ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
สศช. จัดโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การเตรียมพร้อมขับเคลื่อนแผนฯ 13 สู่การปฏิบัติ หมุดหมายที่ 8 ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน  
วันที่ 17 มิ.ย. 2565 (จำนวนผู้เข้าชม  109)
สศช. จัดโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สศช. (NESDC KM: Knowledge Sharing Session) การเตรียมพร้อมขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๓ (พ.ศ. ๒๕๖๖-๒๕๗๐) สู่การปฏิบัติหมุดหมายที่ ๘ ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน 

เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๕ และวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๖๕ นายโสภณ แท่งเพ็ชร์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานและกล่าวเปิดการอบรมโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สศช. (NESDC KM: Knowledge Sharing Session) การเตรียมพร้อมขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๓ (พ.ศ. ๒๕๖๖-๒๕๗๐) สู่การปฏิบัติ หมุดหมายที่ ๘ ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน ณ ห้องประชุม ๕๑๑ สศช. โดยมีวิทยากร ๒ ท่าน ได้แก่ ผศ. ดร. ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย และ ผศ. ดร. ณัฐวุฒิ อัศวโกวิทวงศ์  และมีผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จำนวน ๒๕ คน

โครงการฯ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และประสบการณ์ ที่เกี่ยวกับแนวคิดและแนวทางการพัฒนาที่สำคัญภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๓ โดยเฉพาะหมุดหมายที่ ๘ มีเป้าหมายหลักประการหนึ่ง คือการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน มีความพร้อมในการรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทุกรูปแบบ เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างทั่วถึง

ผศ. ดร. ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย  อาจารย์ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอหัวข้อการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน และ มาตรการควบคุมเขตพื้นที่ซ้อนทับ ดังนี้

๑) การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit Oriented Development: TOD) เป็นแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่เมือง บริเวณจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจร (สถานี) เพื่อส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชนและลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล และเพื่อสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของระบบขนส่งมวลชนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งเพื่อพัฒนาพื้นที่สาธารณะที่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน โดยมีองค์ประกอบสำคัญ ๔ ด้าน ได้แก่ (๑) การควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน (๒) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เข้าถึงพื้นที่สถานีโดยสะดวก (๓) การพัฒนาอาคารและสิ่งปลูกสร้างแบบผสมผสาน (Mixed Use) และ (๔) การให้บริการสาธารณะด้านต่าง ๆ เช่น ธนาคาร โรงพยาบาล 

๒) มาตรการควบคุมเขตพื้นที่ซ้อนทับ (Overlay Zoning) หมายถึงการควบคุมเพิ่มเติมจากการควบคุมปกติตามกฎหมายทางผังเมืองและการควบคุมอาคาร โดยกำหนดมาตรการควบคุมตามวัตถุประสงค์ เช่น การสร้างคุณค่าให้กับพื้นที่เมือง โดยรักษาลักษณะเฉพาะที่มีคุณค่าด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ  การกำหนดเขตบริเวณใกล้เคียงสนามบินเป็นเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ โดยห้ามมิให้ก่อสร้าง แก้ไข เปลี่ยนแปลงอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงาน เป็นต้น

ผศ. ดร. ณัฐวุฒิ อัศวโกวิทวงศ์  ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยบูรณาการภาพพื้นที่และเมือง มหาวิทยาลัยศรีปทุม นำเสนอหัวข้อ การพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยในเมือง (Low Income Housing Development) ดังนี้  (๑) ผู้มีรายได้น้อยในเมือง  เป็นผลมาจากการเติบโตของเมืองขนาดใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีแหล่งงานและโอกาสทางเศรษฐกิจสูง จึงดึงดูดแรงงานจากต่างจังหวัดเข้าสู่เมืองเพื่อประกอบอาชีพ ทั้งแบบชั่วคราวและถาวร ก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยในราคาที่แรงงานเหล่านี้สามารถจ่ายได้ (๒) สถานการณ์ด้านที่อยู่อาศัย  เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่ที่อพยพเข้าสู่เมืองมักจะได้รับค่าตอบแทนน้อยเพราะมีทักษะต่ำ เช่น ก่อสร้าง ขับรถบริการสาธารณะ เป็นต้น ในขณะที่ ราคาหรือค่าเช่าของที่อยู่อาศัยในเมืองเพิ่มสูงขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัว ส่งผลให้แรงงานผู้มีรายได้น้อยบางส่วนตั้งถิ่นฐานในพื้นที่สาธารณะอยู่ในสภาพที่ไม่ถูกสุขลักษณะหรือเป็นชุมชนแออัด เช่น บริเวณโดยรอบท่าเรือคลองเตยและพื้นที่ข้างทางรถไฟ ซึ่งเป็นพื้นที่ของหน่วยงานรัฐ  (๓) แนวทางแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยในเมือง ปัจจุบัน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ดำเนินโครงการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย เช่น การเคหะแห่งชาติ จัดทำโครงการบ้านเอื้ออาทร และบ้านเคหะสุขประชา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จัดทำโครงการบ้านมั่นคง  อย่างไรก็ดี การดำเนินงานดังกล่าวยังขาดประสิทธิผลและประสิทธิภาพค่อนข้างมาก เพราะช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยได้เพียงส่วนน้อย และรูปแบบการจัดทำโครงการไม่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงสถานภาพของผู้มีรายได้น้อย จึงควรมีนโยบายปรับปรุงกลไกที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาดังกล่าวที่มีอยู่ในปัจจุบัน และอาจรวมถึงการปรับเปลี่ยน (Reform) บทบาทของหน่วยงานรัฐ ทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นให้ตอบสนองต่อการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยในเมืองได้อย่างเป็นระบบครบวงจรและมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

ข่าว : กองยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง
ภาพ : จักรพงศ์ สวภาพมงคล

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์