ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
สภาพัฒน์ เปิดเวทีระดมความคิดเห็นร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน
วันที่ 16 ธ.ค. 2564 (จำนวนผู้เข้าชม  459)
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณชนและภาคีการพัฒนาทุกภาคส่วนทั่วประเทศต่อ "ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570)” เพื่อร่วมปรับปรุงร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ให้มีความสมบูรณ์ สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงต่างๆ และสามารถตอบสนองความต้องการของแต่ละภาคส่วนได้อย่างแท้จริง ก่อนประกาศใช้ในเดือนตุลาคม 2565

วันนี้ (16 ธันวาคม 2564) นายโสภณ  แท่งเพ็ชร์ รักษาการที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมระดมความเห็นต่อ "ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570)” กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน ประกอบด้วย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี และอ่างทอง ณ โรงแรมกรุงศรี ริเวอร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีนายประทีป  การมิตรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวต้อนรับการประชุม และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภคพร  วัฒนดำรง รองคณบดีฝ่ายบริการวิชาการและเครือข่ายสัมพันธ์ คณะบริหารเศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นวิทยากร สำหรับผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย หน่วยราชการส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจเอกชน เครือข่ายภาคประชาสังคม และนักวิชาการ จำนวนประมาณ 115 คน

รักษาการที่ปรึกษาฯ กล่าวว่าปัจจุบัน สศช. อยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) เพื่อใช้เป็นยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศต่อเนื่องจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2565) ซึ่งจะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 2565 โดยน้อมนำ "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มากำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศในระยะของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 รวมทั้งเป็นหลักนำทางในการขับเคลื่อนแผน ตลอดจนยึดโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในการนำประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศที่มีสังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่า ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลในระยะยาว

การจัดประชุมระดมความเห็นร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ในครั้งนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับสาธารณชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคีการพัฒนาต่าง ๆ เกี่ยวกับร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 รวมถึงเปิดโอกาสให้ภาคีการพัฒนาในระดับพื้นที่/กลุ่มเฉพาะ ร่วมกันแสดงความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ทั้งในระดับภาพรวม ได้แก่ เป้าหมาย กลยุทธ์ ยุทธศาสตร์ และแนวทางหลักในร่างแผนฯ และระดับหมุดหมาย ได้แก่ เป้าหมาย ตัวชี้วัดและกลยุทธ์ในแต่ละหมุดหมาย ให้มีความสมบูรณ์และสอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงต่างๆ สามารถตอบสนองความต้องการของแต่ละภาคส่วนได้อย่างแท้จริง 

ในกระบวนการจัดทำแผนฯ 13 สศช. ยังคงมุ่งเน้นเปิดโอกาสให้ภาคีการพัฒนาและสาธารณชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อแผนฯ อย่างกว้างขวาง โดยเริ่มระดมความเห็นต่อกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน 2564 ในระดับกลุ่มจังหวัด 18 กลุ่มทั่วประเทศ และเฉพาะกลุ่มในส่วนกลาง ทั้งกลุ่มภาคราชการ ภาคเอกชน ภาควิชาการ อดีตผู้บริหาร สศช. ผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน และสื่อมวลชน รวมถึงยังจัดให้มีช่องทางออนไลน์และสื่อสาธารณะเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ร่วมแสดงความคิดเห็นได้โดยสะดวก เพื่อให้ได้ความเห็นต่อทิศทางการพัฒนาที่หลากหลาย สามารถแก้ปัญหา และตอบสนองความต้องการของคนไทยในทุกพื้นที่และทุกอาชีพได้อย่างแท้จริง

หลักจากนั้น รักษาการที่ปรึกษาฯ ได้นำเสนอร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13  ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ว่า แผนฯ 13 มีเป้าหมายหลักของการพัฒนาในระยะ 5 ปีของแผนรวม 5 เป้าหมาย ได้แก่ (1) การปรับโครงสร้างการผลิตสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม (2) การพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่ (3) การมุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม (4) การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน และ (5) การเสริมสร้างความสามารถของประเทศในการรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลง ภายใต้บริบทโลกใหม่ 

รักษาการที่ปรึกษาฯ ได้กล่าวต่อไปว่า เพื่อถ่ายทอดเป้าหมายหลักไปสู่ภาพของการขับเคลื่อนที่ชัดเจนในลักษณะของวาระการพัฒนา (Agenda) ที่เอื้อให้เกิดการทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงานและหลายภาคส่วนในการผลักดันการพัฒนาในเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้เกิดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม แผนฯ 13  จึงได้กำหนดหมุดหมายการพัฒนา จำนวน 13 ประการ โดยแบ่งเป็น 4 มิติ ได้แก่
     1. มิติภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย ประกอบด้วย หมุดหมายที่ 1 ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง หมุดหมายที่ 2 ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน หมุดหมายที่ 3 ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก หมุดหมายที่ 4 ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง หมุดหมายที่ 5 ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค หมุดหมายที่ 6 ไทยเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของอาเซียน
     2. มิติโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม ประกอบด้วย หมุดหมายที่ 7 ไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง และสามารถแข่งขันได้ หมุดหมายที่ 8 ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน หมุดหมายที่ 9 ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และคนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม
     3. มิติความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย หมุดหมายที่ 10 ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ หมุดหมายที่ 11 ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
     4. มิติปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ ประกอบด้วย หมุดหมายที่ 12 ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต และหมุดหมายที่ 13 ไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน

รักษาการที่ปรึกษาฯ ได้กล่าวในตอนท้ายว่า ภายหลังการระดมความเห็นในครั้งนี้ สศช. จะนำความคิดเห็นที่ได้จากการประชุมมาประมวลและปรับปรุงร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ให้มีความครบถ้วน สมบูรณ์ยิ่งขึ้น แล้วนำเสนอต่อสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หลังจากนั้นจะเสนอร่างดังกล่าวต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะรัฐมนตรี และรัฐสภา ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้แผนฯ อย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม 2565 ต่อไป

ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปสามารถแสดงความคิดเห็นต่อร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ของ สศช. ได้ทางเว็บไซต์ www.nesdc.go.th, Facebook สภาพัฒน์, Twitter สภาพัฒน์, Line สภาพัฒน์ Update, Email : plan13@nesdc.go.th และ ตู้ ปณ.49 ปทฝ.หลานหลวง กรุงเทพฯ 10102 
-------------------------
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
16 ธันวาคม 2564

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์