เมื่อวันพุธที่ 30 มีนาคม 2565 เวลา 13.30 น. ดร.จุรี วิจิตวาทการ ประธานอนุกรรมส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง กำหนดให้มีการจัดประชุมคณะอนุกรรมส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ครั้งที่ 1/2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมี อนุกรรมการ จากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิที่ขับเคลื่อนงานด้านปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 21 ท่าน และมี รองเลขาธิการฯ นางสาวจินางค์กูร โรจนนันต์ เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ สรุปผลการประชุมได้ ดังนี้
ที่ประชุมรับทราบสรุปผลการประชุมคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ครั้งที่ 1/2565 และรายงานผลการขับเคลื่อนการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่สนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SEP for SDGs) ของภาคีเครือข่าย จำนวน 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย (1) กระทรวงการต่างประเทศ : การขับเคลื่อนโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในต่างประเทศ (2) ศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและความมั่นคง : การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยกองทัพไทย (3) หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย : คู่มือตัวชี้วัดผลลัพธ์การพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืนด้วยการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (4) สมาคมธนาคารไทย : การขับเคลื่อนโครงการที่สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ที่ประชุมได้เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่สนับสนุนการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำปี 2565 และรายงานผลการดำเนินการขับเคลื่อน SEP for SDGs ซึ่งได้ดำเนินการจัดการองค์ความรู้กรณีความสำเร็จการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง กรณีศึกษาสถาบันการเงินชุมชนตำบลดงขี้เหล็ก อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี และกรณีศึกษาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ชุมชนบ้านบัว ต.บ้านตุ่น อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่กลาง (Platform) การพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการฯ อย่างต่อเนื่อง
การดำเนินงานในระยะต่อไปของคณะอนุกรรมการฯ จะให้ความสำคัญกับการจัดการองค์ความรู้ SEP for SDGs เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแก่นของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านตัวอย่างการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในด้านต่าง ๆ เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์การขับเคลื่อน SEP for SDGs ที่หลากหลายของภาคีการพัฒนา และสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยน แบ่งปันความรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยยกระดับความเข้าใจ SEP for SDGs สามารถนำแนวคิดไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างยั่งยืน
ภาพ/ข่าว : กองยุทธศาสตร์การพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ sdgs.nesdc.go.th
สำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
|