ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
สภาพัฒน์ เปิดเวทีระดมความคิดเห็นร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 กลุ่มผู้สูงอายุ
วันที่ 8 ธ.ค. 2564 (จำนวนผู้เข้าชม  27)
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดระดมความคิดเห็น "ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570)” กลุ่มเฉพาะด้านผู้สูงอายุ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ทรงคุณวุฒิ และภาคีการพัฒนาได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงร่างกลยุทธ์แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ก่อนประกาศใช้ในเดือนตุลาคม 2565

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564 นางสาวจินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุมและกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมระดมความคิดเห็นต่อ "ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570)” กลุ่มเฉพาะด้านผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นมุมมองของผู้ทรงคุณวุฒิที่มีทั้งที่เป็นผู้สูงอายุและมีบริบทการทำงานเกี่ยวกับด้านสูงอายุ อาทิ รองศาสตราจารย์บัณฑิต ทิพากร รองอธิการบดีอาวุโส ฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ศาสตราจารย์วรเวศม์ สุวรรณระดา อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร. ธงชัย ชิวปรีชา กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการบริหารโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ดร. มารยาท สมุทรสาคร ผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ รวมทั้งผู้แทนจากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้นประมาณ 30 คน

จากนั้น นางสาววรวรรณ พลิคามิน ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สศช. กล่าวชี้แจงว่า การประชุมวันนี้เป็นการประชุมกลุ่มเฉพาะด้านผู้สูงอายุ ต่อเนื่องจากการประชุมระดมความเห็นต่อกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เมื่อเดือนเมษายน 2564 ซึ่งต่อมาคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้แต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องจำนวน 13 คณะ จัดทำรายละเอียดใน 13 หมุดหมาย และได้นำไประดมความเห็นในการประชุมประจำปี 2564 ในหัวข้อ "Mission to Transform : 13 หมุดหมาย พลิกโฉมประเทศไทย” เมื่อเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมา โดยขั้นตอนต่อไปคือการนำร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 มาระดมความเห็นร่วมกับภาคีการพัฒนากับกลุ่มจังหวัดและกลุ่มเฉพาะอีกครั้งหนึ่งซึ่งเป็นที่มาของการประชุมในวันนี้ ทั้งนี้ ได้มีการนำเสนอวีดิทัศน์สรุปสาระสำคัญของร่างแผน ก่อนจะนำเข้าสู่การระดมความคิดเห็น โดยแบ่งเป็น 3 ช่วง ประกอบด้วย ช่วงแรก การกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดหลัก 5 ด้าน ช่วงที่สอง 13 หมุดหมาย ภายใต้ 4 มิติการพัฒนา และช่วงที่สาม การขับเคลื่อนแผนสู่การปฏิบัติโดยมีความเห็นที่สำคัญ อาทิ 

ช่วงแรก การกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดหลัก 5 ด้าน ในภาพรวมเป้าหมาย ทั้ง 5 ประการมีลักษณะเป็นรายประเด็น (issue) ที่ขาดความเชื่อมโยงกัน และเมื่อพิจารณาเป็นรายเป้าหมาย เช่น เป้าหมายเรื่องการพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่ โดยใช้ตัวชี้วัดดัชนีการพัฒนามนุษย์ก็จะไม่ครอบคลุมทักษะที่เป็น soft skill เป้าหมายการมุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม โดยใช้ตัวชี้วัดความแตกต่างระหว่างกลุ่มประชากรที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงสุด 10% และต่ำสุด 40% ยังเป็นเพียงการสะท้อนความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ ไม่ได้สะท้อนความแตกต่างของคนในหลายมิติทั้งในเรื่องช่วงวัย หรือเชิงพื้นที่ระหว่างเมืองและชนบท และการกำหนดให้ค่าเป้าหมายลดลงจาก 5.66 เท่าในปี 2562 เป็นต่ำกว่า 5 เท่า ในปี 2570 อาจไม่ท้าทายและไม่สามารถพลิกโฉมประเทศไทยได้ เป็นต้น  

ช่วงที่สอง 13 หมุดหมายภายใต้ 4 มิติการพัฒนา 

มิติที่ 1 ภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย ควรมุ่งใช้โอกาสจากทุนทางวัฒนธรรมและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การยกระดับสมรรถนะของคนไทย การสร้างขีดความสามารถและกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากการวิจัยและนวัตกรรม การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนต่อการรับมือกับความเสี่ยงต่าง ๆ ในอนาคต โดยการกำหนดรายละเอียดของกลยุทธ์ควรคำนึงถึงความเสี่ยงต่าง ๆ อาทิ การชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน (supply chain disruption) และการใช้มาตรการทางภาษีเพื่อสร้างความสมดุลในการจัดสรรและการใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และชุมชน รวมทั้งผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจกับคนทุกกลุ่มทุกวัยด้วย 

มิติที่ 2 โอกาสและความเสมอภาค ทางเศรษฐกิจ และสังคม ควรให้ความสำคัญกับการสร้างขีดความสามารถภายใน (intangible capacity) ตั้งแต่ระดับบุคคล ชุมชน องค์กร และระดับประเทศให้มีความคล่องตัวและพัฒนาตัวเองได้อย่างว่องไว (agility) เพื่อให้ทุกภาคส่วนในสังคมสามารถเอาตัวรอด (survive) และหลบหลีกจากความเสี่ยงภัยคุกคามต่าง ๆ ในสภาพแวดล้อมที่มีความผันผวนสูง (turbulence) ผ่านการพัฒนาการวิจัยและนวัตกรรม และการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ที่สั่งสมขึ้น (collective intelligence) ในสังคม และการสร้างระบบนิเวศที่ SMEs สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในห่วงโซ่มูลค่า (value chain shift) นอกจากนี้ ในมิติของความเหลื่อมล้ำที่ให้ความสำคัญกับมาตรการภาษีจากฐานรายได้จะทำให้ประเทศต้องเผชิญกับข้อจำกัดอย่างมาก เนื่องจากประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัยและแรงงานจะมีแนวโน้มเป็นแรงงานในระบบลดลง จึงควรต้องให้ความสำคัญจากฐานภาษีอื่น ๆ ด้วย

มิติที่ 3 ความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในภาพรวมยังเป็นไปในลักษณะการตั้งรับและลดผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่าการใช้มาตรการเชิงรุกเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวและล้มและลุกได้ไว (resilience) และควรเพิ่มเติมกลยุทธ์ด้านการจัดการขยะติดเชื้อและขยะอันตราย ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจนจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด – 19 และควรกำหนดมาตรการจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการขยะและของเสียอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

มิติที่ 4 ปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ เป็นปัจจัยในการปลดล็อคการพัฒนาในหมุดหมายอื่น ๆ ทั้งหมด โดยการพัฒนากำลังคนควรมุ่งพลิกโฉมระบบนิเวศการจัดการศึกษาที่ตอบสนองความต้องการในการพัฒนาตนเองในแต่ละช่วงชีวิต (multi – stage of life) มากกว่าการจัดการศึกษาแบบเดิมที่แบ่งเป็นขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา การพัฒนาระบบธนาคารหน่วยกิตที่มุ่งการสั่งสมสมรรถนะเพื่อการทำงาน(performance) และการเรียนแบบ non – degree มากกว่าสะสมความรู้ตามระดับเพื่อให้ได้ degreeรวมทั้งภาครัฐควรสนับสนุน EdTech เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่รุนแรงมากขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 สำหรับการพัฒนาภาครัฐที่ทันสมัย ควรมีการใช้ประโยชน์กำลังคนร่วมกันในทุกภาคส่วน และใช้แนวคิดการจัดการภาครัฐแบบเครือข่าย (network governance) เพื่อยกระดับการบริหารจัดการภาครัฐ

ทั้งนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิส่วนใหญ่มีความเห็นว่า การกำหนดหมุดหมายทั้ง 13 หมุดหมาย มีความเชื่อมโยงและเป็นปัจจัยเสริมซึ่งกันและกัน ซึ่ง สศช. อาจปรับกลยุทธ์ แนวทางการดำเนินงาน และตัวชี้วัดให้มีความสอดคล้องเหมาะสมยิ่งขึ้น

ช่วงที่สาม การขับเคลื่อนแผนสู่การปฏิบัติ สศช. ควรพัฒนาวิธีการถ่ายระดับ (cascade) แผนสู่การปฏิบัติเนื่องจากหมุดหมายภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 มีลักษณะเป็นประเด็นบูรณาการ (cross cutting issue)ซึ่งไม่สามารถขับเคลื่อนได้ภายใต้โครงสร้างการทำงานของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง จึงจำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกระดับเกี่ยวกับแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เพื่อให้การจัดทำแผนงาน/โครงการเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และควรส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชน ชุมชน ภาคประชาสังคม และองค์กรไม่แสวงผลกำไร เพื่อลดข้อจำกัดทางการคลัง และเพิ่มความคล่องตัวและประสิทธิภาพการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ รวมทั้งควรมีการกำหนดเจ้าภาพหลัก/ร่วม และหน่วยงานที่เป็นตัวกระตุ้น (influence/catalyst) ของโครงการต่าง ๆ ที่ประสบความสำเร็จ ตลอดจนการกำหนดตัวชี้วัดในแต่ละปีที่มีความชัดเจนเพื่อให้การติดตามประเมินผลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ 

นางสาวจินางค์กูรฯ กล่าวในตอนท้ายว่าในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ประเทศต้องเผชิญกับความท้าทายเป็นอย่างมากจากข้อจำกัดทางการเงินการคลัง แต่ก็มีโอกาสในการพัฒนาในหลาย ๆ ด้าน อาทิ การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่อาจช่วยลดภาระค่าใช้ภาครัฐได้ ขณะเดียวกันภาครัฐต้องเปิดโอกาสให้ภาคส่วนอื่น ๆ และคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ สศช. หวังว่าในห้วงระยะเวลา 5 ปี ข้างหน้าจะเป็นการวางรากฐานให้ประเทศกลับมาเติบโตได้ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 14 ต่อไป ทั้งนี้ ขอขอบคุณผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านที่ได้ให้ความคิดเห็นได้อย่างครบถ้วน สศช. จะนำความคิดเห็นที่ได้จากการประชุมมาประมวลและปรับปรุงร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น แล้วนำเสนอต่อสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หลังจากนั้นจะเสนอร่างดังกล่าวต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะรัฐมนตรี และรัฐสภา ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้แผนฯ อย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม 2565 ต่อไป

ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปสามารถแสดงความคิดเห็นต่อร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ของ สศช. ได้ทางเว็บไซต์ www.nesdc.go.th, Facebook สภาพัฒน์, Twitter สภาพัฒน์, Line สภาพัฒน์ Update, Email : plan13@nesdc.go.th และ ตู้ ปณ.49 ปทฝ.หลานหลวง กรุงเทพฯ 10102 
-------------------------
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
27 ธันวาคม 2564


สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์