ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
การสัมมนา เรื่อง ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ Northeastern Economic Corridor : NeEC-Bioeconomy : ศักยภาพ โอกาส และความท้าทาย
วันที่ 20 ก.ย. 2564
เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดสัมมนา เรื่อง "ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ Northeastern Economic Corridor: NeEC – Bioeconomy : ศักยภาพ โอกาส และความท้าทาย ด้วยรูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom Meeting) 

โดยมีนายดนุชา  พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. กล่าวเปิดการสัมมนา โดยเน้นถึงความสำคัญของการพัฒนาเชิงพื้นที่ต่อการพัฒนาประเทศ และการขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค และได้รับเกียรติจาก ดร.เสนาะ  อูนากูล ประธานคณะที่ปรึกษากิตติมศักดิ์เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และอดีตรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้กรุณากล่าวถึงประสบการณ์และความคิดเห็นผ่านข้อเขียนถึงการพัฒนาเชิงพื้นที่ตั้งแต่ช่วงที่เริ่มมีการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard) จนถึงปัจจุบัน และให้ข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและโอกาส และมีความท้าทายในการวางแผนและขับเคลื่อนการพัฒนาโดยใช้เศรษฐกิจชีวภาพเป็นตัวนำที่สามารถนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่พืชเศรษฐกิจหลักในพื้นที่ เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ข้าว ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับชุมชน

ในพื้นที่ และสนับสนุนธุรกิจทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งธุรกิจชุมชนในห่วงโซ่อุปทานให้เติบโตไปพร้อมกัน ทั้งนี้ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งจากภาครัฐ เอกชน ภาคการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน NeEC – Bioeconomy ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและประเทศไทยได้อย่างยั่งยืนสำหรับช่วงของการอภิปรายมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิได้ให้เกียรติมาเสนอมุมมองต่อการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประกอบด้วย 1) ดร.ณรงค์ชัย  อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 2) ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร  ศิริสัมพันธ์ ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี 3) นายชาญวิทย์  อมตะมาทุชาติ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน 4) นายอิสระ  ว่องกุศลกิจ ประธานกิตติมศักดิ์หอการค้าไทย 5) นายเขม  หวั่งหลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอ็มเอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด 6) นางสาวซ่อนกลิ่น  พลอยมี รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และ 7) นายปัญญา  ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร โดยมีนายเอนก  มีมงคล รองเลขาธิการ สศช. เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย และมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนเข้าร่วมการสัมมนารวมประมาณ 130 คน 

ในการสัมมนาได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นและให้ข้อเสนอแนะอย่างกว้างขวาง สรุปได้ว่าการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย มีศักยภาพและโอกาสในการพัฒนาให้เป็นฐานเศรษฐกิจชีวภาพ หรือ NeEC - Bioeconomy ของประเทศ เนื่องจากความได้เปรียบในด้านที่ตั้งซึ่งสามารถพัฒนาเชื่อมโยงไปยังประเทศในภูมิภาคอื่นๆ ของโลก (เช่น การพัฒนาตามแนวระเบียงเศรษฐกิจในภูมิภาคซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปยังจีน) พื้นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งสามารถนำมาใช้ต่อยอดสู่อุตสาหกรรมชีวภาพด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ตลอดห่วงโซ่การผลิต ซึ่งรวมถึงการต่อยอดผลผลิตทางการเกษตรสู่พลังงานหมุนเวียน ความพร้อมของภาคการศึกษาทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่ในการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ผู้ประกอบการ และความก้าวหน้าของการก่อสร้างระบบคมนาคมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเชื่อมโยงกับโครงข่ายหลักของประเทศและประเทศในภูมิภาค รวมทั้งสิทธิประโยชน์ที่ส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจฐานชีวภาพในปัจจุบันและแนวทางการให้สิทธิประโยชน์ในระยะต่อไปที่จะสนับสนุนการเชื่อมโยงกิจกรรมในลักษณะคลัสเตอร์และห่วงโซ่มูลค่า ดังนั้น การพัฒนา NeEC - Bioeconomy จึงเป็นโอกาสของเกษตรกร SMEs และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ รวมทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่ที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรม Bioeconomy ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาจำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมและผลักดันจากทุกภาคส่วนให้เกิดสภาวะแวดล้อมในพื้นที่ที่ทำให้เกิดการร่วมคิด วางแผนและขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างบูรณาการเพื่อผลักดันนโยบายให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่และประเทศโดยรวม

ข่าว/ภาพ : กองยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์