ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
เลขาธิการ สศช. ร่วมเสวนา "ถามมา - ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม"   
วันที่ 19 พ.ค. 2565 (จำนวนผู้เข้าชม  61)
เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดและแสดงปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "อดีต ปัจจุบัน อนาคต ของประเทศไทยที่ดีขึ้นกว่าเดิม” ในงานเสวนา "Better Thailand : ถามมา – ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ห้างสรรพสินค้าสยาม พารากอน จัดโดยสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬากรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมนิสิตเก่าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีแห่งจุฬากรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมเศรษฐศาสตร์ จุฬากรณ์มหาวิทยาลัย และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน 

ในโอกาสนี้ นายดนุชา  พิชยนันท์  เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมเสวนาหัวข้อ "มองเศรษฐกิจโลก สะท้อนเศรษฐกิจไทย” โดยกล่าวว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤตจากโควิด เนื่องจากเป็นวิกฤตโรคระบาดทำให้มีความเสี่ยงและมีความไม่แน่นอนสูง รัฐบาลและหน่วยงานทางด้านเศรษฐกิจได้มีมาตรการต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือ โดยช่วงแรกมีมาตรการทางการเงินและการคลังมาช่วยประคับประคองเศรษฐกิจผ่านโครงการ "เราไม่ทิ้งกัน” ช่วยผู้ที่ขาดรายได้จากการล็อคดาวน์ และมาตรการด้านการเงินผ่านธนาคารของรัฐสนับสนุนวงเงินกู้สำหรับผู้ประกอบรายย่อยให้มีเงินทุน ในขณะเดียวกันได้มีมาตรการด้านสาธารรณสุขเพื่อช่วยชีวิตของประชาชนควบคู่ไปด้วย 

จากนั้นรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อใช้ในการเยียวยาด้านสาธารณสุขและเม็ดเงินลงไปในพื้นที่ต่างจังหวัดเพื่อสร้างงานสร้างรายได้ และเมื่อสามารถคุมการระบาดโควิดได้ระดับหนึ่งได้มีมาตรการกระตุ้นการบริโภคผ่านโครงการ "เราเที่ยวด้วยกัน” เพื่อช่วยภาคท่องเที่ยว และ "คนละครึ่ง” เฟสแรก เพื่อช่วยลดค่าครองชีพและกระตุ้นการบริโภค ต่อมาในช่วง 10 วันสุดท้ายก่อนสิ้นปี 2563 ได้มีการระบาดอย่างรุนแรงที่จังหวัดสมุทรสาคร จึงต้องอัดเม็ดเงินลงไปอีกผ่านโครงการ "เราชนะ” และ "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ด้วย และในช่วงโควิดสายพันธุ์เดลต้าระบาดหนักได้มีการจัดสรรเงินไปซื้อวัคซีนเพื่อรักษาชีวิตคน ซึ่งต้องใช้เงินไปค่อนข้างมากพอสมควร 

ตลอดระยะเวลาที่เกิดการแพร่ระบาด รัฐได้ดำเนินการแก้วิกฤติโดยเริ่มจากการประคับประคองเศรษฐกิจให้เดินไปได้ ขณะเดียวกันได้พยายามป้องกันและรักษาชีวิตประชาชน พร้อมทั้งอัดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการบริโภคและการลงทุนให้เกิดการจ้างงานในช่วงเวลาที่เหมาะสม สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการดำเนินมาตรการต่าง ๆ คือ ประชาชนเริ่มคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น สามารถดึงแรงงานและธุรกิจที่เคยอยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบผ่านมาตรการที่ช่วยเหลือผ่านระบบประกันสังคม เพิ่มจากเดิม 3 ล้านคนเป็น 11 ล้านคน

เลขาธิการ สศช. กล่าวด้วยว่า จากวิกฤตโควิดทำให้เศรษฐกิจไทยโตช้า และเริ่มเห็นชัดว่าโครงสร้างเศรษฐกิจยังไม่มีภูมิคุ้มกันและภูมิต้านทานที่เพียงพอ เพราะกว่า 10 ปีที่ผ่านมาพึ่งพาภาคบริการและนักท่องเที่ยวค่อนข้างมาก ส่วนภาคการผลิตยังอยู่แบบเดิม จากวิกฤต 2 ปี และสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เกิดขึ้น เห็นชัดว่าไทยต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอีกครั้งหลังปรับไปในช่วง Eastern Seaboard ซึ่งแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 จะไม่เหมือนแผนอื่นเพราะได้กำหนดเรื่องที่ต้องทำให้ได้ใน 5 ปีข้างหน้าอย่างชัดเจน เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจมีมูลค่าสูง โดยใช้การวิจัยและนวัตกรรมนำการพัฒนา และจะดำเนินการใน 4 มิติ คือ (1) ปรับโครงสร้างภาคการผลิตและบริการ เช่น การแปลงสมุนไพรเป็นสารสกัดที่มีมูลค่ามากขึ้น การปรับอุตสาหกรรมรถยนต์ไปสู่รถยนต์ยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อเชื่อมไปสู่อุตสาหกรรมสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมดิจิทัลที่จะเกิดขึ้นตามมา (2) ลดความเหลื่อมล้ำของคนและกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค ซึ่ง SMEs หรือวิสาหกิจชุมชนต้องเชื่อมโยงกับบริษัทขนาดใหญ่ สร้างห่วงโซ่อุปทาน หรือ Supply Chain ขึ้นมาให้อยู่ร่วมกันได้ และกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคให้เป็นแหล่งงาน รายได้ มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะกระจายไปพื้นที่รอบ ๆ เพื่อไม่ให้คนต้องย้ายถิ่นฐานไปเมืองใหญ่ (3) ดูแลจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการน้ำ โดยนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) เข้ามาในชุมชนและวิสาหกิจชุมชน และ (4) ปรับระบบการบริหารจัดการของภาครัฐ นำระบบดิจิทัลมาใช้มากขึ้น

เลขาธิการ สศช. กล่าวปิดท้ายว่า เมื่อโลกเราไม่ปกติมา 2 ปีแล้ว และปีนี้มีวิกฤตการสู้รบอีก ซึ่งคาดว่าน่าจะมีความยืดเยื้อ ดังนั้นเราต้องปรับตัวให้อยู่ด้วยตัวเองให้ได้ เช่น ขณะนี้ในตลาดโลกปุ๋ยเคมีที่ราคาแพง ต้องมีการปลดล็อคเชิงกฎหมายให้ชุมชนทำปุ๋ยชีวภาพมาขายเพื่อให้เขามีรายได้ ซึ่งอาจไม่สามารถทดแทนปุ๋ยเคมีได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ช่วยลดต้นทุนได้ ส่วนอาหารสัตว์ที่ไม่สามารถนำเข้าได้ก็ต้องปรับมาใช้ปลายข้าวมาทำอาหารแทน ด้านภาคธุรกิจต้องเปลี่ยนแปลงระบบเทคโนโลยี การบริการรับกับเทรนด์อนาคตที่เราจะเดินไป เราจึงต้องปรับตัวพร้อมกันไปในทุกภาคส่วน

ทั้งนี้ งานเสวนาดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-20 พฤษภาคม 2565 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมแบ่งปันประสบการณ์ และการดำเนินงานที่ผ่านมาในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยภายใต้วิกฤตการณ์ในปัจจุบัน รวมทั้งแสดงวิทัศน์และข้อเสนอแนะ และทิศทางการปรับตัวรับมือเพื่อวางรากฐานรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ในอนาคตให้สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในระยะต่อไป

ข่าว: วันทนีย์  สุขรัตนี
ภาพ: กองยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์