ข่าวสาร/กิจกรรม
|
สศช. ร่วมงานเสวนา Robotics & Automation Symposium 2022
วันที่ 27 มิ.ย. 2565 (จำนวนผู้เข้าชม 11)
|
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 นายวิโรจน์ นรารักษ์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้บรรยายพิเศษ เรื่อง "การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในมิติของการพัฒนาธุรกิจ SMEs ไทยสู่การผลิตสมัยใหม่ 4.0” และร่วมเสวนา หัวข้อ "ทิศทางการขับเคลื่อน SMEs ไทย สู่การผลิตสมัยใหม่ 4.0" ในงานเสวนา Robotics & Automation Symposium 2022 จัดโดย สถาบันไทย-เยอรมัน และบริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด ณ ห้องประชุมแกรนด์ฮอลล์ 203 ชั้น 2 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค โดยมี นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (CoRE) เป็นประธานเปิดงาน
ทั้งนี้ มีผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมให้แนวทางแลกเปลี่ยนความรู้ อาทิ นายดุสิต อนันตรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการชี้นำและเตือนภัยภาคอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นางสาวอุษณีย์ ถิ่นเกาะแก้ว นักวิชาการส่งเสริมการลงทุนชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ดร.ประพิณ อภินรเศรษฐ์ ผู้แทน บริษัท ยาวาต้า (ประเทศไทย) จำกัด คุณธงชัย สุธาประดิษฐ์ Factory Manager บริษัท ไทยยางกิจไพศาล จำกัด
นายวิโรจน์ นรารักษ์ รองเลขาธิการฯ กล่าวว่า สศช. มีแนวทางการพัฒนาธุรกิจ SMEs ไทยสู่การผลิตสมัยใหม่ 4.0 ผ่านแผนการพัฒนาธุรกิจ SMEs ทั้ง 3 ระดับ ได้แก่ แผนระดับที่ 1 ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) ในยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน แผนระดับที่ 2 ประกอบด้วย แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 8 ผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยุคใหม่ แผนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ (ฉบับปรับปรุง) กิจกรรมปฏิรูปที่ 3 การเพิ่มโอกาสของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กในอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมาย และ (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 7 ไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง และสามารถแข่งขันได้ และแผนระดับที่ 3 แผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ฉบับที่ 5 ปี 2566-2570 โดยมีประเด็นที่ควรเร่งดำเนินการสู่ SMEs 4.0 ได้แก่ (1) ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ เพื่อรับสิทธิประโยชน์ และเพื่อให้ภาครัฐมีฐานข้อมูลที่เหมาะสมนำไปสู่การกำหนดนโยบายสนับสนุน SMEs ที่มีประสิทธิภาพ (2) ยกระดับความรู้ของผู้ประกอบการ และแรงงานในเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรม การพาณิชย์ และการเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้สามารถเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม สามารถเข้าถึงแหล่งทุนและตลาดได้มากขึ้น นอกจากนั้น ยังอาจพิจารณาใช้ Third party ในการประเมินและให้คำแนะนำในการยกระดับองค์กรได้ อาทิ Thailand i4.0 Index และ (3) พิจารณานำเอาเทคโนโลยี 4.0 ที่เหมาะสมกับธุรกิจมาใช้ในการยกระดับประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งสร้างความหลากหลายและเพิ่มมูลค่าของสินค้า
ต่อมาในช่วงของการเสวนาพิเศษ หัวข้อ "ทิศทางการขับเคลื่อน SMEs ไทย สู่การผลิตสมัยใหม่ 4.0" รองเลขาธิการฯ กล่าวว่า แผนพัฒนาฯ ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับระดับการพัฒนาภาคการผลิตของอุตสาหกรรมเรื่อยมา นับตั้งแต่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1 ซึ่งเป็นอุตสาหกรรม 1.0 (เกษตรและหัตถกรรม) จนถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ได้มุ่งเน้นอุตสาหกรรม 4.0 (นวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ) ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 – 2580 โดยแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 – 15 มีเป้าหมายให้ GDP ขยายตัวร้อยละ 5 – 6 และมุ่งสู่ประเทศรายได้สูง ตามหลัก 3 ประการ คือ "ต่อยอดอดีต ปรับปัจจุบัน สร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต” ผ่านแนวทางการพัฒนาที่สำคัญ อาทิ ส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีบทบาทหลักด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี ยกระดับความสามารถของผู้ผลิต ผู้พัฒนา และผู้ออกแบบและสร้างระบบของไทย ผลิตและพัฒนาบุคลากรทั้งทางด้านผู้ใช้ ผู้ผลิต และผู้ให้บริการ ในภาคส่วนต่าง ๆ สร้างความตระหนักรู้และสนับสนุนการลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ เร่งรัดการถ่ายทอดผลงานวิจัยและพัฒนา และเทคโนโลยีสู่เกษตรกรรายย่อย วิสาหกิจชุมชน และ SMEs สร้างโอกาสและขยายช่องทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ สนับสนุนเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ และหลากหลายเพื่อเป็นกลไกระดมทุนที่ช่วยกระตุ้นการสร้างสรรค์นวัตกรรม และผลักดันผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ และที่สำคัญแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ได้มีการกำหนดแนวทางการพัฒนา โดยเน้นการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรม พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัด เพื่อผลักดันงบประมาณให้สอดคล้องกับแผนงานการยกระดับการผลิต SMEs ไทย เข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยให้ความสำคัญกับประเด็นการพัฒนาที่ต้องเร่งดำเนินการ เพื่อให้บรรลุ 13 หมุดหมายตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 และโครงการสำคัญประจำปี 2566 ที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ จำนวน 406 โครงการ (มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564) โดยมีงบประมาณในขับเคลื่อนเพื่อยกระดับการผลิต SMEs สู่อุตสาหกรรม 4.0 ในเบื้องต้นประมาณ 101,543 ล้านบาท
ข่าว : กองยุทธศาสตร์และประสานการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน
ภาพ : สถาบันไทย-เยอรมัน
|