เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2563 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาไท (มพท.) และวุฒิอาสาธนาคารสมอง จ.เพชรบุรี จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ "รวมพลังวุฒิอาสาธนาคารสมองภาคกลางขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ บนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ณ โรงแรมลองบีช ชะอำ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี โดยมีนางสาวเอกรัตน์ นาคาคง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เข้าร่วมและกล่าวต้อนรับในพิธีเปิด นางสาวจินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวรายงานและนายธรรมรักษ์ การพิศิษฎ์ กรรมการมูลนิธิพัฒนาไท เป็นประธานเปิดการประชุม มีผู้เข้าร่วมประชุม ประมาณ 200 คน ประกอบด้วย วุฒิอาสาฯ และภาคีเครือข่ายภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑล หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม ชุมชนท้องถิ่น คณะกรรมการมูลนิธิพัฒนาไท นางสาวกัญญารักษ์ ศรีทองรุ่ง ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผน สศช. นางสาวศรี ศรีงาม ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจพอเพียงและธนาคารสมอง และเจ้าหน้าที่ สศช.
นางสาวจินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวรายงานว่า สืบเนื่องจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับธนาคารสมอง เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2543 ในการนำผู้ที่เกษียณอายุ ที่มีสุขภาพแข็งแรง และมีจิตอาสา ในนาม "วุฒิอาสาธนาคารสมอง” มาร่วมกันพัฒนาสังคมและประเทศชาติ ต่อมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2543 มอบหมายให้ สศช. เป็นหน่วยทะเบียนกลางธนาคารสมอง ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล จัดทำบัญชี ทำเนียบผู้ทรงคุณวุฒิ และประสานและเชื่อมโยงกับเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อให้วุฒิอาสาฯ ได้นำความรู้ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญ มาช่วยงานที่สอดคล้องกับความต้องการของหน่วยงานและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
รองเลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า สศช. และ มพท. สนับสนุนการทำงานของวุฒิอาสาฯ และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ โดยวุฒิอาสาฯ รวมกลุ่มกันขับเคลื่อนงานเชิงยุทธศาสตร์ผ่านกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ที่หลากหลายและเป็นรูปธรรม ตามความต้องการของหน่วยงาน ชุมชน และบริบทของแต่ละภูมิสังคม ในทั่วทุกภาคของประเทศ ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนพัฒนาจังหวัด/ชุมชนท้องถิ่น มุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) บนฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งเป็นการสร้างและขยายเครือข่ายการทำงานร่วมกันของวุฒิอาสาฯกับภาคีเครือข่ายการพัฒนาในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม และชุมชน ตลอดจนการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์บทบาท ผลการดำเนินงานของวุฒิอาสาฯ อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลงานเป็นรูปธรรมและเป็นที่ประจักษ์ รวมทั้งเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานและชุมชนในพื้นที่
สำหรับการประชุมในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรายงานและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานของวุฒิอาสาฯ ภาคกลาง ขยาย เชื่อมโยง และบูรณาการการขับเคลื่อนงานของวุฒิอาสาฯ กับภาคีการพัฒนาในระดับพื้นที่จนถึงระดับจังหวัดและระดับภาค และการจัดทำแนวทางการขับเคลื่อนงานของวุฒิอาสาฯ ปี 2564 ที่สอดคล้องกับประเด็นในยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท และแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ที่เน้นการดึงพลังของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และชุมชนท้องถิ่น มาร่วมแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่อย่างแท้จริง รวมทั้งรวบรวมผลการดำเนินงานของวุฒิอาสาฯ เพื่อนำไปประกอบการจัดงาน "20 ปี ธนาคารสมอง” ต่อไป
ทั้งนี้ การประชุมใช้เวลา 2 วัน วันแรก เป็นการนำเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคกลางและทิศทางการขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ และดัชนีความก้าวหน้าของคนในภาคกลาง เวทีเสวนาเติมเต็มความรู้ให้วุฒิอาสาฯ และภาคีเครือข่าย หัวข้อ "พลังสูงวัยร่วมสร้างชุมชนสู่ความเท่าเทียม” ใน 3 ประเด็น ได้แก่ การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในระดับพื้นที่ เกษตรกรรมยั่งยืนแบบมีส่วนร่วม และผู้สูงอายุกับการใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน และการระดมความคิดเห็นและนำเสนอแนวทางการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมของวุฒิอาสาธนาคารสมอง ใน 5 ด้าน ได้แก่ 1) การส่งเสริมอาชีพ รายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิต 2) การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3) การสาธารณสุขและสังคมสงเคราะห์ 4) การอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม และ 5) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมระหว่างวุฒิอาสาฯ กับภาคีการพัฒนา วันที่สอง เป็นการนำเสนอแนวทางการดำเนินงานแบบบูรณาการระหว่างวุฒิอาสาธนาคารสมองกับภาคีเครือข่าย และสรุปผลการประชุม นอกจากนี้ ภายในงานมีการจัดนิทรรศการผลการดำเนินงานของวุฒิอาสาธนาคารสมองภาคกลางที่เป็นรูปธรรมรายจังหวัด
นายธรรมรักษ์ การพิศิษฎ์ กล่าวเปิดการประชุมว่า มูลนิธิพัฒนาไท และ สศช. โดยวุฒิอาสาฯ และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในพื้นที่ ร่วมกันขับเคลื่อนแผนพัฒนาประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติ บนฐานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาอย่างต่อเนื่อง จนเกิดการปฏิบัติอย่างจริงจังและเป็นที่ประจักษ์อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการเป็นตัวกลางในการประสานและหนุนเสริมการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ การเชื่อมโยงภาคีเครือข่าย การให้คำปรึกษาและเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาตามความต้องการและความเหมาะสมต่อชุมชนและหน่วยงานต่าง ๆ การถ่ายทอดองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และการผสมผสานความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับความรู้สมัยใหม่ตามภูมิสังคมของความเป็นไทย การรักษาและสืบทอดภูมิปัญญาไทยจากรุ่นสู่รุ่น และการเรียนรู้พัฒนาสื่อสร้างสรรค์ต่าง ๆ นับเป็นตัวอย่างที่ดีในการนำความรู้ ความเชี่ยวชาญ และศักยภาพของผู้สูงวัยมาร่วมพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศชาติ
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ในปัจจุบันที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) อย่างกว้างขวางทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย และท่ามกลางภาวะวิกฤตเศรษฐกิจและสังคมที่กว้างขวางและรุนแรง หรือเรียกว่า "ยุค Coviderization” วุฒิอาสาฯ ควรปรับบทบาทการทำงานที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาประเทศ ด้วยบทบาทที่สำคัญในการนำสังคมอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการมองไปข้างหน้าในอนาคตว่า สิ่งที่จะต้องเผชิญกับความท้าทายในอนาคตมีอะไรบ้าง ซึ่งส่งผลต่อแนวคิดการพัฒนาที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการดำรงชีวิตในฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ที่ต้องยึดหลักความพอเพียง และการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ในการดำรงชีวิตอย่างเหมาะสม พอเพียง และยั่งยืน เน้นให้คนมีสุขภาพแข็งแรง มีความเป็นอยู่ที่ดี นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
การประชุมในครั้งนี้ นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่ทำให้วุฒิอาสาธนาคารสมองในแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัด และมีความถนัดในแต่ละด้านมาพบกัน เพื่อแสวงหาแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาร่วมกัน ด้วยการเสริมจุดแข็ง เติมเต็มจุดอ่อน เชื่อมโยงเกาะเกี่ยวการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย เป็นธนาคารความรู้ที่เดินเข้าหาชุมชน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาในประเด็นสำคัญที่เท่าทันต่อสถานการณ์ต่าง ๆ การนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นเข็มทิศในการพัฒนาประเทศ และร่วมกันหาแนวทางการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ / อุบัติซ้ำ ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญคือ การแปลงยุทธศาสตร์การพัฒนาในยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาประเทศ ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งวุฒิอาสาฯ ภาคีเครือข่าย และทุกท่าน เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเชื่อมร้อยรอยต่อ ถักทอเครือข่าย และหุ้นส่วนการพัฒนาต่าง ๆ ให้เป็นฐานกำลังที่เข้มแข็งและมั่นคง ในการพัฒนาชุมชนและสังคมให้พร้อมที่จะเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืนต่อไป |