ข่าวสาร/กิจกรรม
|
การติดตามโครงการภายใต้แผนงานสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก เพื่อขับเคลื่อนแผนพัฒนาภาคสู่การปฏิบัติ ณ จังหวัดราชบุรีและปทุมธานี
วันที่ 22 ส.ค. 2565 (จำนวนผู้เข้าชม 9)
|
เมื่อวันที่ 16 - 17 สิงหาคม 2565 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วันชัย สุทธะนันท์ และ ดร.วัชรี สงวนศักดิ์โยธิน อนุกรรมการติดตามโครงการภายใต้แผนงานสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก ลงพื้นที่ติดตามโครงการภายใต้แผนงานสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก เพื่อขับเคลื่อนแผนพัฒนาภาคสู่การปฏิบัติจังหวัดราชบุรีและปทุมธานี พร้อมด้วย นางสาวจิตรลดา พิศาลสุพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนยุทธศาสตร์จังหวัด สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคกลาง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคกลาง สศช.
การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เพื่อประชุมหารือและรับฟังผลการดำเนินงานโครงการสำคัญเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในระดับพื้นที่ ได้แก่ (1) โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด กรณีแปลงใหญ่เห็ดนางฟ้า หมู่ที่ 11 ตำบลปากช่อง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี (2) โครงการกระตุ้นและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทยสู่สากล (CCPOT) กรณีชุมชนคุณธรรมวัดเจ็ดเสมียน (กระเป๋าจากกาบกล้วย แบรนด์ ตานี สยาม) วิสาหกิจชุมชนบ้านช่างสกุลบายศรี ตำบลเจ็ดเสมียน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี และ (3) โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ กรณีโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติของชุมชนบึงบา อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
ทั้งนี้ ในการลงพื้นที่ได้มีการรายงานผลการดำเนินงานซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของโครงการ และรับทราบปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น ตลอดจนมีการหารือแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อคิดเห็นร่วมกัน ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ เห็นว่าการดำเนินโครงการภายใต้แผนงานสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานรากมีความสำคัญในการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น ทั้งการช่วยลดต้นทุน การเพิ่มรายได้ และการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายและมีมาตรฐาน อย่างไรก็ดี การดำเนินโครงการยังต้องให้ความสำคัญในเรื่องการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบทั้งการผลิต การแปรรูป และการเพิ่มช่องทางการตลาดใหม่ๆ ตลอดจนการส่งเสริมความรู้ด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อให้เกษตรกรมีความคุ้นเคย สามารถนำมาใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
ข่าว/ภาพ : สายงานพัฒนาภาค สศช. |