ข่าวสาร/กิจกรรม
เลขาธิการฯ ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ยุทธศาสตร์เดินหน้าเศรษฐกิจไทย 2022” ในงานสัมมนา Thailand Economic Outlook 2022 อนาคตเศรษฐกิจไทย
วันที่ 29 พ.ย. 2564 (จำนวนผู้เข้าชม  56)

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแห่งชาติ ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ยุทธศาสตร์เดินหน้าเศรษฐกิจไทย 2022” ในงานสัมมนา Thailand Economic Outlook 2022 อนาคตเศรษฐกิจไทย จัดโดย บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จากัด (มหาชน) หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ในวันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2564 ในรูปแบบ Virtual Forum 

การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อมองมุมมองและทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2565 หลังเปิดประเทศจากวิกฤติการณ์การแพร่ระบาดของโควิด - 19 ในการปาฐกถาพิเศษดังกล่าว นายดนุชา พิชยนันท์ ในฐานะตัวแทนมุมมองจากความคิดของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ทิศทาง และนโยบายด้านเศรษฐกิจและธุรกิจต่าง ๆ

นายดนุชา พิชยนันท์ กล่าวปาฐกถาโดยมีใจความว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 สาขาที่ได้รับผลกระทบมากคือสาขาการท่องเที่ยวซึ่งจะเป็นสาขาที่ยังคงมีการฟื้นตัวได้ที่ค่อนข้างช้า ภาคการส่งออกจะดีขึ้นเรื่อย ๆ ไปจนถึงปีหน้า เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยหลังจากการฟื้นตัวการระบาดของโรค กราฟการฟื้นตัวจะเป็นไปในลักษณะรูปตัว k  (บางธุรกิจจะมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและบางธุรกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัว)  

สศช. มีการประมาณการณ์เศรษฐกิจปี 64 ขยายตัวได้ 1.2% บัญชีดุลสะพัดติดลบ 2.5% ภาคธุรกิจท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว แต่ส่งออกยังดีอยู่ ขยายได้ถึง 16.8%  สำหรับการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2565 คาดว่า ขยายตัวอยู่ที่ 3.5 - 4.5% ค่ากลาง 4% ส่วนเศรษฐกิจโลกอยู่ที่ 4.6 - 4.8%

ทั้งนี้ การกระตุ้นการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวในประเทศถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการในปีหน้า ซึ่งในการประชุมศูนย์บริการสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบศ.) ช่วงสัปดาห์นี้จะมีความชัดเจนของมาตรการออกวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว (Long-term Resident Visa) เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้าพำนักระยะยาวและมีส่วนช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวด้วย

นอกจากนี้ จะมีการเดินหน้าอุตสาหกรรมใหม่ โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะมีมาตรการสนับสนุนให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ และสถานีชาร์จ และมีนโยบายส่งเสริมเร่งรัดให้ผู้ได้รับบัตรส่งเสริมเริ่มมีการลงทุนในปี 2565 และจะมีมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมทางการแพทย์ เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

โดย นายดนุชา กล่าวต่อมีใจความว่า การส่งออกยังคงเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2565 การบริโภคในประเทศ อุตสาหกรรมอาหาร เป็นไปได้ดี แต่ต้องปกป้องฐานการผลิตของเรา เพราะจากการแพร่ระบาดโรคภายในโรงงาน ส่งผลทำให้การผลิตหยุดชะงักในบางช่วง เพราะฉะนั้นถ้าในปี 2565 หากมีการปกป้องฐานการผลิตได้ต่อเนื่อง จะทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก แต่การขาดแคลนแรงงานยังคงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งรัฐบาลอนุญาตนำเข้าแรงงานภายใต้เงื่อนไขการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019

ปัจจัยที่เป็นตัวสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ การเร่งฉีดวัคซีนให้มากขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวในประเทศฟื้นตัวในระดับหนึ่ง  โดยประมาณการนักท่องเที่ยว 5 ล้านคนในปี 2565 และต้องมีการติดตามข้อมูลการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด - 19 สายพันธ์โอไมคร่อน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยได้มีการออกประกาศห้ามประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด - 19 สายพันธ์โอไมครอนเข้าประเทศ และจะต้องมีการหารือการปรับมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ และนำข้อมูลที่ได้มาใช้ประมาณการต่าง ๆ ในปี 2565 แต่ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลที่เพียงพอและชัดเจนของอาการและผลกระทบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากเชื้อไวรัสกลายพันธ์ตัวนี้ สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือการเร่งฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด และวัคซีนที่รัฐบาลได้สั่งซื้อไปแล้วในปีหน้า ต้องมีการหารือว่าวัคซีนที่เข้ามาใหม่จะมีการปรับสูตรเพื่อรองรับตัวกลายพันธ์ด้วย ซึ่งต้องไปดูในข้อสัญญาต่าง ๆ และรัฐบาลเตรียมการยารักษาโรค ทั้งโมลนูพิราเวียร์ ยาจากไฟเซอร์ ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขกำลังพิจารณาอยู่ และทุกฝ่ายจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมระบบสาธารณสุข เพื่อรองรับหากมีการแพร่ระบาดอีกครั้ง สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือต้องระมัดระวังให้มากที่สุดเพราะไวรัสโควิด - 19 สายพันธ์โอไมครอนสามารถแพร่กระจายได้เร็วกว่าเดิม เพราะไม่ว่าเราจะมีการป้องกันอย่างไร เชื้อกลายพันธ์ดังกล่าวก็อาจจะเล็ดรอดเข้ามาได้ ดังนั้นมาตรการสาธารณสุขที่เตรียมไว้จะต้องเตรียมไว้เพื่อระงับการแพร่ระบาดให้เร็วที่สุด  และมีมาตรการรองรับเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนั้นปัจจัยเสี่ยงในปี 2565 คือ หนี้ครัวเรือน ซึ่งต้องใช้มาตรการที่มีอยู่ปรับปรุงหนี้ครัวเรือนให้ประชาชนและภาคธุรกิจเดินหน้าได้ โดยเฉพาะสินเชื่อบัตรเครดิตค่อนข้างสูงจึงต้องมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องติดตามกันอย่างต่อเนื่องคือเรื่องของเงินเฟ้อที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเกิดจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวค่อนข้างเร็วทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น

สรุปโดยสังเขปมาตรการที่จะใช้ในปี 2565 คือ 1. การควบคุมการแพร่ระบาดและเตรียมการเยียวยาควบคู่ไปด้วย 2. มาตรการทางการเงินต้องมีการติดตามและขยายผลให้มากที่สุด เพื่อให้ภารธุรกิจเดินหน้าไปได้และภาคครัวเรือนสามารถมีกำลังเดินห้านไปได้ 3. การรักษาระดับการจ้างงานซึ่งได้มีการดำเนินงานไปแล้ว แต่บางส่วน เช่น ผับ บาร์ กิจการที่ต้องดำเนินการตอนกลางคืน ยังคงปิดอยู่ คงต้องมีมาตรการเฉพาะที่ดูแล เพื่อให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องและเดินหน้าและอยู่รอดไปได้ 4. เรื่องของการกระตุ้นการใช้จ่าย อาทิ ให้นักท่องเที่ยวพำนักในระยะยาวมากยิ่งขึ้น 5. การสนับสนุนและดึงดูดการลงทุน อาทิ อุตสาหกรรมทางการแพทย์ การส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า 6. การพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ต่างๆ ที่ได้มีการวางแผนเตรียมการไว้ อาทิการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 

สุดท้ายนี้นายดนุชาได้กล่าว่า "สถานการณ์ในปีหน้ายังมีเรื่องของความไม่แน่นอนอยู่ โดยเฉพาะไวรัสที่มีการกลายพันธ์ ขอเวลาวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ดูว่าผลกระทบเป็นอย่างไร มาตรการที่รัฐดำเนินการขณะนี้ คือ ปกป้องประชาชนภายในประเทศและป้องกันการแพร่ระบาดในปีหน้า ซึ่งให้ความสำคัญสูงสุดเพราะกระทบกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยังต้องช่วยกันดูแลตนเองและคนรอบข้างดำเนินการตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ถ้าเกิดระบาดก็ต้องควบคุมอยู่ในวงจำกัดโดยเร็วที่สุด เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้"


ข่าว : ณัฐพร ก๊อใจ

ภาพ : Nation online


สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์