สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเวทีระดมความคิดเห็น "ร่างแผนพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570)” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคีการพัฒนาทุกภาคส่วนในพื้นที่ ทั้งในด้านสถานการณ์ ปัญหา และแนวทางการพัฒนาแผนพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้ สศช. รับไปดำเนินการปรับปรุงแผนพัฒนาภาคฯ ให้มีความสมบูรณ์และสามารถตอบสนองความต้องการของพื้นที่ได้อย่างแท้จริง
เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2565 นายโสภณ แท่งเพ็ชร์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สศช. เป็นประธานการประชุมระดมความเห็น "ร่างแผนพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570)” ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด จังหวัดขอนแก่น โดยได้รับเกียรติจากรองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นางสาวธนียา นัยพินิจ กล่าวต้อนรับ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นายวันชัย จันทร์พร รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายสนอง ดลประสิทธิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด นายชาญชัย คงทัน รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นายสมเพชร สร้อยสระคู รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ผู้แทนส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจเอกชน และเครือข่ายภาคประชาสังคม ประมาณ 140 คน
(ร่าง) แผนพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบูรณาการนโยบายการพัฒนาภาค (ก.บ.ภ.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2564 มีเป้าหมายมุ่งพัฒนาเป็น "ศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” โดยทิศทางการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NE Direction) ให้ความสำคัญกับ "3 G” ได้แก่ (1) Growth : Good Local Economy (2) Green : Good Environment และ (3) Gate : Good Opportunity ประกอบด้วย 6 แนวทาง ดังนี้ (1) พัฒนาภาคเกษตรไปสู่เกษตรสมัยใหม่เพื่อต่อยอดไปสู่เศรษฐกิจชีวภาพ (2) บริหารจัดการน้ำให้เพียงพอเพื่อรองรับการพัฒนา (3) พัฒนาผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นไปสู่มาตรฐานสากลเพื่อสร้างเศรษฐกิจในชุมชน (4) พัฒนาเมือง เขตเศรษฐกิจพิเศษและเมืองชายแดน รวมทั้งพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC-Bioeconomy) ให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจหลักของภาค (5) พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวสำคัญและแหล่งท่องเที่ยวชุมชนให้ได้มาตรฐาน และ (6) ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ได้มาตรฐานและแก้ปัญหาความยากจนให้กับผู้มีรายได้น้อยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ครอบคลุมทั้งประเด็นด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการบริหารองค์กรภาครัฐ
ผลที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ สศช. จะนำความคิดเห็นไปประมวลและปรับปรุงร่างแผนพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้มีความครบถ้วนและสมบูรณ์ เพื่อนำเสนอคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ (ก.น.บ.) และคณะรัฐมนตรี พิจารณาอนุมัติ เพื่อให้ส่วนราชการ ภาคเอกชน องค์กร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องใช้เป็นเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่อไป
-------------------------
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
13 กันยายน 2565
|