สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเวทีระดมความคิดเห็นจากสาธารณชนและภาคีการพัฒนาทุกภาคส่วนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ต่อ "ร่างแผนพัฒนาภาคใต้ชายแดน ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570)” เพื่อร่วมปรับปรุงให้มีความสมบูรณ์ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2565 นายโสภณ แท่งเพ็ชร์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมระดมความเห็นต่อ "ร่างแผนพัฒนาภาคใต้ชายแดน ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570)” ณ โรงแรม ซี เอส ปัตตานี จังหวัดปัตตานี โดยมีผู้ร่วมประชุม ประกอบด้วย หน่วยราชการส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจเอกชน และเครือข่ายภาคประชาสังคม จากจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมประมาณ 100 คน
ที่ปรึกษาฯ กล่าวว่า สศช. อยู่ระหว่างการจัดทำ (ร่าง) แผนพัฒนาภาค ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) ทั้ง 6 ภาค เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาพื้นที่และเป็นกรอบในการจัดทำแผนงานโครงการของส่วนราชการ โดยมุ่งเน้นให้เกิดการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค บนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนสามารถรองรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้อย่างมั่นคง
ที่ผ่านมา (ร่าง) แผนพัฒนาภาคใต้ชายแดน ได้รับความเห็นชอบเบื้องต้นจากคณะกรรมการบูรณาการนโยบายการพัฒนาภาค (ก.บ.ภ.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2564 และ สศช. ได้ปรับปรุงข้อมูลและรายละเอียดให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเป้าหมายการพัฒนาภาคใต้ชายแดนมุ่งสู่ "ฐานเศรษฐกิจชายแดนที่มั่นคง บนสังคมพหุวัฒนธรรม”
การจัดประชุมระดมความเห็นร่างแผนพัฒนาภาคใต้ชายแดน มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับแผนพัฒนาภาคใต้ชายแดน ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ต่อสาธารณชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคีการพัฒนาทุกภาคส่วน รวมถึงเปิดโอกาสให้ภาคีการพัฒนาในระดับพื้นที่ร่วมกันแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ ปัญหา และแนวทางการพัฒนา รวมทั้งการพัฒนาที่สอดคล้องเชื่อมโยงระหว่างภาคและพื้นที่ เพื่อให้ทุกท่านได้มีส่วนร่วมในการปรับปรุงแผนพัฒนาภาคใต้ชายแดนให้สมบูรณ์และสามารถตอบสนองความต้องการของพื้นที่ได้อย่างแท้จริง
หลังจากนั้น ผศ.ดร.สุระพรรณ์ จุลสุวรรณ์ วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้นำเสนอ (ร่าง) แผนพัฒนาภาคใต้ชายแดน และรับฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุม โดยทิศทางการพัฒนาภาคใต้ชายแดน (SB Direction) ให้ความสำคัญกับ "PEACE” ประกอบด้วย
1. P: Para Rubber and Palm Product Development พัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและแปรรูปสินค้าหลักเป็นสินค้ามูลค่าสูงเพื่อการส่งออก โดยเฉพาะยางพาราและปาล์มน้ำมัน
2. E: Eco-tourism พัฒนาการท่องเที่ยวเมืองชายแดนและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม
3. A: Agero-based Industries พัฒนาสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชนที่เป็นอัตลักษณ์ให้เป็นสินค้ามูลค่าสูง
4. C: Calm ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนสู่สังคมสันติสุขภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม
5. E: Economic Linkage พัฒนาเมืองเศรษฐกิจชายแดนเพื่อสนับสนุนการค้าการลงทุนที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน
ในช่วงท้ายนางวีนัส นาคสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคใต้ สศช.ได้สรุปผลการประชุมระดมความคิดเห็นฯ และกล่าวปิดท้ายว่า สศช. จะนำความคิดเห็นที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้ไปประมวลและปรับปรุงร่างแผนพัฒนาภาคใต้ชายแดน ให้มีความครบถ้วนและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ (ก.น.บ.) และคณะรัฐมนตรี พิจารณาตามลำดับ และเผยแพร่ให้ส่วนราชการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
|