เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ดร.วิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงวิชาการ เรื่อง การขับเคลื่อนงานการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ของไทย ในหัวข้อ "เหลียวหลัง แลหน้า สู่ความท้าทายในการจัดทำแผนด้วย SEA” ภายใต้โครงการขับเคลื่อนการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ประจำปีงบประมาณ 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล Zoom Meeting โดยมี ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา บริษัทที่ปรึกษา และเจ้าหน้าที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เข้าร่วมประชุม
การจัดสัมมนาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการจัดทำแผนด้วยกระบวนการ SEA ร่วมกับหน่วยงานที่มีประสบการณ์ในการจัดทำ SEA พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อน SEA ที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยช่วงเช้า เป็น "การสรุปผลการขับเคลื่อนการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ของประเทศ” นำเสนอโดย ดร.วิเทศ ศรีเนตร ที่ปรึกษาโครงการ พร้อมรับฟังความคิดเห็นต่อแนวทางการขับเคลื่อน SEA ของประเทศ จากนั้นเป็นการนำเสนอ "การดำเนินงานโครงการขับเคลื่อนการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ในปีงบประมาณ 2564” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุระ พัฒนเกียรติ หัวหน้าโครงการ และในช่วงสุดท้ายของช่วงเช้า เป็นการนำเสนอ "พัฒนาการของแนวคิดการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์” โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมรับฟังความคิดเห็น
สำหรับใน ช่วงบ่าย เป็นการเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดทำแผนด้วยกระบวนการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนา ประกอบด้วยศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มผลักดัน SEA นายสราวุธ ชีวะประเสริฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์น้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ดำเนินการเสวนาโดย ดร.อรันย์ ศรีรัตนา ทาบูกานอน ผู้เชี่ยวชาญด้าน SEA พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เข้าร่วมงานสัมมนา
ดร.วิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการฯ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา สภาพัฒน์ ได้ขับเคลื่อนงาน SEA มาอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจด้าน SEA ให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ผ่านการจัดฝึกอบรมทางวิชาการด้าน SEA ให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำแผน และผู้บริหารของหน่วยงานที่จะต้องจัดทำ SEA เพื่อให้มีความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของ SEA และสามารถนำ SEA ไปใช้ในกระบวนการวางแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการปรับปรุงและพัฒนาแนวทางการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA Guideline) ของประเทศให้มีความเหมาะสมกับบริบทของประเทศ ประกอบกับจัดทำ SEA นำร่องในพื้นที่จังหวัดระยองและเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว
นอกจากนี้ สศช. ยังร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดันการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์มาใช้กับการวางแผนพัฒนารายสาขาและเชิงพื้นที่ เช่น การจัดทำ SEA ในพื้นที่ลุ่มน้ำของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และการจัดทำ SEA ด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นต้น และมีการประเมินผลกระบวนการจัดทำ SEA ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในกระบวนการจัดทำ SEA รวมทั้ง ได้จัดทำร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ พ.ศ. .... ซึ่งกำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบและขับเคลื่อนการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ขึ้น เพื่อขับเคลื่อนงาน SEA ในระยะต่อไป และกำหนดประเภทของแผนที่ควรทำ SEA ในเบื้องต้น ได้แก่ (1) แผนคมนาคม (2) พลังงาน (3) แผนการบริหารจัดการแร่ (4) แผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (5) ผังเมือง (6) ชายฝั่งทะเล (7) เขตเศรษฐกิจพิเศษและแผนนิคมอุตสาหกรรม และ (8) แผนพื้นที่อนุรักษ์/พื้นที่มรดกโลก
รองเลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า การขับเคลื่อน SEA ในช่วงที่ผ่านมาถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการผลักดัน SEA ให้เป็นที่รู้จัก มีการพัฒนาและสร้างความรู้ความเข้าใจในหลักการของ SEA และได้มีการนำไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม การดำเนินงาน SEA ที่ผ่านมายังมีข้อจำกัดเชิงเทคนิคในการใช้ SEA ในกระบวนการจัดทำแผน ทำอย่างไรที่จะผนวก SEA เข้ากับกระบวนการวางแผนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการประยุกต์หลักการในการพัฒนาและประเมินผลทางเลือก ตลอดจนวิธีการมีส่วนร่วมที่เหมาะสม
สำหรับในปีนี้ สศช. จัดทำโครงการขับเคลื่อน SEA ที่เน้นการพัฒนาองค์ความรู้และศักยภาพของบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแผนที่ต้องจัดทำ SEA ให้มีความรู้ในเชิงลึกเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการพัฒนาและประเมินทางเลือก การมีส่วนร่วม ตลอดจนการผนวกผลของ SEA เข้ากับแผนอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ มีการพัฒนาจัดทำคู่มือ SEA เชิงประยุกต์ เพื่อประกอบการจัดทำ SEA ในการพัฒนาเชิงพื้นที่ รวมทั้งพัฒนารูปแบบการขับเคลื่อน SEA ของประเทศให้มีความเหมาะสม และสามารถนำไปใช้ในการขับเคลื่อน SEA ในทางปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ภาพ/ข่าว : เมฐติญา วงษ์ภักดี |