เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2565 เวลา 20.00-22.00 น. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนางกีต้า ซับบระวาล (Mrs. Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย เข้าร่วมเป็นผู้อภิปรายในการประชุมหารือคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติด้านความคุ้มครองทางสังคม (The ECOSOC Dialogue on Social Protection) ณ ห้องประชุม 521 สศช. และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Zoom Meeting จัดโดยคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เพื่ออภิปรายเกี่ยวกับการสนับสนุนการบูรณาการนโยบายของประเทศไทยในการส่งเสริมการเข้าถึงความคุ้มครองทางสังคมอย่างเท่าเทียมและถ้วนหน้า ร่วมกับผู้อภิปรายจากประเทศแอลเบเนียและเอกวาดอร์
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้นำเสนอภาพรวมของระบบความคุ้มครองทางสังคมของประเทศไทย โดยในปัจจุบัน ประเทศไทยมีมาตรการความคุ้มครองทางสังคม
ที่ครอบคลุมตลอดทุกช่วงวัย อาทิ โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ระบบประกันสังคมภาคบังคับและภาคสมัครใจเพื่อช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ยังมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการศึกษาผ่านนโยบายเรียนฟรี อาหารกลางวันฟรี และการช่วยเหลือนักเรียนยากจนผ่านกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) การสนับสนุนผู้พิการผ่านเบี้ยยังชีพผู้พิการ และการสนับสนุนด้านสุขภาพผ่านระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ขณะเดียวกัน ยังมีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดขององค์การสหประชาชาติ และหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทย จัดทำการศึกษาทบทวนการคุ้มครองทางสังคมร่วมกับสหประชาชาติ (UN Joint Programme on Social Protection Diagnostic Review : SPDR) ซึ่งเป็นข้อมูลการวิเคราะห์สถานการณ์และช่องว่างการดำเนินงานด้านการคุ้มครองทางสังคมในประเทศไทยที่นำมาสู่การกำหนดนโยบายด้านความคุ้มครองทางสังคมหลังการเกิดวิกฤตโควิด-19 และการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 โดยเฉพาะในหมุดหมายที่ 9 "ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และคนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม”
นางกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ได้นำเสนอตัวอย่างเพิ่มเติมในการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพของประเทศไทยต่อการส่งเสริมความคุ้มครองทางสังคม อาทิ การจัดสรรงบประมาณกว่าร้อยละ 5.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชากร (GDP) เพื่อดำเนินงานด้านความคุ้มครองทางสังคม การกำหนดนโยบายที่มุ่งเป้าไปยังกลุ่มเปราะบาง และการใช้กลไกความคุ้มครองทางสังคมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ สหประชาชาติและรัฐบาลไทยมีกรอบความร่วมมือในการดำเนินโครงการต่าง ๆ ภายใต้กองทุนร่วมเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Joint SDG Fund) เพื่อพัฒนาความคุ้มครองทางสังคมให้ครอบคลุมและยั่งยืนยิ่งขึ้น
ภายหลังการอภิปราย ที่ประชุมได้มีการหารือแลกเปลี่ยนนโยบายจากประเทศต่าง ๆ ที่ส่งเสริมความคุ้มครองทางสังคมในหลากหลายมิติ อาทิ การคุ้มครองทางสุขภาพในช่วงวิกฤตโควิด-19 นโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของกลุ่มเปราะบางกลุ่มต่าง ๆ อันเป็นผลกระทบจากวิกฤตที่ผ่านมา โดยนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมแลกเปลี่ยนในสองประเด็น ประกอบด้วย
(1) ความสำคัญของความคุ้มครองทางสังคมในภาวะวิกฤติ โดยยกตัวอย่างการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของผู้ประกันตนแบบสมัครใจ (มาตรา 40) ซึ่งในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา มีแรงงานนอกระบบเข้าร่วมการประกันตน เพิ่มขึ้นกว่า 9 ล้านคน และ
(2) การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการสนับสนุนความคุ้มครองทางสังคมของประเทศไทย โดยยกตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีในการจัดทำระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform : TPMAP) เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการกำหนดนโยบายด้านความคุ้มครองทางสังคมที่ตอบโจทย์สภาพปัญหาและความยากจนในมิติต่าง ๆ ในแต่ละบริบทของพื้นที่อย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ ในช่วงวิกฤติที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ให้ความช่วยเหลือและความคุ้มครองทางสังคมผ่านช่องทางเทคโนโลยีดิจิทัล อาทิ การใช้เงินสนับสนุนผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ ฐานข้อมูลบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และฐานข้อมูลของกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ที่ช่วยให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงสวัสดิการได้สะดวก รวดเร็ว และลดความซ้ำซ้อนได้เป็นอย่างดี
การอภิปรายและหารือแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ ถือเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการกำหนดนโยบายในการเสริมพลังต่อการสร้างความคุ้มครองทางสังคม โดยกรณีตัวอย่างของประเทศไทยนั้น ถือเป็นตัวอย่างที่สำคัญในการให้ความคุ้มครองที่ทั่วถึง สามารถเป็นโครงข่ายป้องกันทางสังคม (Social Safety Net) จากวิกฤตต่าง ๆ และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานในสังกัดองค์การสหประชาชาติ และหน่วยงานภาครัฐทั่วโลก สามารถนำไปปรับใช้และต่อยอด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน และรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ในอนาคตได้ต่อไป
ข่าว : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ภาพ : จักรพงศ์ สวภาพมงคล |