สภาพัฒน์จัดประชุมแลกเปลี่ยนและระดมความคิดเห็นวุฒิอาสาธนาคารสมองภาคตะวันออกและภาคีเครือข่าย ในประเด็นจากเมืองน่าอยู่สู่การท่องเที่ยวชุมชนบนวิถีใหม่ และการเรียนรู้บนฐานฐานชุมชน พร้อมลงพื้นที่ศึกษาการท่องเที่ยวชุมชนวิถีใหม่คลองลาวน และบึงสำนักใหญ่สวนพฤกษศาสตร์ อ.แกลง จ.ระยอง
เมื่อวันที่ 20-21 สิงหาคม 2563 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาไท (มพท.) และวุฒิอาสาธนาคารสมองภาคตะวันออก จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "วุฒิอาสาธนาคารสมองภาคตะวันออก เสริมพลังสร้างเครือข่าย จากเมืองยั่งยืนสู่สังคมเสมอภาคและเท่าเทียม” เพื่อส่งเสริมบทบาทวุฒิอาสาฯ ในการร่วมพัฒนาประเทศ สร้างและขยายเครือข่ายการทำงานร่วมกับ ภาคีเครือข่ายการพัฒนาภาคตะวันออกกับหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนจัดทำแผนปฏิบัติการการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก ในประเด็นร่วม "จากเมืองน่าอยู่สู่การท่องเที่ยวชุมชนบนวิถีใหม่” และ "การเรียนรู้บนฐานชุมชน : ทางรอดของชุมชนตะวันออก” โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 100 คน ณ สำนักงานสวนพฤกษศาสตร์ อ.แกลง จ.ระยอง
นางสาวกัญญารักษ์ ศรีทองรุ่ง ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน กล่าวเปิดการประชุมว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานแนวทางการนำผู้สูงอายุมาเป็นพลังอาสาในการพัฒนาประเทศ ในฐานะ "วุฒิอาสาธนาคารสมอง” ตั้งแต่ปี 2543 และคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ สศช. เป็นหน่วยทะเบียนกลาง ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ทรงภูมิปัญญาท้องถิ่น และประสานและเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายการพัฒนาเพื่อนำวุฒิอาสาฯ ร่วมขับเคลื่อนงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม โดยมีมูลนิธิพัฒนาไทเป็นผู้สนับสนุนและอำนวยความสะดวกการทำงานให้แก่วุฒิอาสาฯ ซึ่งปัจจุบันมีวุฒิอาสาฯ เกือบ 5,300 คน
ที่ปรึกษาฯ กล่าวต่อไปว่า ตลอดระยะเวลา 20 ปี วุฒิอาสาฯ ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนงานตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ และผลักดันให้เกิดการปฏิบัติอย่างจริงจังในทุกพื้นที่ของประเทศ ทั้งการเป็นตัวกลางในการประสานงาน หนุนเสริมการแปลงนโยบายการพัฒนาประเทศและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) สู่การปฏิบัติ และเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายอย่างมีส่วนร่วมและบูรณาการ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม และชุมชน โดยมีจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นพื้นที่นำร่อง "ปฏิบัติการแห่งการเรียนรู้ (SDGs Lab)” ซึ่งเป็นการพัฒนาสู่ความยั่งยืนที่ยึดหลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ผ่านกลไกวุฒิอาสาฯ และขยายผลการขับเคลื่อนจากระดับจังหวัดสู่ระดับภาค ที่สอดรับกับความต้องการของคนในชุมชนและพื้นที่อย่างแท้จริง
ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในทุกพื้นที่ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวิถีการดำรงชีวิตที่จะแตกต่างไปจากเดิมอย่างมาก ซึ่งการประชุมในครั้งนี้จะเป็นเวทีในการหารือและระดมความคิดเห็นการปรับเปลี่ยนและพัฒนากระบวนการขับเคลื่อนงานให้ภาคตะวันออกเป็นวิถีแห่งความสุข เกิดความสมดุล สามารถแก้ไขปัญหา ตั้งรับ และปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ที่เป็นภูมิคุ้มกันให้แก่ประเทศ
ภายหลังจากการประชุม ที่ปรึกษาฯ เจ้าหน้าที่ สศช. และผู้เข้าร่วมประชุมได้ลงพื้นที่ศึกษาการท่องเที่ยวชุมชนวิถีใหม่คลองลาวน และบึงสำนักใหญ่สวนพฤกษศาสตร์ เพื่อรับฟังข้อเท็จจริง ปัญหา และการทำงานร่วมกันของกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวชุมชน รวมทั้งให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะการเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อสร้างรายได้ สร้างอาชีพ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และความยั่งยืนของชุมชนต่อไป
การประชุมในครั้งนี้ เป็นการประชุมครั้งที่ 2 ต่อจากการประชุมครั้งแรก ในประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งทรัพยากรน้ำ ดิน ป่า และการจัดการขยะ และประเด็นการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ : ศูนย์กลางอาหารปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืน ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 – 24 กรกฎาคม 2563 ณ มูลนิธิวนเกษตรผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม และศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพราะราชดำริ จ.ฉะเชิงเทรา โดยในปลายเดือนกันยายน ศกนี้ จะจัดการประชุมอีกครั้งหนึ่งเพื่อร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการการพัฒนาภาคตะวันออกต่อไป
ข่าว : วิภาวดี ชวนบุญ
ภาพ : สดุดี พวงเงิน และ ธีรันดร โชติวรรณ |