ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
สภาพัฒน์จัดระดมความคิดร่างแผนฯ 13 กลุ่มเยาวชน
วันที่ 14 ม.ค. 2565 (จำนวนผู้เข้าชม  3)

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณชนและภาคีการพัฒนาทุกภาคส่วนทั่วประเทศต่อ "ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (.. 2566-2570)”  เพื่อร่วมปรับปรุงร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ให้มีความสมบูรณ์ สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงต่างๆ และสามารถตอบสนองความต้องการของแต่ละภาคส่วนได้อย่างแท้จริง ก่อนประกาศใช้ในเดือนตุลาคม


เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2565 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมระดมความเห็นต่อ "ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (.. 2566 – 2570)” กลุ่มเยาวชน  ห้องประชุม 521 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และประชุมออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Meeting ซึ่งสำนักงานฯ ร่วมกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย จัดกระบวนการระดมความเห็นกลุ่มเยาวชน โดยมีผู้แทนเยาวชนจากสถาบันการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย อาชีวศึกษา ระดับอุดมศึกษา และบัณฑิตจบการศึกษาที่เพิ่งเริ่มทำงาน (First Jobber) นอกจากนี้ มีเครือข่ายเด็กและเยาวชนนักเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ อาทิ เครือข่ายเยาวชนเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลก ประจำประเทศไทย (GYBN Thailand) เครือข่าย Active Youth เครือข่ายเยาวชนจากคณะกรรมการที่ปรึกษาเยาวชน (YPAB) ของ Unicef Thailand รวมทั้งผู้แทนเยาวชนกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งสิ้นมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 60 คน


นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า  สศช. ได้จัดให้มีการระดมความเห็นกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ของกลุ่มเยาวชนมาครั้งหนึ่งแล้ว ในครั้งนี้จะเป็นการรับฟังความเห็นร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ที่มีแนวทางการพัฒนา 13 หมุดหมาย ซึ่งน้องๆ เยาวชนทุกคน เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศร่วมกันกับทุกภาคส่วน ร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 มุ่งหมายให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ เศรษฐกิจชุมชนเติบโตอย่างเข้มแข็ง สังคมก้าวหน้าเป็นสังคมที่เป็นธรรม เร่งลดความเหลื่อมล้ำ โดยส่งเสริมให้เกิดการกระจายรายได้ผ่านเครื่องมือทางเศรษฐกิจต่าง อาทิ การพัฒนาพื้นที่ การพัฒนาเมือง และการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ เช่น อุตสาหกรรมบริการดิจิทัลและซอฟแวร์ เป็นต้น เพื่อเป็นแหล่งตลาดงานใหม่ให้กับเยาวชนที่จะเติบโตเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยประเทศต้องเตรียมและพัฒนาให้เยาวชนสามารถเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมใหม่ได้ เพราะฉะนั้น การระดมความเห็นในครั้งนี้ น้องๆ ทุกคนสามารถแสดงความเห็นได้อย่างเสรี เพื่อเติมเต็มให้ร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เป็นแนวทางที่จะพัฒนาประเทศไปสู่อนาคตที่น้องๆ ต้องการ ทาง สศช. จะนำความเห็นของน้อง มาประมวลและนำไปปรับปรุงร่างแผนพัฒนาฯ ให้เป็นเครื่องมือที่จะช่วยพลิกโฉมประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโต สังคมก้าวหน้า ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลในระยะยาวได้


นางสาววรวรรณ พลิคามิน ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน  บรรยาย "จากกรอบแผนพัฒนาฯ สู่ ร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาฯ ให้กับเยาวชน โดยเริ่มต้นจากการจัดทำกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 นำมาสู่การปักหมุดหมายการพัฒนาใน 13 หมุดหมาย บนฐานการวิเคราะห์ Global Megatrends บริบทการพัฒนาใหม่หลังโควิด-19 และการประเมินสถานะประเทศทั้งทุนทางเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน ทุนทางสังคมและทรัพยากรมนุษย์ ทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนทุนทางสถาบัน โดยแผนนี้จะชี้ชัด คัดกรองเฉพาะประเด็นที่มีลำดับความสำคัญสูงที่มุ่งพลิกโฉมประเทศไทยไปสู่ "สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืนโดยมีเป้าหมายหลัก 5 เป้าหมาย ดังนี้ (1) การปรับโครงสร้างการผลิตสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม (2) การพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่ (3) การมุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม (4) การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน (5) การเสริมสร้างความสามารถของประเทศในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงภายใต้บริบทโลกใหม่ ภายใต้ 4 มิติการพัฒนา 13 หมุดหมาย


ต่อจากนั้น เป็นการระดมความคิดเห็นเชิงสร้างสรรค์ในรูปแบบออนไลน์ โดยใช้แอพลิเคชั่น Mentimeter และ Google form ในการแสดงความเห็นร่วมกับระบบ Zoom meeting ก่อนเริ่มการระดมความเห็นได้มีการกำหนดข้อตกลงการแสดงความคิดเห็นร่วมกัน คือ "พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการแสดงความเห็น/ทุกเสียงมีความหมาย เคารพในความคิดเห็นต่างและเคารพเวลาของผู้อื่นการระดมความเห็นแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ (1) เป้าหมายหลัก 5 เป้าหมายในร่างแผนพัฒนาฯ (2) หมุดหมายการพัฒนา 13 หมุดหมาย พร้อมทั้งนำเสนอวีดิทัศน์ของร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ในแต่ละมิติการพัฒนาประกอบการระดมความเห็น เพื่อช่วยเสริมความเข้าใจและเห็นภาพเป้าหมายในการพัฒนามิติต่าง ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น


เยาวชนผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นและเสนอแนวทางการพัฒนาฯ ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับเป้าหมายหลัก 5 เป้าหมาย โดยมีข้อเสนอเพิ่มเติมในการกำหนดทิศทางของแผนพัฒนาฯ ให้ครอบคลุมและตอบโจทย์ความท้าทายในปัจจุบัน อาทิ การเข้าสู่สังคมสูงวัย ปัญหาเงินเฟ้อ การเข้าถึงสวัสดิการอย่างถ้วนหน้า และบทบาทของท้องถิ่นและภาคประชาชน ในขณะที่หมุดหมายการพัฒนา 13 หมุดหมาย เยาวชนได้แสดงความเห็นต่อแนวทางการพัฒนา โดยให้ข้อเสนอที่ช่วยเติมเต็มให้ร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 สามารถปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สรุปได้ดังนี้


1) มิติด้านเศรษฐกิจ : ภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย ควรสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าทางการเกษตร ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการเกษตร พัฒนาระบบสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำในภาคการเกษตร ควรวางกลยุทธ์ด้านการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร หนุนเสริมการกระจายโอกาสและกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมการทำงานในพื้นที่ รวมถึงการเพิ่มมูลค่าให้กับภาคการท่องเที่ยวและบริการ อาทิ ส่งเสริมให้มีแหล่งท่องเที่ยวประจำจังหวัด ส่งเสริมอุตสาหกรรมบันเทิงและการใช้ Soft Power เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมถึงประเด็นการพัฒนาระบบนิเวศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะเพื่อรองรับระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่จะเป็นสิ่งท้าทายในอนาคต อาทิ SMEs ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ระบบการเงินดิจิทัล


2) มิติด้านสังคม : โอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม ควรให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นกับการจัดสวัสดิการแบบถ้วนหน้า และให้ครอบคลุมทุกช่วงวัย เพื่อป้องกันการตกหล่นหรือการที่คนบางกลุ่มถูกทิ้งไว้ข้างหลัง นอกจากนี้ยังเห็นว่าการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมของคนทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะการขจัดอุปสรรคหรือ "ลดกำแพงเพื่อให้กลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่มคนไร้สัญชาติ/กลุ่มคนต่างด้าว สามารถเข้าถึงการศึกษาและร่วมเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยด้วย อีกทั้งในการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจต่าง ควรกระจายอำนาจให้ชุมชนและท้องถิ่นร่วมกำหนดแนวทางพัฒนาพื้นที่และบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดความยั่งยืน โดยส่งเสริมขีดความสามารถให้คนในพื้นที่เป็นผู้ประกอบการ ร่วมกับปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อป้องกันการผูกขาดของกลุ่มทุน เพื่อกระจายผลประโยชน์จากการพัฒนาสู่คนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง


3) มิติด้านสิ่งแวดล้อม : ความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเสนอกลยุทธ์ให้ภาครัฐสนับสนุนอุตสาหกรรมและการใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาขยะอย่างเป็นรูปธรรม สนับสนุนการประยุกต์ใช้นวัตกรรมเพื่อรับมือภัยพิบัติ และให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในการหาทางออกร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาและสร้างความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม


4) มิติด้านปัจจัยสนับสนุน : ปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ ควรเร่งลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาในพื้นที่ชนบท/ทุรกันดาร ส่งเสริมการเรียนรู้บนฐานชุมชนและการพัฒนาการศึกษาแบบมีส่วนร่วม ควรให้ความสำคัญกับปัญหาความเครียดและความกดดันของนักเรียนจากการศึกษาในระบบปัจจุบันที่จะส่งผลต่อการพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะสูง ส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุในภาคบริการ รวมทั้งการประยุกต์ใช้ Blockchain ในการตรวจสอบและติดตามภาครัฐ นอกจากนี้ ควรเพิ่มเติมตัวชี้วัดที่สะท้อนถึงการกระจายอำนาจและการส่งเสริมให้เกิดการสร้างประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือเพื่อลดความขัดแย้ง รวมทั้งควรให้ความสำคัญกับการสื่อสารเพื่อสร้างความรับรู้และความเข้าใจของประชาชน ตลอดจนการประมวลกฎหมายให้มีความชัดเจน เป็นระบบ และเข้าถึงได้ง่าย


นางสาวจินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวสรุปและกล่าวปิดการประชุมในช่วงท้ายว่า จากการจัดประชุมระดมความเห็นในครั้งนี้ จะเห็นถึงความกระตือรือร้นของน้องๆ เยาวชนในการแสดงความเห็นต่อแนวทางการพัฒนาประเทศ ทำให้สำนักงานฯ ได้รับความเห็นและข้อมูลต่าง ที่เป็นประโยชน์ในการปรับปรุงร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 และยังเห็นถึงศักยภาพการเป็นผู้นำ ความพร้อมในการเป็นกำลังขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งแนวทางการพัฒนาทั้ง 13 หมุดหมาย น้อง เยาวชนเป็นผู้ได้รับผลจากการพัฒนาทุกหมุดหมาย ดังนั้น น้องๆ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่สร้างสรรค์ โดยเริ่มทำได้ตั้งแต่วันนี้ ด้วยพลังของกลุ่มเยาวชนที่มีความมุ่งมั่นในการสร้างอนาคตของประเทศที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกันได้

-------------------------

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

13 มกราคม 2565

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์