เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม 2564 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 13 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (13th IMT-GT Summit) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีดาโต๊ะ ซรี อิสมาอิล ซาบรี บิน ยาขอบ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เป็นประธานการประชุมพร้อมด้วย นายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย นายอาเหม็ด เอ็ม ซาอีด รองประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย ดาโต๊ะ ลิม จ็อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน ร่วมด้วยรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสของประเทศสมาชิกแผนงาน IMT-GT เข้าร่วมการประชุม โดยของไทยคือ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ผู้นำแผนงาน IMT-GT ของ 3 ประเทศได้รับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานของแผนงาน IMT-GT ในภาพรวม ดังนี้
1. แผนงาน/โครงการสำคัญ ที่มีความคืบหน้าภายใต้แผนดำเนินงานระยะห้าปี พ.ศ. 2560 – 2564 อาทิ (1) แผนงานการก่อสร้างความเชื่อมโยงทางกายภาพ จำนวน 48 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 3.9 หมื่นล้านเหรียญ สรอ. (ประมาณ 1.24 ล้านล้านบาท) โดยโครงการของไทยที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ อาทิ โครงการด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ โครงการท่าอากาศยานเบตง และโครงการเมืองยาง จังหวัดสงขลา และ (2) โครงการใน 7 สาขาความร่วมมือที่ดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน 33 โครงการจากทั้งหมด 93 โครงการ อาทิ โครงการท่องเที่ยวเชิงแนวคิด การลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ระหว่างอุทยานธรณีโลก 3 ประเทศ โครงการศึกษาช่องว่างมาตรฐานฮาลาล โครงการเกษตรกรรุ่นใหม่ การจัดทำกรอบความร่วมมือด้านการศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง และการกักกัน (CIQ)
2. ความคืบหน้าในการจัดทำแผนดำเนินงานระยะห้าปี พ.ศ. 2565 – 2569 ภายใต้วิสัยทัศน์ พ.ศ. 2579 ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ เน้นการขับเคลื่อนโดยภาคเอกชน การเติบโตอย่างสมดุล การลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนากลไกการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้ง ได้รับทราบถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อดำเนินการตามแผนปฏิบัติการของกรอบการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน (SUDF) ของแผนงาน IMT-GT ซึ่งมุ่งเน้นให้เกิดการลงทุนในเรื่องการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การลดมลพิษจากภาคการขนส่ง และการใช้ประโยชน์ควบคู่กับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีมูลค่าการลงทุนรวม 5,400 ล้านเหรียญ สรอ. (ประมาณ 1.72 แสนล้านบาท)
นายกรัฐมนตรีของไทยได้ให้ข้อคิดเห็นว่าแผนการลงทุนตามแผนปฏิบัติการภายใต้กรอบการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน (SUDF) ของแผนงาน IMT-GT มีความสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวของไทยที่กำลังดำเนินการผลักดันอยู่ และจะต้องเร่งการระดมทุนทั้งจากภายในประเทศและจากแหล่งทุนอื่น ๆ อาทิ กองทุนของอาเซียนและธนาคารพัฒนาเอเชีย ดังเช่นกระทรวงการคลังของไทยที่ได้ออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนเพื่อการระดมทุนในโครงการสำคัญ
ในโอกาสเดียวกันนี้ นายกรัฐมนตรีของไทยยังได้ให้ข้อเสนอแนะ 3 ประการเพื่อพลิกโฉมอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งของ IMT-GT ประกอบด้วย (1) เร่งพัฒนาและต่อยอดโครงการเพื่อสนับสนุนการเป็นจุดหมายปลายทางเดียวกันด้านการท่องเที่ยว (2) มุ่งเน้นการผลิตสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูงที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และความต้องการของตลาด เช่น ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพาราแปรรูป และ (3) พัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานฮาลาลให้มีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับของตลาดโลก ควบคู่กับการเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันในอุตสาหกรรมฮาลาล ขณะเดียวกันยังเสนอแผนงาน IMT-GT พัฒนาโครงข่ายระบบคมนาคมให้เชื่อมต่อกันอย่างไร้รอยต่อ ปรับปรุงกฎระเบียบให้เกื้อหนุนกัน คำนึงถึงความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม และยกระดับศักยภาพแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาอนุภูมิภาค
นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอความสำเร็จของ "โครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” ที่ช่วยสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 2,330 ล้านบาท และประกาศความพร้อมในการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำเข้าไทยโดยไม่ต้องกักตัวตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ยังได้เสนอให้ผู้นำของมาเลเซียและอินโดนีเซียสร้างความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ประสบการณ์การดำเนินโครงการในลักษณะเดียวกับโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ รวมทั้งร่วมกันกำหนดมาตรฐานด้านการท่องเที่ยววิถีใหม่ภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้มีมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยอย่างรัดกุม อนึ่ง มาเลเซียได้เริ่มเปิดพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในเกาะลังกาวี ขณะที่อินโดนีเซียเริ่มทดลองแล้วที่จังหวัดเรียวไอส์แลนด์
ในช่วงท้ายของการประชุมฯ ผู้นำของทั้งสามประเทศได้ร่วมกันให้การรับรองแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 13 แผนงาน IMT-GT โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการดำเนินงานร่วมกันในระดับอนุภูมิภาคเพื่อสนับสนุนความพยายามของแต่ละประเทศในการบรรเทาผลกระทบของโรคโควิด-19 และเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเพื่อจะก้าวข้ามวิกฤตดังกล่าว ยินดีต่อความก้าวหน้าและความสำเร็จของเจ็ดสาขาความร่วมมือและการกำหนดทิศทางการดำเนินงานในระยะถัดไป รวมทั้งยินดีต่อความก้าวหน้าในการจัดทำร่างแผนดำเนินงานระยะห้าปี ปี พ.ศ. 2565 - 2569 และความร่วมมือกับหุ้นส่วนการพัฒนาของแผนงาน IMT-GT
ในปี 2565 รัฐบาลไทยจะทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 14 แผนงาน IMT-GT และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 28 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องภายใต้แผนงาน IMT-GT
ข่าว : กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ภาพ : สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล
|