ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
เลขาธิการ สศช. ปาฐกถาพิเศษ “สู่โอกาสใหม่ Stronger Thailand” ในงานสัมมนาสู่โอกาสใหม่ Stronger Thailand
วันที่ 23 มิ.ย. 2565 (จำนวนผู้เข้าชม  64)
เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "สู่โอกาสใหม่ Stronger Thailand” ในงานสัมมนา สู่โอกาสใหม่ Stronger Thailand จัดโดย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ณ ห้องอินฟินิตี้ 1-2 โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ รางน้ำ พร้อมทั้งไลฟ์สตรีมมิ่ง ผ่านเฟซบุ๊กในเครือข่าย มติชน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ และยูทูบมติชนทีวี โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภาครัฐและเอกชนมาร่วมให้แนวทางแลกเปลี่ยนความรู้ อาทิ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทแสนสิริ จำกัด (มหาชน) 

การเสวนาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความรู้ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งจะเป็นแนวทางที่จะนำไปสู่โอกาสใหม่ของประเทศที่เข้มแข็งและแข็งแรงกว่าเดิม เนื่องจากที่ผ่านมาได้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 จนถึงปัจจุบันที่ค่อยๆ คลี่คลายลง และมาถึงจุดที่ทั่วโลกเห็นว่า สามารถควบคุมได้และสิ่งที่ตามมาคือกระแสระดับนานาชาติ ของการเตรียมฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังจากที่รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการต่อสู้กับการแพร่ระบาดครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. กล่าวว่าภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทย มีความไม่ปกติมากขึ้น ที่ผ่านมาเราได้มีการทำงานด้วยการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาหลักๆ 3 เรื่อง คือ (1) การรักษาชีวิตของประชาชน โดยการจัดงบประมาณในการรักษาพยาบาลและจัดหาวัคซีนเพื่อควบคุมสถานการณ์ แต่เกิดปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ปะทุขึ้นมาเป็นระยะ ๆ (2) การเยียวยาประชาชนและการช่วยเหลือกลุ่มคนที่ทำอาชีพอิสระที่ไม่ได้เข้าระบบประกันสังคม ได้สมัครใจเข้าระบบประกันสังคมมากขึ้น ซึ่งการเข้าระบบฐานข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ ในอนาคต (3) การกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่กลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีจำกัดเหลือเพียงการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศและการส่งออก แต่เมื่อวิกฤตโควิด-19 เริ่มคลี่คลายได้เกิดสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

การประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2565 สศช. ได้มีการประมาณการว่าจะมีการขยายตัวได้ 2.5-3.5% หรือมีค่ากลางอยู่ที่ 3% โดยจากการหารือกับหน่วยงานเศรษฐกิจต่าง ๆ ได้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลังยังเห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวเติบโตขึ้นได้ 3% ขณะเดียวกันภาคการท่องเที่ยวที่ไทยมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเพิ่ม ซึ่งเริ่มจากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์และคาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยประมาณ 7-10 ล้านคน

การสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่เกิดขึ้น มีปัจจัยบวกในแง่การส่งออกอาหาร แต่ก็มีด้านลบด้วย กล่าวคือเศรษฐกิจภายในประเทศยังคงขับเคลื่อนได้ค่อนข้างดี การลงทุนยังไปได้ ปัญหาเงินเฟ้อและราคาพลังงานส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่เราควบคุมไม่ได้แต่จำเป็นต้องมีมาตรการออกมาดูแลอย่างต่อเนื่อง 

จากปัญหาที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้และระยะข้างหน้า โลกจะมีปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น มีความเสี่ยงที่คาดการณ์ได้ยากขึ้น แนวโน้มในแง่การเกิดขึ้นของนวัตกรรมใหม่ที่เปลี่ยนรูปแบบ วิธีการ รวมถึงพฤติกรรมของคนในสังคมใดสังคมหนึ่งไปอย่างฉับพลัน (Digital Disruption) และสังคมสูงวัย เรายังคงเผชิญอยู่ แต่ในแง่ความเสี่ยงในเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) เป็นเรื่องที่ไทยต้องเตรียมพร้อมรองรับ การแบ่งขั้วอำนาจของโลกจะมีมากขึ้น เราต้องวางตำแหน่งของไทยในการประสานกับทุกประเทศให้ได้โดยไม่ขัดแย้งกับใคร ต้องสมดุลให้ดี ซึ่งรัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกำลังร่วมมือกันดำเนินการอยู่ 

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2566 สศช.คาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 3.7% ซึ่งถือว่าเป็นการคาดการณ์ที่ต่ำกว่าสำนักเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่มองว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เฉลี่ย 4.3 – 4.5% เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมาจากการที่ต้องรอภาคการท่องเที่ยวค่อย ๆ ฟื้นตัว 

เลขาธิการ สศช. กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลได้ออกมาตรการเพื่อช่วยบรรเทาภาระประชาชนบ้างแล้วและได้ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา โดยรัฐจะจัดสรรงบประมาณมาช่วยเหลือประชาชน เช่น กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงด้านการช่วยเหลือค่าแก๊ส LPG กับภาคครัวเรือน การอุดหนุนราคาน้ำมันเพื่อให้ราคาไม่สูงเกินไป ทั้งนี้ในส่วนของราคาน้ำมันหากเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกันแล้ว ราคาน้ำมันของไทยยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ เช่น สิงคโปร์ น้ำมันดีเซลราคาลิตรละ 65 บาท เพราะใช้ราคาน้ำมันตามกลไกตลาด เป็นต้น การที่รัฐออกมาตรการด้านพลังงานมาเพื่อช่วยลดต้นทุนให้กับทุกภาคส่วนทำให้ได้รับผลกระทบน้อยลง โดยมีผู้ดูแลหลักคือกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ปัจจุบันภาระที่เกิดขึ้นกองทุนน้ำมันติดลบกว่า 9 หมื่นล้านบาท และคาดว่าสิ้นเดือนมิถุนายน 2565 อาจติดลบถึง 1 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ได้หารือกับหลายหน่วยงานเพื่อหารือแนวทางการบริหารจัดการราคาพลังงานภายในประเทศให้ดีที่สุด และขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันปรับตัวโดยช่วยใช้พลังงานอย่างประหยัด

สำหรับสถานการณ์ภาพรวม ภาคธุรกิจของไทยมีเงินให้กู้ยืมเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจมากขึ้น โดยสินเชื่อภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องทั้งสินเชื่อภาคธุรกิจ และภาคครัวเรือน และสินเชื่อแก่ธุรกิจเอสเอ็มอีที่ขยายตัวนับตั้งแต่มีการระบาดโควิด ส่วนหนี้สินภาคธุรกิจที่เป็นหนี้ที่ไม่เกิดรายได้ในภาพรวมยังทรงตัว และยังไม่เพิ่มขึ้นมากนัก จึงสะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์เริ่มปรับตัวดีขึ้น แม้ในความรู้สึกอาจคิดว่าเศรษฐกิจยังไม่ปรับตัวมากนัก เพราะเศรษฐกิจค่อย ๆ ขยายตัวในภาพใหญ่มากขึ้น

ในช่วงท้ายของการกล่าวปาฐกถาพิเศษ เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า สถานการณ์ในปี 2566 อาจเกิดปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ ด้านการเมืองมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยต้องยืนอยู่ในจุดที่ได้ประโยชน์มากที่สุด โดยต้องปรับตัวให้ได้ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งไทยจะอยู่แบบเดิมไม่ได้ ต้องปรับตัวรอบด้าน มีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ ปรับฐานการผลิต มีการสร้างจุดขายใหม่ ๆ มากขึ้น ต้องยืนอยู่ได้ด้วยฐานของตัวเอง ดังนั้นทิศทางที่ได้มีการหารือร่วมกันและคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว ได้ถูกวางไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 กำหนด 13 จุดมุ่งหมาย ซึ่งแผนนี้จะแตกต่างจากแผนอื่น ๆ โดยเจาะจงในเรื่องที่เราจะต้องทำให้เสร็จ เช่น เรื่องการส่งเสริมวิจัยและนวัตกรรมในการช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าแปรรูปในภาคการเกษตร ซึ่งไม่ใช่แค่แปรรูปสินค้าจากข้าวธรรมดาเป็นข้าวหลาม หรือจากผลไม้เป็นผลไม้อบแห้ง แต่อาจจะเป็นการแปรรูปสารสกัดจากสมุนไพรเปลี่ยนให้เป็นยารักษาโรค ทำให้มีมูลค่าสูงขึ้น เรื่องของยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะต้องมีการปรับฐานการผลิต เรื่องของการส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งจะต้องมีการดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพให้อยู่นาน เป็นต้น 

ช่วงที่ผ่านมาแผนดังกล่าวยังไม่ได้มีการบังคับใช้แต่ได้มีการเตรียมความพร้อมและวางแผนไว้แล้วเพื่อเพิ่มโอกาสภาคธุรกิจ อาทิ การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 4 ภาคของประเทศ ตัวแรกที่จะออกมาก่อนคือระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นการลงทุนเกี่ยวกับอุตสาหกรรมชีวภาพ ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงการลงทุนกับต่างประเทศผ่านเส้นทางรถไฟที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 

เลขาธิการ สศช. ได้กล่าวในตอนท้ายว่า "ขณะนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ทุกคนต้องลดความขัดแย้งเพื่อหันมาช่วยกันพาประเทศให้ก่าวหน้าต่อไป เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างแข็งแรงและมั่นคงในอนาคต” ชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่สำคัญที่สุดคือภายในประเทศไทยจะต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนประเทศไทยไปด้วยกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน เพราะรัฐบาลไม่สามารถขับเคลื่อนงานไปได้เพียงลำพัง

ข่าว : ณัฐพร ก๊อใจ
ภาพ : มติชนออนไลน์

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์