ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
สภาพัฒน์จัดระดมความคิดกรอบแผนฯ 13 กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดระดมความคิดเห็น"กรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570)” ระดับภูมิภาคทั่วประเทศ และกลุ่มเฉพาะ รวมทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อนำความเห็นไปใช้ในการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศต่อเนื่องจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560– 2565) โดยแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เป็นเสมือนก้าวที่ 2 ของการวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาวตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 นายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมระดมความเห็นต่อ "กรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570)” ระดับกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 (กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี)  ณ โรงแรมเทวมันตร์ทรา รีสอร์ท จังหวัดกาญจนบุรี โดยได้รับเกียรติจากผู้บริหารระดับจังหวัดที่เข้าร่วมประชุม อาทิ นายชำนาญ ชื่นตา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี และนายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี นายชูชีพ พงษ์ไชย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี และผู้ร่วมประชุมประกอบด้วย หน่วยงานราชการจากส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจเอกชน เครือข่ายภาคประชาสังคม และนักวิชาการ จำนวนประมาณ 150 คน 

นายวิชญายุทธ บุญชิต กล่าวว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  (สศช.) มีภารกิจสำคัญประการหนึ่ง คือ การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เพื่อใช้เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศต่อเนื่องจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2565) ที่จะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 2565 โดยแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เป็นเสมือนก้าวที่ 2 ของการวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาวตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 

กระบวนการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ผ่าน ๆ มา สศช. ได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการแสดงความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดทิศทางและแนวทางการพัฒนาสำคัญของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ในกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ก็เช่นกัน สศช. ยังคงมุ่งเน้นเปิดโอกาสให้ภาคีการพัฒนาและสาธารณชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อแผนฯ อย่างกว้างขวาง ประกอบกับในมาตรา 15 ของพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2561 กำหนดว่าในการจัดทำแผนพัฒนาฯ นั้น ต้องจัดทำกรอบที่ผ่านความเห็นจากประชาชนก่อนเป็นอันดับแรก จึงจะดำเนินการในขั้นตอนของการจัดทำยุทธศาสตร์ของแผนฯ ในรายละเอียดต่อไป ดังนั้น สศช. จึงจัดกิจกรรมการระดมความคิดเห็นต่อกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2564 ในหลายรูปแบบ ทั้งการจัดเวทีระดมความเห็นในระดับกลุ่มจังหวัดทั่วประเทศ การระดมความเห็นเฉพาะกลุ่มในส่วนกลาง รวมถึงการจัดให้ประชาชนทั่วไปได้ร่วมแสดงความคิดเห็นได้โดยสะดวกและทั่วถึงผ่านช่องทางออนไลน์และสื่อสาธารณะ 

รองเลขาธิการฯ  กล่าวว่า ในการจัดทำร่างกรอบแผนนั้น มีความจำเป็นที่จะต้องทราบสิ่งสำคัญ ๆ 3 ประการ คือ (1) สภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่พึงปรารถนาในปัจจุบัน  (2) สภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่พึงปรารถนาในอนาคต (3) การกำหนดสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลง และวิธีการที่จะเปลี่ยนแปลง ซึ่งทางสำนักงานฯ ได้ยกร่างขึ้นเพื่อที่จะเป็นกรอบ ในการระดมความคิดเห็นในวันนี้ และภายหลังการระดมความเห็นในครั้งนี้ สศช. จะนำความคิดเห็นที่ได้มาประมวลและปรับปรุงกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ให้มีความครบถ้วน สมบูรณ์ยิ่งขึ้น แล้วนำเสนอต่อสภาพัฒนาฯ หลังจากนั้น จะแต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 แต่ละด้าน เพื่อจัดทำร่างยุทธศาสตร์แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ที่สอดคล้องกับกรอบที่จัดทำไว้ และจะมีการระดมความเห็นร่วมกับภาคีการพัฒนาต่อร่างยุทธศาสตร์ของแผนฯ ในช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องต้นปี 2565 ต่อไป

จากนั้น เป็นการนำเสนอ "ร่างกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13” โดย ทปษ.นุชจรี วงษ์สันต์ ซึ่งกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ได้กำหนดแนวทางและหมุดหมายการพัฒนาให้ตอบสนองกับบริบทการพัฒนาที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ 6 ถึงปีที่ 10 ของยุทธศาสตร์ชาติ สรุปได้ดังนี้ 

สาระของกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 มีเป้าหมายเพื่อพลิกโฉมประเทศไทย สู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน โดยสิ่งที่ต้องทำ คือ การเปลี่ยนผ่านประเทศ หรือการ transform ประเทศใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ 

1. การเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจฐานทรัพยากร ไปสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมและองค์ความรู้หรือการมุ่งสู่เศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีเป้าหมายให้เศรษฐกิจไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูง บนพื้นฐานของการสร้างมูลค่าเพิ่ม จากการพัฒนา ต่อยอดและใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม พร้อมกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ
 
2. การเปลี่ยนผ่านจากสังคมที่มีเพียงบางกลุ่มที่เข้าถึงโอกาสไปสู่สังคมที่มีโอกาสสำหรับทุกคนและทุกพื้นที่ หรือการสร้างสังคมแห่งโอกาสและความเสมอภาค โดยทุกกลุ่มคนมีโอกาสในการเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างเต็มศักยภาพ ได้รับความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ มีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค และประเทศมีความเหลื่อมล้ำลดลง ทั้งในเชิงธุรกิจ พื้นที่ รายได้ และความมั่งคั่ง 

3.  การเปลี่ยนผ่านจากการผลิตและการบริโภคที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไปสู่วิถีชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความปลอดภัยหรือการเสริมสร้างวิถีชีวิตที่ยั่งยืน โดยทุกภาคส่วนในสังคมมีรูปแบบการดำเนินชีวิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เอื้อให้เกิดความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งสามารถรับมือและมีภูมิคุ้มกันจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป 

4.  การเปลี่ยนผ่านจากกำลังคนทักษะต่ำและภาครัฐที่ล้าสมัย ไปสู่กำลังคนและภาครัฐที่มีสมรรถนะสูง เพื่อเอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่การเป็นเศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน

ภายใต้องค์ประกอบในแต่ละด้าน จะมีการกำหนด "หมุดหมาย” ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงสิ่งที่ประเทศไทยปรารถนาจะ ‘เป็น’ มุ่งหวังจะ ‘มี’ หรือต้องการจะ ‘ขจัด’ ในช่วงระยะเวลา 5 ปีของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เพื่อให้การขับเคลื่อนเป้าหมายการพลิกโฉมประเทศสู่การเป็น เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน ไปสู่การปฏิบัติมีทิศทางที่ชัดเจนและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม จำนวน 13 หมุดหมาย คือ (1) ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูปมูลค่าสูง (2) ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่าและความยั่งยืน (3) ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน (4) ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง (5) ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและจุดยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค (6) ไทยเป็นฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและบริการดิจิทัลของอาเซียน (7) มุ่งลดความเหลื่อมล้ำระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่และ SMEs (8) มุ่งลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ (9) มุ่งเพิ่มพลวัตการเลื่อนชั้นทางสังคมและลดความเหลื่อมล้ำเชิงรายได้และความมั่งคั่ง (10) ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ (11) ไทยสามารถปรับตัวและลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ (12) ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต และ (13) ไทยมีภาครัฐที่มีสมรรถนะสูง

การระดมความเห็นต่อกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ที่ สศช. จัดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2564 นี้ประกอบด้วยการจัดเวทีระดมความเห็นในระดับกลุ่มจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 18 ครั้ง การระดมความเห็นภาคีการพัฒนาจำนวน 7 กลุ่ม ได้แก่ ภาคราชการ ภาคเอกชน กลุ่มนักวิชาการ/สถาบันการศึกษา กลุ่มเยาวชน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มสื่อมวลชน และกลุ่มอดีตผู้บริหาร สศช.

นอกจากนี้ ประชาชนทั่วไปสามารถแสดงความคิดเห็นต่อกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ของ สศช. ได้ทางเว็บไซต์ www.nesdc.go.th, Facebook สภาพัฒน์, Twitter สภาพัฒน์, Line สภาพัฒน์ Update, Email :  plan13@nesdc.go.th แบบสอบถามออนไลน์ และตู้ ปณ.49 ปทฝ.หลานหลวง กรุงเทพฯ 10102

ข่าว/ภาพ  : กองยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กทว.)

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์