ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
ผลการประชุมคณะกรรมการบูรณาการเพื่อพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม นัดแรก 
วันที่ 3 ธ.ค. 2564 (จำนวนผู้เข้าชม  72)
เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการบูรณาการเพื่อพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม กำหนดให้มีการจัดประชุมคณะกรรมการบูรณาการเพื่อพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม หรือ กบสท. ณ ห้องประชุมตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย รัฐมนตรี ผู้แทนภาคเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 20 ท่าน และมีเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ สรุปผลการประชุมได้ ดังนี้

ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำและความยากจนของประเทศไทย ปี 2563 ซึ่งความเหลื่อมล้ำด้านรายจ่ายมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากค่าสัมประสิทธิ์จีนีด้านรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค ในปี 2563 อยู่ที่ 0.350 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 0.348 ในปี 2562 เป็นผลจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้รายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตประจำวันสูงขึ้นด้วย อีกทั้งความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งของไทยอยู่ในระดับสูงและมีลักษณะสะสม/ส่งต่อไปยังคนในรุ่นต่อไป โดยในปี 2562 กลุ่มประชากรที่มีรายได้สูงสุด มีส่วนแบ่งมูลค่าทรัพย์สินสูงถึงร้อยละ 31.30 ของทรัพย์สินรวมทั้งประเทศ และเมื่อพิจารณาตามประเภททรัพย์สิน พบว่า การถือครองทรัพย์สินประเภทบ้าน ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างเพื่อใช้ประกอบธุรกิจ/เกษตรฯ เป็นประเภททรัพย์สินที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุด และยังคงมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับทรัพย์สินทางการเงิน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้สูงขึ้น 

ขณะที่สถานการณ์ความยากจนในประเทศไทย ปี 2563 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากวิกฤติโควิด-19 โดยสัดส่วนคนจนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.24 ในปี 2562 เป็นร้อยละ 6.84 ในปี 2563 หรือมีคนจนจำนวน 4.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 4.3 ล้านคนในปีก่อนหน้า ทั้งนี้ มาตรการของภาครัฐซึ่งช่วยเหลือเยียวยาผ่าน พ.ร.ก. กู้เงินฯ คิดเป็นมูลค่า 13,473 บาทต่อคนต่อปี มีส่วนช่วยให้ครัวเรือนรักษาระดับการใช้จ่ายและคุณภาพชีวิตไว้ได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พบว่า ภาพรวมครัวเรือนทั้งประเทศมีความเปราะบางเพิ่มขึ้น 

ที่ประชุมยังได้รับทราบความเชื่อมโยงของยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม อาทิ ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ มุ่งกระจายศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม เพิ่มโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามาเป็นกำลังของการพัฒนาประเทศในทุกระดับ และเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนา การพึ่งตนเองและการจัดการตนเองเพื่อสร้างสังคมคุณภาพ โดยเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติได้แปลงไปสู่การปฏิบัติเป็นแผนแม่บทที่เกี่ยวข้อง 4 แผนแม่บท คือ (1) พลังทางสังคม ระดมสรรพกำลัง นำจุดเด่นและศักยภาพของภาคส่วนต่าง ๆ มาเป็นกลไกในการช่วยสร้างโอกาสและแก้ไขปัญหาความไม่เสมอภาค เพื่อไม่ให้เกิดการทิ้งใครไว้ข้างหลัง และเกิดการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมที่แท้จริง (2) เศรษฐกิจฐานราก เน้นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจฐานราก และเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งตนเอง เป็นระบบเศรษฐกิจที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาด้านอื่น ๆ ในพื้นที่ เกิดการสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ของประชากรกลุ่มรายได้น้อยอย่างกระจายและอย่างต่อเนื่อง (3) ความเสมอภาคและหลักประกันทางสังคม มุ่งสร้างความคุ้มครองทางสังคมขั้นต่ำให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างเหมาะสม โดยเป็นสวัสดิการที่ทุกภาคส่วนร่วมกันรับผิดชอบ และการสร้างหลักประกันทางสังคมที่ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและด้อยโอกาส ผ่านกลไกที่สามารถชี้เฉพาะเจาะจงกลุ่มเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ (4) พื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ พัฒนาพื้นที่ในภูมิภาคต่าง ๆ ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น เกิดศูนย์กลางความเจริญในทุกภูมิภาคเพื่อกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมออกไปยังพื้นที่ส่วนอื่น ๆ ของประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชน 

นอกจากนี้ ได้นำร่าง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) มาเป็นกรอบการวิเคราะห์แนวทางการขับเคลื่อนการบูรณาการเพื่อพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม ซึ่งมีหมุดหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ หมุดหมายที่ 7 ไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง และสามารถแข่งขันได้ โดยพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตและแข่งขันได้ SMEs มีศักยภาพสูงในการดำเนินธุรกิจสามารถยกระดับและปรับตัวเข้าสู่การแข่งขันใหม่ SMEs สามารถเข้าถึงและได้รับการส่งเสริมอย่างมีประสิทธิผลจากภาครัฐ หมุดหมายที่ 8 ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภาคและการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษขยายตัวเพิ่มขึ้น ความไม่เสมอภาคในการกระจายรายได้ของภาคลดลง และการพัฒนาเมืองให้มีความน่าอยู่อย่างยั่งยืน มีความพร้อมในการรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทุกรูปแบบ เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างทั่วถึง หมุดหมายที่ 9 ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และคนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม โดยมีเป้าหมายให้ครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นมีโอกาสในการเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม และคนไทยทุกช่วงวัยได้รับความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต 

ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการของแนวทางการขับเคลื่อนการบูรณาการเพื่อพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม เพื่อปิดช่องว่างการพัฒนาที่ยังไม่บรรลุเป้าหมายตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ประกอบด้วย 
1) สร้างระบบและกลไกให้ความช่วยเหลือเด็กนักเรียนยากจนพิเศษเป็นรายบุคคล กลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มนักเรียนยากจนพิเศษ กลุ่มเด็กที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาและไม่ได้ทำงาน (NEETs) และกลุ่มเด็กในครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น ประกอบด้วย มาตรการให้ความช่วยเหลือเฉพาะเป็นรายบุคคล เชื่อมโยงการเรียนรู้ทุกประเภทและเปิดทางเลือกในการเรียนรู้เพื่อให้เกิดการเทียบโอนระหว่างทักษะ ประสบการณ์ กับคุณวุฒิการศึกษา และเกิดการเรียนรู้ต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือครอบครัวของเด็ก โดยเป็นการบูรณาการการทำงานระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม และภาคเอกชน

2) ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากโดยเพิ่มการเข้าถึงดิจิทัลทั้งระบบ กลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มประชากรร้อยละ 40 ที่มีรายได้ต่ำสุด (กลุ่ม Bottom 40) ประมาณ 32.7 ล้านคน และกลุ่มผู้ประกอบการท้องถิ่น/วิสาหกิจชุมชน ประกอบด้วย มาตรการอุดหนุนการเข้าถึงดิจิทัล และเพิ่มศักยภาพการใช้ดิจิทัลทั้งระบบแก่คนจนและกลุ่มเปราะบาง เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการพื้นฐานด้านสาธารณสุข การศึกษา และการประกอบอาชีพ รวมทั้งจูงใจให้เกิดการอบรมพัฒนาทักษะอาชีพ Reskill/Upskill/New skill และพัฒนาศูนย์เรียนรู้ในพื้นที่เพื่อสร้างอาชีพและทักษะการเป็นผู้ประกอบการในยุคชีวิตวิถีใหม่ ตลอดจนบูรณาการฐานข้อมูลคลัสเตอร์ผู้ประกอบการท้องถิ่นกับหน่วยวิจัยและพัฒนาของสถาบันศึกษาระดับจังหวัดในรูปของ Open Data เพื่อเป็นคลังข้อมูลและความรู้กลางที่ผู้ประกอบการ/ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงอย่างเท่าเทียม สำหรับยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ และเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนา การพึ่งตนเองและการจัดการตนเอง โดยเป็นการบูรณาการการทำงานระหว่างกระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ร่วมด้วยภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม และภาคเอกชน

3) พัฒนาหลักประกันและความคุ้มครองทางสังคมให้ครอบคลุม กลุ่มเป้าหมาย คือ คนจนตกหล่นจากมาตรการสวัสดิการแห่งรัฐหรือระบบฐานข้อมูลที่สำคัญ ประกอบด้วย มาตรการปรับปรุงฐานข้อมูลขนาดใหญ่สำหรับการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต (TPMAP) และข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) โดยใช้ผลการค้นหา สอบทานข้อมูลด้วยกลไกในพื้นที่ เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลรายบุคคลให้ครอบคลุมประชากรจากครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นทุกคนและเป็นปัจจุบัน มาตรการเพิ่มระดับการออมในระบบประกันสังคมและการออมภาคสมัครใจ รวมทั้งมาตรการจัดทำระบบให้ความช่วยเหลือในยามวิกฤติจากบทเรียนโควิด-19 โดยใช้ทุนทางสังคมและการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นปัจจัยหลักในการกำหนดรูปแบบ แนวทาง และช่องทางการจัดสรรการเยียวยาช่วยเหลือ โดยเป็นการบูรณาการการทำงานระหว่างศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) / ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กรมการพัฒนาชุมชน ร่วมด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรชุมชนและภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม

4) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการในเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาคให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม กลุ่มเป้าหมาย คือ ประชาชนทุกกลุ่มในเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาค อาทิ กทม. และปริมณฑล ขอนแก่น เชียงใหม่ เมืองในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สงขลา และภูเก็ต  เพื่อกระจายความเจริญ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึง ประกอบด้วย มาตรการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการของเมืองเพื่อรองรับการมีส่วนร่วมของประชาชน อาทิ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคมขนส่ง ระบบดิจิทัล สาธารณสุข และการศึกษา อย่างสอดคล้องกับอัตลักษณ์และความต้องการของพื้นที่ พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการพัฒนาพื้นที่และเมืองร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน โดยวางแผนการพัฒนาให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและภัยพิบัติ และเสริมสร้างสมรรถนะประชาชนท้องถิ่นในทุกระดับ ให้มีศักยภาพการบริหารจัดการพื้นที่และเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมาตรการส่งเสริมแหล่งเรียนรู้ในเมืองเพื่อประชาชนทุกกลุ่ม  โดยส่งเสริมให้ภาคส่วนต่าง ๆ สร้างและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย มีคุณภาพ และตอบสนองต่อความต้องการประชาชน ภายใต้มาตรการทางภาษีเพื่อจูงใจ โดยเป็นการบูรณาการการทำงานระหว่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  กระทรวงการคลัง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมด้วยองค์กรชุมชนและภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายฝ่ายเลขานุการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการบูรณาการเพื่อพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม ตามที่ประชุมเห็นชอบ

ข่าว :  ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบูรณาการเพื่อพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม
ภาพ : จักรพงศ์ สวภาพมงคล

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์