ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
สภาพัฒน์จัดประชุมประจำปี 2563 “ชีวิตวิถีใหม่ ประเทศไทยหลังโควิด”  21 ก.ย. นี้
วันที่ 18 ก.ย. 2563
          สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำหนดจัดการประชุมประจำปี 2563 เรื่อง "ชีวิตวิถีใหม่ ประเทศไทยหลังโควิด” ในวันจันทร์ที่ 21 กันยายน 2563 เวลา 8.30 - 12.00 น. ณ ห้องแกรนด์ไดมอนด์บอลรูม ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี โดยได้รับเกียรติจากพลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมและแสดงปาฐกถาพิเศษ

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร  ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2563 การพัฒนาประเทศตามแนวทางของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ได้ดำเนินการมาเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งเป็นระยะครึ่งทางของแผนฯ จึงจำเป็นต้องมีการติดตามประเมินผลความสำเร็จของการพัฒนาตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผน และวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น ตลอดจนผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการพัฒนาประเทศในทุกมิติ และวิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงจากนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) นำมาจัดทำเป็นข้อเสนอแนะประเด็นการพัฒนาเพิ่มเติม หรือปรับแนวทางการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 และแผนแม่บทตามยุทธศาสตร์ชาติในระยะเวลาที่เหลือให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ประเทศไทยต้องมีการปรับไปสู่ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น ตลอดจนนำผลที่ได้ไปใช้ประกอบการวิเคราะห์เพื่อกำหนดประเด็นสำหรับการวางกรอบการพัฒนาในระยะถัดต่อไป 

เลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า สศช. จึงกำหนดจัดการประชุมเรื่อง "ชีวิตวิถีใหม่ ประเทศไทยหลังโควิด” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะครึ่งทางของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ที่ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการภาครัฐที่ดี และใช้เป็นแนวทางวางแผนการพัฒนาประเทศในระยะต่อไป รวมถึงเพื่อเปิดโอกาสให้ภาคีการพัฒนาจากทุกภาคส่วนของสังคมได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนาสำคัญในระยะที่เหลือของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 และแผนแม่บทตามยุทธศาสตร์ชาติในช่วงระยะแรกไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม 

นอกจากนี้ การประชุมดังกล่าวจะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจแก่สาธารณชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคีการพัฒนาต่าง ๆ ให้สามารถนำผลการติดตามและประเมินผลการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงและบริหารจัดการแผนงาน/โครงการของหน่วยงานทั้งในส่วนกลางและระดับพื้นที่ได้อย่างมีบูรณาการ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสำหรับการประชุมในปีนี้ เนื่องด้วยการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สศช. จึงปรับรูปแบบการประชุมให้เหมาะสมต่อสถานการณ์ โดยการจัดประชุมในห้องประชุมใหญ่ครึ่งวันภาคเช้าเท่านั้น และเน้นการถ่ายทอดสดผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย คลื่นเอเอ็ม 891 กิโลเฮิร์ตซ์  เว็บไซต์ของ สศช. www.nesdc.go.th  Facebook Live ที่เพจ "สภาพัฒน์” และ YouTube สภาพัฒน์ เพื่อลดจำนวนผู้ร่วมงานตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ขณะเดียวกันยังสามารถเผยแพร่สาระของการประชุมให้กระจายออกไปในวงกว้าง โดยประชาชนที่สนใจสามารถติดตามการถ่ายทอดสดและร่วมแสดงความคิดเห็นต่อแนวทางการขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนาสำคัญในช่วงครึ่งหลังแผนฯ 12 และแนวทางพัฒนาที่ต้อง "เน้น” และ "เร่ง” หลังสถานการณ์โควิด-19 ผ่านช่องทางดังกล่าวข้างต้นได้ ในวันที่ 21 กันยายน 2563 ตั้งแต่เวลา 8.30 น. เป็นต้นไป 

สำหรับกิจกรรมของการประชุม เริ่มด้วยการนำเสนอวีดิทัศน์เรื่อง "ชีวิตวิถีใหม่ ประเทศไทยหลังโควิด” จากนั้นศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร  ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการฯ กล่าวรายงาน ต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงานและแสดงปาฐกถาพิเศษ และการเสวนาเพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการปรับตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และประเด็นท้าทายในระยะต่อไป โดยเลขาธิการฯ จะนำเสนอประเด็น "ครึ่งทางแผนฯ 12 เตรียมพร้อมรับมือชีวิตวิถีใหม่” สำหรับผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมเสวนา ได้แก่ นางปิยะมาน  เตชะไพบูลย์ ประธานกิตติมศักดิ์ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นายวิศิษฐ์  ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายอุกฤษ  อุณหเลขกะ ผู้ก่อตั้งกิจการเพื่อสังคม "Ricult” 

------------------------------------------

18 กันยายน 2563

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์