ว่า ภายใต้ความท้าทายของการพัฒนาประเทศที่ต้องเผชิญในระยะต่อไปทั้งในเรื่อง การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัล ความร่วมมือในการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับนานาชาติ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเป็นสังคมสูงวัย ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน โรคอุบัติใหม่และภัยโรคระบาด นั้น 

ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูงดังกล่าว แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ได้กำหนดทิศทางการพัฒนาบนพื้นฐานของหลักการแนวคิดที่สำคัญ 4 ประการ ได้แก่ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แนวคิด Resilience เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) และโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อมุ่งสู่วัตถุประสงค์หลักของแผนพัฒนาฯ คือการ "พลิกโฉม” ประเทศไทย สู่ "สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” โดย สศช. ได้ถ่ายทอดวัตถุประสงค์หลักข้างต้นออกมาเป็นเป้าหมายหลัก 5 ประการ คือ (1) การปรับโครงสร้างสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม เพื่อยกระดับรายได้ประชาชาติต่อหัวเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 300,000 บาทต่อปี (2) การพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่ ให้ดัชนีความก้าวหน้าของคน (HAI) อยู่ในระดับสูง (3) มุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม โดยลดความแตกต่างของความเป็นอยู่ระหว่างกลุ่มประชากรต่ำกว่า 5 เท่า (4) เปลี่ยนผ่านการผลิตและการบริโภคไปสู่ความยั่งยืน โดยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่น้อยกว่า 20%  เมื่อเทียบกับปริมาณปกติที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และ (5) สร้างความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ทั้งในเรื่อง โรคระบาด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความก้าวหน้าทางดิจิทัล และประสิทธิภาพภาครัฐ

ทั้งนี้ แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ได้กำหนดหมุดหมายการพัฒนาไว้จำนวน 13 หมุดหมายเพื่อเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อน มีเป้าหมายและทิศทางที่ช่วยในการสนับสนุนการพลิกโฉมประเทศ ที่ครอบคลุม 4 มิติการพัฒนา ได้แก่

1. มิติภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย 
หมุดหมายที่ 1 ไทยเป็นประเทศชั้นนำ ด้านสินค้าเกษตร และเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง มุ่งเน้นใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับการผลิตและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร
หมุดหมายที่ 2 ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน โดยลดการท่องเที่ยวที่เน้นปริมาณ สร้างการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์
หมุดหมายที่ 3 ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก โดยสร้างความพร้อมให้ผู้ประกอบการไทย ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ และเตรียมโครงสร้างพื้นฐานรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า
หมุดหมายที่ 4 ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง มุ่งเน้นยกระดับบริการทางการแพทย์และสุขภาพ  ด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยีขั้นสูง และอัตลักษณ์ไทย
หมุดหมายที่ 5  ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุน และยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค โดยพัฒนาความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนกับต่างประเทศปรับปรุงระบบคมนาคมและโลจิสติกส์ ให้เชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ
หมุดหมายที่ 6 ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและอุตสาหกรรมดิจิทัลของอาเซียน มุ่งเน้นผลักดันการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในทุกภาคส่วน ต่อยอดอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไปสู่อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

2. มิติโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม 
หมุดหมายที่ 7 ไทยมี SMEs ที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง และสามารถแข่งขันได้ โดยสนับสนุนให้ SMEs เข้าถึงเทคโนโลยีและแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม สร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่าง SMEs กับรายใหญ่
หมุดหมายที่ 8 ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืนโดยการกระจายความเจริญไปสู่ระดับพื้นที่ และสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก  
หมุดหมายที่ 9 ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม โดยการสนับสนุนครัวเรือนยากจนให้เข้าถึงการศึกษาและการพัฒนาทักษะอาชีพ ตลอดจนสร้างความคุ้มครองทางสังคมที่เหมาะสมและครอบคลุมคนทุกกลุ่ม

3. มิติความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
หมุดหมายที่ 10 ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ ให้ความสำคัญกับการนำขยะและของเสียมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์ รวมถึงเพิ่มการใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
หมุดหมายที่ 11 ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมุ่งเน้นปรับการใช้ที่ดินให้เหมาะสม จัดทำระบบจัดการน้ำที่สอดรับกับภูมิประเทศและภูมิอากาศ พัฒนาการแจ้งเตือนภัยให้แม่นยำและทันเวลา

4. มิติปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ
หมุดหมายที่ 12 ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต โดยเพิ่มกำลังคนคุณภาพรองรับภาคการผลิตเป้าหมาย และพัฒนาระบบนิเวศเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต
หมุดหมายที่ 13 ไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน โดยเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของภาครัฐให้เป็นดิจิทัล และปรับโครงสร้างของภาครัฐให้ยืดหยุ่น

การขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
การขับเคลื่อนแผนฯ 13 สู่ความสำเร็จได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคีการพัฒนา ประกอบด้วย ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษาสถาบันวิจัย ประชาคมระหว่างประเทศ และประชาชนทุกคนร่วมดำเนินการ ดังนี้

ภาครัฐ ร่วมขับเคลื่อนแผนฯ 13 โดยใช้ 3 กลไกหลักคือ กลไกเชิงยุทธศาสตร์ โดยจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนฯ 13 จำนวน 5 ชุด เพื่อบูรณาการการขับเคลื่อนโดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนต่าง ๆ กลไกเชิงภารกิจ มุ่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติผ่านการถ่ายระดับจากแผนฯ 13 สู่แผนระดับที่ 3 เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ และกลไกระดับพื้นที่ ด้วยการเชื่อมโยงการพัฒนาจากชุมชนสู่ประเทศและจากประเทศสู่ชุมชน ผ่านการเชื่อมโยงกับแผนในระดับพื้นที่ และการขับเคลื่อนในระดับตำบล

ภาคีการพัฒนา ภาคเอกชน ร่วมขับเคลื่อนโดยการร่วมลงทุนในภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย สนับสนุนเงินทุน องค์ความรู้ และถ่ายทอดเทคโนโลยี ภาคประชาสังคม ร่วมขับเคลื่อนโดยการแสดงความเห็น แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมติดตามความก้าวหน้าและแจ้งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับแผนเสริมสร้างเครือข่ายขับเคลื่อนการพัฒนาในระดับพื้นที่ สถาบันการศึกษาสถาบันวิจัย ร่วมขับเคลื่อนโดยการผลิตและพัฒนากำลังคนที่สอดคล้องกับความต้องการ รวมถึงศึกษาและวิจัยเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนา สำหรับประชาคมระหว่างประเทศ ร่วมขับเคลื่อนโดยการส่งเสริมความร่วมมือทางเทคนิควิชาการ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างประเทศ

ประชาชน สามารถมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนแผนฯ 13 ได้ อาทิ เพิ่มพูนทักษะความรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องด้วยการเรียนรู้ตลอดชีวิต ปรับเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ผนึกกำลังในชุมชนพัฒนาวิสาหกิจชุมชน จัดการทรัพยากรร่วมกันและสร้างความพร้อมรับมือภัยพิบัติ ท่องเที่ยวในประเทศ วางแผนทางการเงินเพื่อเตรียมพร้อมวัยเกษียณ แสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะต่อการดำเนินงานต่าง ๆ ของภาครัฐ การอุดหนุนผู้ประกอบการรายย่อย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมคัดแยกขยะ และลดการใช้พลาสติก

หลังจากนั้น เป็นการเสวนาในหัวข้อ "พลิกโฉมประเทศไทย ก้าวไปด้วยกัน” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมอภิปราย ได้แก่ นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่ม บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป นายอรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการสวนสามพราน นายนที สิทธิประศาสน์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และกรรมการและเลขานุการสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. โดยมี ดร.วิทย์  สิทธิเวคิน เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย


สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
23 กันยายน 2565



สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์