ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
สศช. ระดมความคิดเห็นหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาภาวะสูญเสียการเรียนรู้ (Learning Loss)
วันที่ 7 พ.ค. 2565 (จำนวนผู้เข้าชม  78)
เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 นายเอ็นนู  ซื่อสุวรรณ ประธานอนุกรรมการด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม เป็นประธานในการประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) หัวข้อ "แนวทางขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาภาวะสูญเสียการเรียนรู้ (Learning Loss)” โดยมี คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อนุกรรมการฯ พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการศึกษา การพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม เข้าร่วมประชุมหารือ ณ ห้องประชุม 521 สศช. และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Zoom Meeting เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาภาวะสูญเสียการเรียนรู้ (Learning Loss) จากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลให้กลุ่มเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะในครัวเรือนยากจนไม่สามารถเข้าถึงการเรียนการสอนที่ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้

นางสาววรวรรณ พลิคามิน ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน  ได้นำเสนอสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการศึกษา มาตรการที่ดำเนินการโดยประเทศต่างๆ พร้อมข้อเสนอแนะในการออกแบบนโยบายในการฟื้นฟูการเรียนรู้ที่หายไป โดยมีประเด็นที่สำคัญ อาทิ การปิดโรงเรียนอาจทำให้เกิดการสูญเสียการเรียนรู้ของเด็กระหว่าง 3 - 9 เดือน ซึ่งในระยะยาวอาจทำให้เด็กคนหนึ่งสูญเสียความสามารถในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในช่วงชีวิตสูงถึง 6,472 – 25,680 ดอลลาร์ สรอ. (World Bank, 2020) โดยในประเทศไทยพบว่าปัญหาการเรียนการสอนออนไลน์มีสาเหตุสำคัญ อาทิ การขาดความครอบคลุมของโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ต ไฟฟ้า และอื่น ๆ ที่มีคุณภาพ (เร็วและเสถียร) ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญ การขาดแคลนอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับการเรียนผ่านระบบออนไลน์ เช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน โทรทัศน์ เป็นต้น โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่มีฐานะยากจน กลุ่มด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบาง และชนกลุ่มน้อย อันเป็นผลมาจากปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาของกลุ่มเศรษฐานะต่าง ๆ  ปัญหาเรื่องสภาพแวดล้อมในการเรียนนอกห้องเรียนที่นักเรียนไม่มีพื้นที่ส่วนตัวในการทำการบ้านหรือเรียน ครูผู้สอนและนักเรียนไม่คุ้นเคยกับการเรียนออนไลน์ การขาดมาตราการและหลักสูตรที่เอื้ออำนวยหรือช่วยชดเชยภาวะการสูญเสียการเรียนรู้ของเด็กในระบบโรงเรียน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กที่มีแนวโน้มที่จะสูญเสียการเรียนรู้มากกว่าเด็กโต ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะที่จะนำไปสู่การวางแนวทางในการแก้ปัญหาที่สำคัญ เช่น การมีระบบประเมินความต้องการการเรียนรู้ของนักเรียน การปรับปฏิทินการศึกษาและปรับหลักสูตรให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้เรียน การมีรูปแบบสอนซ่อมเสริมเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย การปรับบทบาทการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ สถานศึกษา และครูในระดับต่างๆ เป็นต้น

ที่ประชุมได้มีการนำเสนอและระดมความคิดเห็นอย่างกว้างขวางทั้งในเรื่องสถานการณ์ความรู้ที่หายไปผ่านตัวชี้วัดต่าง ๆ มาตรการในการฟื้นฟูการสูญเสียการเรียนรู้ของเด็กทั้งของสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานและส่วนท้องถิ่น พร้อมทั้งมีการนำเสนอรูปแบบการเรียนการสอนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่น่าสนใจ  อาทิ Remote Learning และ Hybrid Learning ของโรงเรียนบ้านปลาดาว การเรียนรู้ในรูปแบบ Learning pod การเรียนรู้ผ่าน Application Mappa ที่จะสอนให้เด็กมีการฝึกทักษะสมอง (Executive Function)  ทั้งนี้ ผลจากการประชุมหารือดังกล่าวจะนำมาสังเคราะห์เป็นแนวทางการขับเคลื่อนในการแก้ปัญหาภาวะสูญเสียการเรียนรู้ สำหรับเป็นข้อเสนอแนะแก่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการ เสนอต่อคณะอนุกรรมการด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม และคณะกรรมการบูรณาการเพื่อพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคมที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อที่จะผลักดันไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพต่อไป 

ข่าว : วันทนีย์  สุขรัตนี
ภาพ : จักรพงศ์  สวภาพมงคล

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์