ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
การประชุมระดับรัฐมนตรีเอเปคด้านการปฏิรูปโครงสร้าง ครั้งที่ 3
วันที่ 16 มิ.ย. 2564 (จำนวนผู้เข้าชม  303)
วันนี้ (16 มิถุนายน 2564) นายสุพัฒนพงษ์  พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะรัฐมนตรีกำกับการบริหารราชการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีเอเปคด้านการปฏิรูปโครงสร้าง ครั้งที่ 3 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ณ กระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (นายวันฉัตร  สุวรรณกิตติ) โดยการประชุมมีนายเดวิด  คลาร์ค (Hon. Dr. David Clark) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และกิจการผู้บริโภค นิวซีแลนด์ เป็นประธานในการประชุม มีสาระสำคัญดังนี้

รัฐมนตรีของเขตเศรษฐกิจได้หารือถึงแนวทางการฟื้นตัวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนจากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง โดยพิจารณาถึงผลกระทบในระยะยาวจากมุมมองแบบองค์รวมเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน อาทิ การปฏิรูปกฎระเบียบสังคมและสิ่งแวดล้อม การสนับสนุนนโยบายที่เป็นมิตรต่อนวัตกรรม การมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงินสีเขียว รวมทั้งหารือถึงความสัมพันธ์ระหว่างนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและจุลภาคที่ส่งเสริมการฟื้นตัวอย่างมีประสิทธิภาพจากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของทั้งนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและเศรษฐกิจจุลภาคต่อการฟื้นตัวอย่างครอบคลุมและยั่งยืน รวมทั้งสร้างความยืดหยุ่นและลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมฯ ยังได้ร่วมกันให้การรับรองแถลงการณ์ร่วมของการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการปฏิรูปโครงสร้างเอเปค ครั้งที่ 3 ซึ่งมีสาระสำคัญคือการตระหนักถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การปฏิรูปโครงสร้าง และการร่วมมือภายในเอเปคเพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ สมาชิกเอเปคยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ยืดหยุ่น และยั่งยืน (Inclusiveness, Resilience and Sustainability) รวมทั้งมีการเห็นชอบในหลักการต่อเอกสารสำคัญ 2 ฉบับ ได้แก่ การยกระดับวาระการปฏิรูปโครงสร้างเอเปคปี 2564 - 2568 (Enhanced APEC Agenda for Structural Reform: EAASR) ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินการด้านปฏิรูปโครงสร้างเอเปคในช่วงระยะเวลาต่อไป และแผนปฏิบัติการเอเปค เรื่องความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจระยะที่ 3 (The Third Ease of Doing Business Action Plan) ตลอดจนตระหนักถึงความสำคัญของการจัดทำรายงานนโยบายเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Policy Report: AEPR) ประจำปี 2564 เรื่องการปฏิรูปโครงสร้างและงานในอนาคต และยินดีกับหัวข้อรายงาน ประจำปี 2565 เรื่องการปฏิรูปโครงสร้างและการฟื้นฟูอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

รองนายกรัฐมนตรีฯ ยังได้ใช้โอกาสนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวผ่านการปฏิรูปโครงสร้างที่มีประสิทธิภาพ โดยไทยได้ให้ความสำคัญกับนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อต่อสู้กับสภาวะโลกร้อน หรือการก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Decarbonization) และมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) โดยเน้นย้ำการปฏิบัติตามข้อตกลงปารีสในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (CO2) นอกจากนี้ ยังได้แลกเปลี่ยนแนวทางที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งประกอบด้วย 5 แนวทางที่สำคัญ ได้แก่ (1) การดำเนินการตามแผน 30/30 ที่จะผลิตรถยนต์ที่ไม่ปล่อยมลพิษ (Zero Emission Vehicle: ZEV) ร้อยละ 30 ในปี 2573 (2) การส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนที่มีต้นทุนที่แข่งขันได้ เป็นธรรม และเข้าถึงได้ (3) การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานทุกสาขาร้อยละ 30 ในปี 2580 ตามแผนอนุรักษ์พลังงาน (Energy Efficiency Plan: EEP) (4) การผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติของไทยในการฟื้นตัวอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหลังยุคโควิด-19 และ (5) การส่งเสริมการเพิ่มสัดส่วนพื้นที่ป่าและพื้นที่สีเขียวทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ไทยยังแสดงความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปี 2565 โดยมุ่งหวังที่จะทำงานร่วมกับเขตเศรษฐกิจเอเปคอย่างใกล้ชิดเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปโครงสร้างหลังโควิด-19 และเน้นย้ำว่าการฟื้นตัวจากภาวะวิกฤติจะต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยั่งยืน ครอบคลุม และมีนวัตกรรม เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม และป้องกันเศรษฐกิจจากวิกฤติในอนาคต

ข่าว : กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ (กปร.)
ภาพ : เมฐติญา  วงษ์ภักดี

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์