ข่าวสาร/กิจกรรม
|
สศช. เข้าศึกษาดูงานสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนเตรียมความพร้อม “โครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่แห่งใหม่”
(จำนวนผู้เข้าชม 52)
|
เมื่อวันที่ 9 – 10 มิถุนายน 2565 นายวิโรจน์ นรารักษ์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมด้วยนางสาวศศิธร พลัตถเดช รักษาการที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน และคณะเจ้าหน้าที่ เดินทางไปศึกษาดูงาน ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จังหวัดนครราชสีมา เพื่อเยี่ยมชมเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนและห้องปฏิบัติงานต่างๆ พร้อมทั้งรับทราบแนวคิดการบริหารจัดการและความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมเสนอ "โครงการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน 3 GeV และห้องปฏิบัติการ" ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมเสนอให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณา โดยมีนายสำเริง ด้วงนิล รองผู้อำนวยการสถาบันฯ เจ้าหน้าที่ และนักวิจัย เข้าร่วมให้ความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างการเยี่ยมชม
เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องปัจจุบันตั้งอยู่ภายในสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน อาศัยพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา โดยเครื่องกำเนิดแสงระดับพลังงาน 1.2 GeV มูลค่ากว่า 8,000 ล้านบาท ได้ให้บริการมาตั้งแต่ปี 2546 หรือกว่า 20 ปี นับตั้งแต่ได้รับบริจาคมาจากประเทศญี่ปุ่น ทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากเครื่องจักรทางวิทยาศาสตร์ทั้งทางตรงและทางอ้อมในหลายด้าน อาทิ ผู้ประกอบการเข้าถึงการใช้ลำแสงวิเคราะห์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าสูง เกิดองค์ความรู้และผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องภายในประเทศจากการปรับปรุงเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เกิดการพัฒนาบุคลากรวิทยาศาสตร์ที่มีความรู้เฉพาะขึ้นภายในประเทศทั้งจากภายในหน่วยงานและสถาบันการศึกษาที่เข้าใช้บริการ และได้สร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นมากมาย
อย่างไรก็ดีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนดังกล่าวคาดว่าจะสามารถให้บริการได้อีกน้อยกว่า 10 ปี ทำให้มีความจำเป็นต้องสร้างเครื่องกำเนิดแสงใหม่ทดแทนเครื่องเก่าขึ้นล่วงหน้า เพื่อให้การบริการและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์สามารถดำเนินได้อย่างต่อเนื่องโดยได้รับผลกระทบจากอุปสรรคที่เกี่ยวข้องน้อยที่สุด เช่น ระยะเวลาก่อสร้าง การพัฒนาบุคลากรรองรับ และองค์ความรู้ในการใช้งานให้เกิดประสิทธิภาพ ผู้บริหารสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า "เครื่องกำเนิดแสงระดับพลังงาน 3 GeV ตามโครงการใหม่นี้ มีระดับพลังงานที่มีความเหมาะสมและเพียงพอต่อการใช้งานภายในประเทศไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต" ข้อเสนอโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างปรับปรุงเนื้อหาด้านแหล่งเงินลงทุนให้มีความเหมาะสมก่อนเสนออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี อนึ่ง ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในครั้งนี้จะสร้างความท้าทายในหลายมิติให้แก่สถาบันฯ ซึ่งมีความจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องต่อไป
ข่าว/ภาพ : กองยุทธศาสตร์และประสานการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน (กพข.)
|