ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
“เลขาธิการ สศช.” ถอดประสบการณ์ ยกการบ้าน 8 ข้อกระตุ้นชาวสภาพัฒน์ ชี้ “โควิด-19” คือโอกาสสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก
วันที่ 18 ก.ย. 2563 (จำนวนผู้เข้าชม  76)
เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2563 ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ "สศช. กับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติด้วยงบประมาณ 2564” โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สศช. จากทุกสายงานเข้าร่วมการประชุมอย่างพร้อมเพรียง

ในช่วงเช้า ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร  ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้บรรยายหัวข้อ "ถอดบทเรียนประสบการณ์ในฐานะ ลศช. จุดอ่อน จุดแข็ง ของ สศช. และความคาดหวังต่อบทบาทของ สศช.ในระยะต่อไป” ซึ่งสรุปความตอนหนึ่งว่า ได้เข้ามารับตำแหน่งที่ สศช. ในช่วงจังหวะที่มีการเปลี่ยนแปลง และมีเวลาทำงานอย่างจำกัดประมาณ 2 ปีเศษ แม้มีหลายภารกิจที่สำเร็จลุล่วง อาทิ การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) อย่างยั่งยืน การจัดตั้งสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา และโครงการภายใต้กรอบนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ หรืองบเงินกู้ 400,000 ล้านบาท แต่ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องฝากชาวสภาพัฒน์ร่วมกันขับเคลื่อนต่อไป ดังนี้ 

(1) การสร้าง Growth Poles เพื่อกระจายความเจริญสู่ศูนย์กลางความเติบโตในภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันได้ผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) เสร็จแล้ว จึงขอฝากให้ สศช. ร่วมกันผลักดันในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไปด้วย

(2) การเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงเครือข่ายการจัดทำนวัตกรรมเชิงนโยบายในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Regional Innovation Centre: RIC) เพื่อยกระดับความสามารถของไทยสู่การเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมเชิงนโยบายในภูมิภาค โดยเฉพาะในกลุ่ม CLMV 

(3) การเชื่อมโยงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) กับแผน 3 ระดับของประเทศ ในฐานะที่ สศช. เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) 

(4) การลดความเหลื่อมล้ำ โดย สศช. เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการบูรณาการเพื่อพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม ซึ่งที่ผ่านมา มีเครื่องมือ TPMAP ที่เป็นระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ บริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนทุกช่วงวัย และการแก้ไขปัญหาความยากจนและเหลื่อมล้ำแบบชี้เป้า

(5) สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา เป็นตัวช่วยของ สศช. ในการศึกษาวิจัยเพื่อการคาดการณ์สถานการณ์/แนวโน้มการพัฒนาในอนาคต อีกทั้งยังสามารถเป็นสถานที่ที่คนสภาพัฒน์ได้เข้าไปเรียนรู้เพิ่มเติมประสบการณ์ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสถาบันยังไม่ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับ สศช. มากนัก เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการต่อไป 

(6) การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ คนสภาพัฒน์ต้องไม่มองเพียงภาพเศรษฐกิจและสังคมในระดับมหภาค แต่ต้องมองในระดับรายภาคส่วน (Sector) ด้วย ซึ่งจำเป็นต้องมีข้อมูลและผู้เชี่ยวชาญที่มากขึ้นเพื่อตอบโจทย์เรื่องนี้ 

(7) การพัฒนาตัวชี้วัดเศรษฐกิจมหภาค เนื่องจากข้อมูลที่เรามีอยู่ยังไม่เพียงพอและไม่ทันการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกยุคโควิด-19 จำเป็นต้องหาตัวชี้วัดที่สามารถสะท้อนสภาวะเศรษฐกิจและลงไปถึงระดับพื้นที่ได้ นอกจากนี้ ปัญหาหนึ่งของประเทศไทยคือการที่ส่วนราชการออกแบบนโยบายเพื่อนำไปปฏิบัติ แต่ผลลัพธ์ของนโยบายกลับไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ ดังนั้น การมีเวทีที่เชื่อมโยงกับภาคส่วนต่าง ๆ จึงมีความสำคัญมาก เพราะจะทำให้เรามีโอกาสรับฟังความเห็นเพื่อนำไปปรับปรุงนโยบายได้

และ (8) โครงการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากโควิด-19 ตามที่ ครม. ได้อนุมัติโครงการสำคัญ ๆ เช่น โครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) ขณะนี้ยังมีบางฝ่ายเริ่มถามถึงแผนระดับชาติเกี่ยวกับการยกระดับทักษะ (Reskill) และเพิ่มทักษะใหม่ (Upskill) แก่คนไทยอีกด้วย ถือเป็นการบ้านของ สศช. ที่ต้องพิจารณากันต่อไป

เลขาธิการ สศช. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินการตามเป้าหมายของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ทำให้จำเป็นต้องร่าง "แผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ. 2564 – 2565” ขึ้นมารองรับ โดยจะมีโครงการทั้งที่ใช้งบประมาณปกติและโครงการที่ใช้เงินกู้ฯ เป็นสิ่งขับเคลื่อนแผน ถือเป็นโอกาสสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น การว่างงาน การขาดสภาพคล่องของ SMEs

ในช่วงท้าย เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า วันนี้สภาพัฒน์ถือเป็นความหวังของประเทศ รัฐบาลให้ความเชื่อมั่นและหวังให้เราช่วยทำงาน จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่จะรื้อฟื้นองค์กรให้เป็นเสาหลักของบ้านเมือง เรามีวัฒนธรรมองค์กรที่ดี บุคลากรมีความรับผิดชอบสูง มีความมุ่งมั่นที่จะทำงานให้สำเร็จ ขอให้รักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ อีกทั้งขอให้ร่วมกันทำงาน แบ่งปันข้อมูลและทรัพยากร ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ และมีความเป็นกลาง ทั้งหมดนี้จะช่วยให้งานของประเทศสำเร็จลุล่วง และทำให้สภาพัฒน์เป็นองค์กรที่เข้มแข็งต่อไปในอนาคต
 
จากนั้น นายดนุชา  พิชยนันท์ รองเลขาธิการ สศช. ในฐานะเลขาธิการ สศช. คนต่อไป ได้แสดงวิสัยทัศน์และมอบนโยบายการบริหาร สศช. ในระยะต่อไป ความตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมามีหลายปัจจัยที่ทำให้การทำงานของ สศช. ต้องเปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการองค์กรในอนาคตต้องเป็นแบบเมทริกซ์ เจ้าหน้าที่ต้องทำงานข้ามสายงานมากขึ้น เพราะหลายเรื่องไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะสายงานใดสายงานหนึ่ง  สิ่งที่ตนเสนอคือความต้องการที่จะทำให้สภาพัฒน์เป็น "ตัวจริงในระบบราชการ” (NESDC REAL) อย่างต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่น โดยยึดหลักที่สำคัญ ดังนี้ 

(1) Responsiveness สศช.ต้องสามารถจับกระแสความเปลี่ยนแปลง ที่ผ่านมาเราทำได้ดีระดับหนึ่ง แต่หลังจากนี้ต้องเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นต้องอาศัยฐานข้อมูลและระบบการทำงานที่ดี (2) Reliability คือสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจว่าเราจะสามารถทำงานได้ทันเวลา รักษาความรับผิดชอบ (3) Efficient ที่ผ่านมาเราได้รับงานยากและมีข้อจำกัดด้านเวลาและข้อมูล ดังนั้น การทำงานในระยะต่อไปต้องใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น (4) Engagement โดยตนจะพยายามทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมกับองค์กรมากขึ้น รวมถึงทำให้บุคลากรมีส่วนร่วมซึ่งกันและกัน (5) Agility คือความคล่องตัว จะทำให้เราได้ทำงานที่แตกต่างและได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ (6) Accountability หมายถึงงานที่เราทำต้องมีความน่าเชื่อถือ (7) Lean ซึ่งไม่ได้หมายถึงการลดขนาดองค์กร แต่คือการทำงานเป็นทีมเล็กและเลือกคนทำงานให้ถูกต้อง เพื่อจะทำงานได้เร็วยิ่งขึ้น และ (8) Learning as a team คือการทำงานเป็นทีมและเรียนรู้ไปด้วยกัน

นายดนุชา กล่าวทิ้งท้ายว่า ขณะนี้ประเทศกำลังประสบปัญหาอย่างหนักหน่วง รัฐบาลให้ความไว้วางใจสภาพัฒน์ ขณะเดียวกันหลายภาคส่วนก็ตั้งความหวังกับเรา ดังนั้น ขอให้ทุกคนมุ่งมั่นพาประเทศไทยผ่านพ้นจากวิกฤติครั้งนี้ให้ได้โดยเร็วที่สุด และร่วมกันขับเคลื่อนสภาพัฒน์ให้เป็นองค์กรที่เป็น "ตัวจริง” ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง

ในโอกาสนี้ เลขาธิการ สศช. นำผู้บริหารและประชาคม สศช. ประกาศเจตนารมณ์และปฏิญาณตน "การต่อต้านการทุจริต” โดยให้คำมั่นต่อสาธารณะที่จะไม่เกี่ยวข้องกับการทุจริต รวมทั้งสนับสนุนการปฏิบัติงานอย่างมีจริยธรรม
 
 
ข่าว : กุลนันทน์  ยอดเพ็ชร
ภาพ : เมฐติญา  วงษ์ภักดี และ ปราณี  ขวัญเกิด

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์