ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ เข้าพบรองนายกรัฐมนตรี รายงานผลการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศฯ
วันที่ 5 ส.ค. 2565 (จำนวนผู้เข้าชม  75)
เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ นำโดย
นายภักดี  โพธิศิริ ประธานกรรมการฯ พร้อมทั้งคณะกรรมการ และเลขานุการ ได้แก่ นายมานะ นิมิตมงคล นายอุทิศ ขาวเธียร  นายวรวิทย์ สุขบุญ นายจักรธรรม ธรรมศักดิ์ และนางเสาวณีย์ แสงสุพรรณ ได้เข้าพบนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อรายงานผลการดำเนินการขับเคลื่อนกิจกรรมปฏิรูปประเทศ (Big Rock) ตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ฉบับปรับปรุง) โดยมีการนำเสนอกิจกรรม และกฎหมายภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศที่ดำเนินการแล้วเสร็จ กิจกรรมที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ และมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการผลักดันต่อ หลังสิ้นสุดวาระของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ รวมทั้งปัญหาอุปสรรคและแนวทางแก้ไข ในการขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศในระยะต่อไป 

ผลการขับเคลื่อนกิจกรรมปฏิรูปประเทศ (Big Rock) โดยสรุปมีดังนี้

กิจกรรมปฏิรูปที่ 1 การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริต (สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)) ในแนวทาง "เปลี่ยนประชาชนเป็นพลังพลเมือง” ด้วยการสนับสนุนให้เครือข่ายภาคประชาชน องค์กรชุมชน มีบทบาทสำคัญและสามารถเฝ้าระวัง ป้องกัน และต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบที่ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่โดยตรง โดยในปี 2564 ดำเนินงานใน 5 จังหวัด 25 ตำบล/เทศบาลนำร่อง เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายภาคประชาชน องค์กรชุมชน เป็นกลไกสร้างชุมชนสังคมสุจริตและต่อต้านการทุจริตในพื้นที่ และในปี 2565 ขยายผลการดำเนินงานใน 17 จังหวัด 171 ตำบล/เทศบาล จัดตั้งคณะทำงานภาคประชาชน (ผู้ก่อการดี) ทุกพื้นที่ 

กิจกรรมปฏิรูปที่ 2 การพัฒนาการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและระบบคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสการทุจริตที่มีประสิทธิภาพ (สำนักงาน ป.ป.ช.) โดยผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐเปิดเผยข้อมูลอย่างครบถ้วนบนระบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อประชาชนและสื่อมวลชนสามารถเข้าดูและตรวจสอบได้ง่ายทางอินเตอร์เน็ต และบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองพยานและผู้แจ้งเบาะแส รวมถึงการให้ค่าตอบแทนและชดเชยค่าใช้จ่ายให้กับผู้แจ้งเบาะแส ให้มีผลทางปฏิบัติอย่างจริงจัง รวมทั้งพัฒนาระบบเปิดเผยเรื่องร้องเรียนและคดี (เรื่องที่อยู่ระหว่างไต่สวน) และพัฒนาระบบติดตามการดำเนินงานเรื่องร้องเรียนและคดี ซึ่งดำเนินการพัฒนาระบบแล้วเสร็จพร้อมเปิดใช้งาน

กิจกรรมปฏิรูปที่ 3 การพัฒนากระบวนการยุติธรรมที่รวดเร็ว โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ ในการดำเนินคดีทุจริตทั้งภาครัฐและภาคเอกชน (สำนักงาน ป.ป.ช.) โดยประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้ประชาชนรับรู้ถึงขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม สร้างการมีส่วนร่วมให้มากขึ้น และสนับสนุนให้มีการใช้มาตรการลงโทษทางสังคม (Social Sanction) ผ่านการเผยแพร่ข้อมูลขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาชนตั้งแต่กระบวนการออกกฎหมายทุกระดับ ตลอดจนเฝ้าระวังการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงสำรวจความเห็น โดยในปี 2564 พบว่าประชาชนมีความพึงพอใจต่อการดำเนินงานของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม เฉลี่ยอยู่ที่ 3.86 คะแนน ความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมในการปราบปรามการทุจริตโดยรวม เฉลี่ยอยู่ที่ 3.87 คะแนน จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน 

กิจกรรมปฏิรูปที่ 4 การพัฒนาระบบราชการไทยให้โปร่งใส ไร้ผลประโยชน์ (สำนักงาน ป.ป.ท.) ในปี 2564 มีหน่วยงานประกาศตนเป็นหน่วยงานเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนไม่รับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่ (No Gift Policy) จำนวนทั้งสิ้น 8,303 หน่วยงานทั่วประเทศ รวมทั้งได้ขับเคลื่อนนโยบาย No Gift Policy ให้ปรากฏในการประเมิน ITA ปี 2565 เป็นต้นไป

กิจกรรมปฏิรูปที่ 5 การพัฒนามาตรการสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบายในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ (สำนักงาน ป.ป.ท.) โดยจัดทำคู่มือ "การประเมินความตามเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงการทุจริตเชิงนโยบายในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่” เสนอต่อศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) และคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เพื่อบังคับใช้ต่อหน่วยงานที่ขอรับงบประมาณ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2564  และตรวจ ติดตามประเมินผล และการจัดทำรายงานสรุปผล สำนักงาน ป.ป.ท. ร่วมกับหน่วยงานตรวจสอบ (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ (ค.ต.ป.) ตรวจสอบภายในหน่วยงาน) 

สำหรับประเด็นกฎหมายตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ฉบับปรับปรุง) จากการขับเคลื่อนและผลักดันประเด็นกฎหมายตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ฉบับปรับปรุง) มีจำนวนทั้งสิ้น 10 ฉบับ ซึ่งสรุปผลการดำเนินการหลังสิ้นสุดแผนการปฏิรูปประเทศได้ ดังนี้ 

กฎหมายแล้วเสร็จจำนวน ๓ ฉบับ ได้แก่ (1) การปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐและรางวัลจากการแจ้งเบาะแส (2) การจัดทำกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดความผิดของนิติบุคคล และผู้ร่วมกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตและประพฤติมิชอบ และ (3) การปรับปรุงกฎหมายของสำนักงาน ป.ป.ท. โดยให้นำเรื่อง การส่งเสริมการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ 

กฎหมายที่ต้องดำเนินการผลักดันต่อหลังจากปี 2565 จำนวน 6 ฉบับ ได้แก่ (1) การแก้ไขพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการพ.ศ. 2540 ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 59 และมาตรา 253 (2) การเร่งรัดการจัดทำพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อหัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐที่ตนสังกัดหรือปฏิบัติงานอยู่ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการตรวจสอบการร่ำรวยผิดปกติ (3) การจัดทำกฎหมายว่าด้วยการบริหารงานบุคคลในระบบคุณธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 76 วรรคสอง ให้มีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่และพนักงานของรัฐด้วยระบบคุณธรรม (4) การปรับปรุงระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการให้หรือรับของขวัญของเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐ (5) การเร่งรัดการจัดทำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับ การขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. …. และ (6) การปรับปรุงพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558

ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนต่อไปในอนาคตจะต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินกิจกรรมภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศไปอย่างต่อเนื่อง โดยควรเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติให้พิจารณานำประเด็นการปฏิรูปประเทศที่ยังควรดำเนินการเข้าบรรจุในแผนแม่บทฯ ต่อไป และควรให้ความสำคัญกับบทบาทของภาคประชาสังคมในการเข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ

ภาพ : เมฐติญา วงษ์ภักดี
ข่าว : จักรพันธ์ ชัยสิทธิ์

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์