สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นกลุ่มภาคเอกชนต่อ "ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570)” เพื่อร่วมปรับปรุงร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ให้มีความสมบูรณ์ สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ และสามารถตอบสนองความต้องการของแต่ละภาคส่วนได้อย่างแท้จริง ก่อนประกาศใช้ในเดือนตุลาคม 2565
วันนี้ (2 ธันวาคม 2564) นายวิโรจน์ นรารักษ์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมระดมความเห็นต่อ "ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570)” ณ ห้องประชุม Ballroom 1 และ 2 โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท ประตูน้ำ กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม อาทิ นายชยานนท์ กฤตยาเชวง รองประธานคณะกรรมการธุรกิจปศุสัตว์และแปรรูป หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายศุภชัย จินตนาเลิศ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายสมบัติ เปรมประภา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย นายเกรียงพล ปิยะเอกชัย ผู้ช่วยประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย และผู้แทนภาคเอกชน จำนวนประมาณ 110 คน
รองเลขาธิการฯ กล่าวว่า สศช. อยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566–2570) เพื่อใช้เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศต่อเนื่องจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560–2565) ซึ่งจะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 2565 โดยร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 นั้น เป็นแผนพัฒนาฯ ฉบับแรก ที่เริ่มต้นกระบวนการยกร่างกรอบแผนภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และจะมีผลในการใช้เป็นกรอบเพื่อกำหนดแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิบัติการในช่วง 5 ปีที่สองของยุทธศาสตร์ชาติ โดยการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศในระยะของร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ได้น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักนำทางในการขับเคลื่อนและวางแผนการพัฒนาประเทศ ตลอดจนยึดโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในการที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโต สังคมก้าวหน้า ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลในระยะยาว
การจัดประชุมระดมความเห็นร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ในครั้งนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับสาธารณชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคีการพัฒนาต่าง ๆ เกี่ยวกับร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 รวมถึงเปิดโอกาสให้ภาคีการพัฒนาในระดับพื้นที่/กลุ่มเฉพาะ ร่วมกันแสดงความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ทั้งในระดับภาพรวม ได้แก่ เป้าหมาย กลยุทธ์ ยุทธศาสตร์ และแนวทางหลักในร่างแผนฯ และระดับหมุดหมาย ได้แก่ เป้าหมาย ตัวชี้วัดและกลยุทธ์ในแต่ละหมุดหมาย ให้มีความสมบูรณ์และสอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ สามารถตอบสนองความต้องการของแต่ละภาคส่วนได้อย่างแท้จริง
ในกระบวนการจัดทำแผนฯ 13 สศช. ยังคงมุ่งเน้นเปิดโอกาสให้ภาคีการพัฒนาและสาธารณชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อแผนฯ อย่างกว้างขวาง โดยเริ่มระดมความเห็นต่อกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน 2564 ในระดับกลุ่มจังหวัด 18 กลุ่มทั่วประเทศ และเฉพาะกลุ่มในส่วนกลาง ทั้งกลุ่มภาคราชการ ภาคเอกชน ภาควิชาการ อดีตผู้บริหาร สศช. ผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน และสื่อมวลชน รวมถึงยังจัดให้มีช่องทางออนไลน์และสื่อสาธารณะเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ร่วมแสดงความคิดเห็นได้โดยสะดวก เพื่อให้ได้ความเห็นต่อทิศทางการพัฒนาที่หลากหลาย สามารถแก้ปัญหา และตอบสนองความต้องการของคนไทยในทุกพื้นที่และทุกอาชีพได้อย่างแท้จริง
รองเลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ภายหลังการระดมความเห็นในครั้งนี้ สศช. จะนำความคิดเห็นที่ได้จากการประชุมมาประมวลและปรับปรุงร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ให้มีความครบถ้วน สมบูรณ์ยิ่งขึ้น แล้วนำเสนอต่อสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หลังจากนั้นจะเสนอร่างดังกล่าวต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะรัฐมนตรี และรัฐสภา ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้แผนฯ อย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม 2565 ต่อไป
หลักจากนั้น นายสุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สศช. ได้นำเสนอร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ว่า ร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 มีเป้าหมายหลักของการพัฒนาในระยะ 5 ปีของแผนรวม 5 เป้าหมาย ได้แก่ (1) การปรับโครงสร้างการผลิตสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม (2) การพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่ (3) การมุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม (4) การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน และ (5) การเสริมสร้างความสามารถของประเทศในการรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลง ภายใต้บริบทโลกใหม่ ร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ได้กำหนดหมุดหมายการพัฒนา จำนวน 13 ประการ แบ่งเป็น 4 มิติ ได้แก่
1. มิติภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย ประกอบด้วย หมุดหมายที่ 1 ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง หมุดหมายที่ 2 ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน หมุดหมายที่ 3 ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก หมุดหมายที่ 4 ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง หมุดหมายที่ 5 ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค หมุดหมายที่ 6 ไทยเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของอาเซียน
2. มิติโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม ประกอบด้วย หมุดหมายที่ 7 ไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง และสามารถแข่งขันได้ หมุดหมายที่ 8 ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน หมุดหมายที่ 9 ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และคนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม
3. มิติความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย หมุดหมายที่ 10 ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ หมุดหมายที่ 11 ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
4. มิติปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ ประกอบด้วย หมุดหมายที่ 12 ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต และหมุดหมายที่ 13 ไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน
ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปสามารถแสดงความคิดเห็นต่อร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ของ สศช. ได้ทางเว็บไซต์ www.nesdc.go.th, Facebook สภาพัฒน์, Twitter สภาพัฒน์, Line สภาพัฒน์ Update, Email : plan13@nesdc.go.th และ ตู้ ปณ.49 ปทฝ.หลานหลวง กรุงเทพฯ 10102
-------------------------
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
2 ธันวาคม 2564 |