เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 ศ.พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมคณะผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง ได้แถลงข่าวรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2563 ซึ่งมีความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญ ได้แก่ อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ หนี้สินครัวเรือนชะลอการขยายตัว การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังลดลง คดีอาญาลดลง การเกิดอุบัติเหตุทางบกลดลง แต่มีประเด็นที่ต้องติดตาม ได้แก่ การจ้างงานลดลง การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอสถานการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจ ได้แก่ การเลิกเรียนกลางคัน : ความเสี่ยงของอนาคตเยาวชนไทย และพฤติกรรมทางการเงินของครัวเรือนไทยและความเสี่ยงทางการเงิน รวมทั้งการเสนอบทความเรื่อง "วิกฤต COVID-19 : บทเรียนเพื่อการก้าวต่อไปอย่างมีภูมิคุ้มกัน” โดยสรุปสาระดังนี้
การจ้างงานลดลงอย่างต่อเนื่อง อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง
ไตรมาสหนึ่ง ปี 2563 ผู้มีงานทำ 37,424,214 คน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.7 จากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ลดลงร้อยละ 3.7 ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่มีความรุนแรงและต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2562 ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมยังคงขยายตัวได้เล็กน้อยที่ร้อยละ 0.5 จากการขยายตัวของการจ้างงานในสาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาการศึกษา ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ยังไม่แสดงผลกระทบในจำนวนการจ้างงานภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวมากนัก ส่วนหนึ่งเนื่องจากในช่วงเดือนมกราคม-ต้นมีนาคม การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ยังคงจำกัดอยู่ในบางพื้นที่ และผู้ประกอบการยังรอดูสถานการณ์ของผลกระทบ อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณของผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ต่อการจ้างงานคือ ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยภาคเอกชนลดลงเท่ากับ 42.8 ชั่วโมง/สัปดาห์ จาก 43.5 ชั่วโมง/สัปดาห์ในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว โดยผู้ที่ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงขึ้นไป/สัปดาห์ ลดลงร้อยละ 9.0 นอกจากนั้น สถานประกอบการมีการขอใช้มาตรา 75 ในการหยุดกิจการชั่วคราวมีจำนวนทั้งสิ้น 570 แห่ง และมีแรงงานที่ต้องหยุดงานแต่ยังได้รับเงินเดือน 121,338 คน
ผู้ว่างงานมีจำนวน 394,520 คน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.03 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.92 จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว สอดคล้องกับจำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานที่ในไตรมาสหนึ่ง ปี 2563 มีจำนวน 170,144 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 และมีผู้ว่างงานแฝงจำนวน 448,050 คน คิดเป็นอัตราการว่างงานแฝงร้อยละ 1.2 เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ค่าจ้างที่แท้จริงภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 ผลิตภาพแรงงานลดลงร้อยละ 1.0 เป็นการลดลงจากทั้งภาคเกษตรกรรมและนอกภาคเกษตรกรรม
ปัจจัยที่กระทบต่อการจ้างงาน ปี 2563
1. การแพร่ระบาดของ COVID-19 จากการประเมินผลกระทบของ COVID-19 ต่อแรงงาน พบว่า แรงงานมีความเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างทั้งสิ้น 8.4 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงาน 3 กลุ่ม ประกอบด้วย (1) แรงงานในภาคการท่องเที่ยวซึ่งมีประมาณ 3.9 ล้านคน (ไม่รวมสาขาการค้าส่ง และการค้าปลีก) จะได้รับผลกระทบจากการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการท่องเที่ยวในประเทศ ประมาณ 2.5 ล้านคน (2) แรงงานในภาคอุตสาหกรรมซึ่งจะได้รับผลกระทบจากตั้งแต่ก่อน COVID-19 จากสงครามการค้า และต่อเนื่องมาจนถึงการแพร่ระบาดของ COVID-19 จากการลดลงของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม บางอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าขายในประเทศยังขยายตัวได้ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่ม หรือของใช้ที่จำเป็น รวมทั้งอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมจากทั้งหมด 5.9 ล้านคน คาดว่า มีผู้ได้รับผลกระทบ 1.5 ล้านคน และ (3) การจ้างงานในภาคบริการอื่นที่ไม่ใช่การท่องเที่ยวในกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของภาครัฐจากการปิดสถานที่ เช่น สถานศึกษา หรือสถานที่มีการรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก เช่น ตลาดสด สนามกีฬา ห้างสรรพสินค้า ซึ่งกลุ่มนี้มีการจ้างงานจำนวน 10.3 ล้านคน คาดว่าจะได้รับผลกระทบประมาณ 4.4 ล้านคน
2. ผลกระทบจากภัยแล้งต่อการจ้างงานภาคเกษตรกรรม ภาวะภัยแล้งตั้งแต่กลางปี 2562 และต่อเนื่องถึงไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ส่งผลให้การจ้างงานภาคเกษตรลดลง และมีจำนวนแรงงานที่รอฤดูกาล 370,000 คน สูงที่สุดในรอบ 7 ปี โดย ณ เดือนเมษายน ได้มีการประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 26 จังหวัด และมีเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบประมาณ 3.9 ล้านคน และเกษตรกรในพื้นที่อื่นที่มีปริมาณน้ำน้อยและไม่สามารถทำกิจกรรมทางการเกษตรก็ได้รับผลกระทบอีกจำนวน 2.1 ล้านคน รวมเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทั้งสิ้น 6 ล้านคน
ทั้งนี้ คาดว่าผลกระทบของการแพร่ระบาดเชื้อ COVID-19 และปัญหาภัยแล้งต่อการจ้างงาน การว่างงาน จะปรากฏผลชัดเจนเป็นลำดับตั้งแต่ไตรมาสที่สอง และชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2563 อัตราการว่างงานจะอยู่ในช่วงร้อยละ 3-4 หรือตลอดทั้งปีมีผู้ว่างงานไม่เกิน 2 ล้านคน เนื่องจาก (1) สถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มควบคุมได้และในครึ่งหลังของเดือนพฤษภาคมเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภทสามารถเปิดดำเนินการได้มากขึ้น (2) รัฐบาลมีมาตรการในการช่วยเหลือ และฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเน้นกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ และ (3) ภาคเกษตรกรรมจะสามารถรองรับแรงงานที่ว่างงานได้บางส่วนแม้ว่าจะมีปัญหาภัยแล้ง
ประเด็นที่ต้องติดตาม
1. ความครอบคลุมของมาตรการช่วยเหลือ ทั้งแรงงานที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง ปัจจุบันรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนโดยมีเป้าหมายทั้งสิ้น 37 ล้านราย แบ่งเป็นเกษตรกร 10 ล้านราย กลุ่มผู้ประกันตน 11 ล้านราย กลุ่มอาชีพอิสระ 16 ล้านราย ซึ่งต้องพิจารณาให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือดังกล่าว
2. การติดตามภาวะการเลิกจ้างและการว่างงาน แม้ว่าปัจจุบันมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุม แต่แรงงานบางกลุ่มจะยังไม่สามารถกลับมาทำงานได้เช่นเดิม เช่น แรงงานในภาคการท่องเที่ยว แรงงานในอุตสาหกรรมส่งออก เช่น รถยนต์ ฯลฯ เนื่องจากอุปสงค์ในต่างประเทศลดลง และการท่องเที่ยวยังเชื่อมโยงกับมาตรการของต่างประเทศด้วย ซึ่งหากผู้ประกอบการไม่สามารถจ้างงานต่อได้จะมีแรงงานจำนวนหนึ่งที่ถูกเลิกจ้าง ขณะเดียวกันในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม คาดว่าจะมีแรงงานจบใหม่เข้าสู่ตลาดประมาณ 520,000 คน ซึ่งอาจไม่มีตำแหน่งงานรองรับ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการสร้างงาน และจ้างงานที่เพียงพอเพื่อรองรับผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะหางานทำไม่ได้
3. การเตรียมความพร้อมของแรงงานเพื่อรองรับการฟื้นตัว ในช่วงการระบาดของเชื้อ COVID-19 ผู้ประกอบการ/ธุรกิจมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน และมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน/ติดต่อสื่อสารมากขึ้น ทำให้การทำงานบางประเภทไม่ถูกจำกัดในเรื่องสถานที่ ซึ่งแรงงานจะต้องมีการเตรียมความพร้อมที่จะปรับทักษะเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของธุรกิจ หรือการสร้างทักษะใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางอาชีพหรือลักษณะการทำงาน
หนี้ครัวเรือนชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อน แต่คุณภาพสินเชื่อแย่ลง
ในไตรมาสสี่ปี 2562 สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย มีมูลค่า 13.47 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.0 ชะลอลงจากร้อยละ 5.5 ในไตรมาสก่อน โดยเป็นผลจากการปรับตัวลดลงในสินเชื่อทุกประเภท ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 79.8 สูงสุดในรอบ 14 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2559 เป็นต้นมา เนื่องจากเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องและเร็วกว่าการชะลอตัวของหนี้สินครัวเรือน ด้านภาพรวมคุณภาพสินเชื่อด้อยลง โดยยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพื่อการอุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสหนึ่ง ปี 2563 มีมูลค่า 156,227 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.23 ต่อสินเชื่อรวม ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.90 ในไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากความสามารถในการชำระหนี้ของสินเชื่อทุกประเภทด้อยลง โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่นๆ
ในช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบทางลบอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นภาคการส่งออก ภาคการท่องเที่ยว และภาคการเกษตร โดยภาครัฐได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนผ่านหลายช่องทาง ในส่วนของปัญหาหนี้สินและสภาพคล่องของประชาชนได้ดำเนินมาตรการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องและบรรเทาภาระค่าครองชีพต่างๆ เช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) สินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน สินเชื่อฉุกเฉินสำหรับผู้ไม่มีรายได้ประจำ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMEs ที่มีศักยภาพและไม่เป็นหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน อย่างไรก็ตาม มาตรการต่างๆ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นมาตรการระยะสั้นและมุ่งบรรเทาความเดือดร้อนเท่านั้น ซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องเร่งเตรียมแผนการดำเนินงานและมาตรการต่างๆ ที่มุ่งเน้นช่วยเหลือฟื้นฟูและยกระดับรายได้ของครัวเรือนอย่างชัดเจนเพื่อให้สอดคล้องกับภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สินของแต่ละครัวเรือน รวมทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ให้สามารถสร้างผลตอบแทนให้แก่ครัวเรือนได้เพื่อชดเชยรูปแบบหนี้ที่เน้นการอุปโภคบริโภค
การเจ็บป่วยยังต้องเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกที่กลับมาระบาดในบางพื้นที่
ไตรมาสหนึ่ง ปี 2563 มีผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังรวม 189,319 ราย ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 19.9 เป็นการลดลงเกือบทุกโรค โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกลดลงร้อยละ 42.8 ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ลดลงร้อยละ 26.9 ผู้ป่วยโรคหัดลดลงร้อยละ 64.6 และผู้ป่วยโรคฉี่หนูลดลงร้อยละ 44.4 เนื่องจากการเฝ้าระวังและดูแลตัวเอง รวมทั้งการเว้นระยะทางกายภาพ (Physical Distancing) เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกที่แม้ในภาพรวมของประเทศจะมีผู้ป่วยลดลง แต่มีแนวโน้มจะกลับมาระบาดอีกครั้งในบางพื้นที่จากการเข้าสู่ช่วงฤดูฝน รวมทั้งเฝ้าระวังการกลับมาระบาดหนักอีกครั้งของโรค COVID-19 และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 อาทิ โรคจากความเครียด ปัญหาทางจิต และการฆ่าตัวตาย รวมทั้งการเฝ้าระวังโรคที่เกิดจากพฤติกรรมจากการกักตัวอยู่บ้าน
การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้น
ไตรมาสหนึ่งปี 2563 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ขยายตัวร้อยละ 3.0 โดยการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขยายตัวร้อยละ 5.5 ขณะที่การบริโภคบุหรี่ลดลงร้อยละ 1.0 และต้องเฝ้าระวังอันตรายและความเสี่ยงของผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่เป็นประจำที่อาจติดเชื้อ COVID-19 ได้ง่ายและมีอาการรุนแรงกว่าบุคคลทั่วไป ทั้งนี้ จากมาตรการภาครัฐที่ได้มีการปิดสถานบันเทิง และห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเดือนเมษายนลดลง เหตุผลหลักที่ทำให้นักดื่มหยุดดื่มหรือดื่มน้อยลงคือ หาซื้อไม่ได้/ซื้อยาก กลัวเสี่ยงติดเชื้อ รายได้น้อยลง/ไม่มีเงินซื้อ และต้องการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง และเหตุผลที่ทำให้พฤติกรรมการสูบบุหรี่ลดลง คือ รายได้ลดลง ต้องการดูแลสุขภาพ ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และหาซื้อยาสูบได้ยากขึ้น ส่วนปัจจัยที่ทำให้พฤติกรรมการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น คือ มีความเครียดกับสถานการณ์ COVID-19 มีความเครียดจากการทำงาน และกักตุนสินค้า/กลัวสินค้าขาดแคลน/กังวลเรื่องราคาสินค้า
คดีอาญารวมลดลงจากคดีชีวิตร่างกายและเพศและคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ที่ลดลง
ไตรมาสหนึ่ง ปี 2563 คดีอาญารวมลดลงร้อยละ 4.8 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2562 โดยลดลง ทั้งการรับแจ้งคดียาเสพติดร้อยละ 4.4 คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ร้อยละ 5.3 คดีชีวิตร่างกายและเพศร้อยละ 13.7 จากการที่อยู่ในช่วงประกาศภาวะฉุกเฉิน ผู้กระทำความผิดก่ออาชญากรรมยากขึ้น ขณะที่การลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจทำให้ประชาชนขาดรายได้ พบว่าในเดือนมีนาคม 2563 คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์เพิ่มขึ้นจากก่อนหน้าร้อยละ 0.7 จึงต้องให้ความสำคัญกับการเข้มงวดตรวจตราเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการกระทำผิดด้านการประทุษร้ายต่อชีวิตและทรัพย์สิน
การเกิดอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตลดลงทั้งในช่วงปกติและช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2563
ไตรมาสหนึ่ง ปี 2563 สถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกและจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2562 ร้อยละ 6.4 และ 20.8 ตามลำดับ แต่มูลค่าทรัพย์สินเสียหายเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.0 และจากการจำกัดการเดินทาง ห้ามจำหน่ายสุรา การล็อกดาวน์ของจังหวัด ส่งผลให้เทศกาลสงกรานต์ปี 2563 เกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกและผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 60.8 และ 56.7 ตามลำดับ ทั้งนี้ จากพฤติกรรมการขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้ประสบเหตุมีโอกาสเสียชีวิตสูง จึงจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนให้ปฏิบัติตามข้อบังคับของกฎหมายอย่างเคร่งครัดและลงโทษผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง รวมทั้งการถอดบทเรียนการดำเนินมาตรการในช่วงจัดการโรค COVID-19 มาประยุกต์ใช้เพื่อบริหารจัดการและลดอุบัติเหตุทางถนนได้
การร้องเรียนผ่าน สคบ. และ กสทช. ลดลง
ไตรมาสหนึ่ง ปี 2563 สคบ. ได้รับการร้องเรียนสินค้าและบริการลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนร้อยละ 6.4 แม้ว่าจะมีการร้องเรียนในประเด็นการจองตั๋วเครื่องบิน/สายการบินเพิ่มขึ้นเนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้มีการยกเลิกเที่ยวบิน เช่นเดียวกับการร้องเรียนผ่าน กสทช. ที่ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนร้อยละ 36.6 โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องมาตรฐานและคุณภาพการให้บริการ นอกจากนี้ การระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลให้ต้องมีการเฝ้าระวังการหลอกลวงและเอาเปรียบผู้บริโภคในด้านต่างๆ ทั้งในประเด็นข่าวปลอม สินค้าปลอม ราคาสินค้าสูงเกินจริง การหลอกขายกรมธรรม์ และภัยไซเบอร์จากมาตรการทำงานที่บ้าน (Work from Home) โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้ง "ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19" ทำหน้าที่ (1) จัดหาและบริหารจัดการหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ (2) ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งทีมเฉพาะกิจโดยคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยทำหน้าที่ในการตรวจสอบการเสนอขาย การร้องเรียน และการจ่ายเคลมประกัน อีกทั้งได้สร้างแอปพลิเคชัน "คนกลาง For Sure” เพื่อตรวจสอบสถานะใบอนุญาตของตัวแทน-นายหน้าประกันภัย
การเลิกเรียนกลางคัน : ความเสี่ยงของอนาคตเยาวชนไทย
สถานการณ์เด็กและเยาวชนต้องออกจากระบบการศึกษากลางคัน แม้จะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่พบว่าจะมีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาเพิ่มตามระดับการศึกษาที่สูงขึ้น โดยนักเรียนที่เข้าศึกษาประถมศึกษาปีที่ 1 ในระหว่างปีการศึกษา 2546–2548 มีนักเรียนกว่าร้อยละ 20 ไม่จบการศึกษาภาคบังคับ (ม.ต้น) และมีนักเรียนกว่าร้อยละ 31 หลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนสำเร็จการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช. และร้อยละ 38 หลุดออกจากการศึกษาในระดับอุดมศึกษา สาเหตุของการหลุดออกนอกระบบการศึกษา จากข้อมูลกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พบความยากจนถือเป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้กลุ่มเด็กและเยาวชนไทยหลุดออกนอกระบบการศึกษามีมากกว่า 670,000 คน รวมทั้งยังมีสาเหตุอื่นๆ อาทิ ปัญหาภายในครอบครัว ปัญหาแม่วัยใส การที่เด็กต้องดูแลคนป่วยคนพิการที่อยู่ในบ้าน ปัญหาการเจ็บป่วย รวมถึงการย้ายภูมิลำเนาตามผู้ปกครอง
นอกจากนี้ การหลุดออกนอกระบบการศึกษายังสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำ กลุ่มเด็กและเยาวชนในกลุ่มครัวเรือนที่รวยที่สุด (ครัวเรือนที่รวยสุด 10% บน) ได้เรียนต่อในระดับ ม.ปลาย/ปวช.ร้อยละ 80.3 และได้เรียนต่อในระดับปวส./อุดมศึกษาร้อยละ 63.1 ขณะที่กลุ่มเด็กและเยาวชนในกลุ่มครัวเรือนที่ยากจนที่สุด (ครัวเรือนที่ยากจนที่สุด 10% ล่าง) ได้เรียนต่อระดับม.ปลาย/ปวช. เพียงร้อยละ 40.5 และได้เรียนต่อในระดับปวส./อุดมศึกษาเพียงร้อยละ 4.2 นอกจากนั้น ยังมีกลุ่มเยาวชนที่ไม่ได้มีสถานะอยู่ในการจ้างงาน การศึกษาและการฝึกอบรม หรืออาจกล่าวว่าไม่ได้อยู่ในกิจกรรมสะสมทุนมนุษย์ (NEETs: Not in Education, Employment or Training) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยในปี 2562 มีอยู่ร้อยละ 12.87 ของเยาวชนไทยในช่วงอายุ 15 ถึง 24 ปี หรือประมาณ 1,200,000 คน ผลกระทบของการหลุดออกนอกระบบการศึกษาก่อนวัยอันควร คือ (1) ทักษะแรงงานที่ต่ำและค่าแรงที่ต่ำตามมา ส่งผลต่อฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของกลุ่มเด็กดังกล่าวในระยะยาวจนก่อให้เกิดวัฎจักรความจน โดยเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนที่ยากจน (2) การขาดแคลนแรงงานในระยะยาว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างประชากรอย่างรวดเร็ว (3) ความเสี่ยงจากทักษะการทำงานที่มีอาจล้าสมัย (Skills Obsolete) ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดงาน และ (4) อุปสรรคในการเพิ่มผลิตภาพทางการผลิต (Productivity) และการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศ
แนวทางการส่งเสริมเด็กและเยาวชนให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ดังนี้ (1) ร่วมมือกับหน่วยงานและภาคีในพื้นที่ในการนำเด็กและเยาวชนให้กลับสู่ระบบการศึกษาหรือการพัฒนาทักษะอาชีพ และมุ่งเน้นวางแผน การช่วยเหลือเป็นรายกรณี (2) จัดตั้งหน่วยงานเฝ้าระวัง ป้องกัน โดยต้องมีระบบฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพในการติดตามช่วยเหลือเด็กและเยาวชน และสร้างเครือข่ายทั้งภาคการศึกษาและนอกการศึกษา (3) ปรับวิธีการเรียนการสอนให้มีความยืดหยุ่นเหมาะกับสภาพปัญหาของเด็ก มีระบบสะสม โอนหน่วยกิต/เทียบวุฒิการศึกษา และมีรูปแบบการเรียนการสอนที่หลากหลาย และ (4) ศึกษาและแก้ปัญหาผ่านกลไกของรัฐ อาทิ การใช้กลไกภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (Earmarked Tax) เพื่อแก้ปัญหาตรงจุดและต่อเนื่อง
พฤติกรรมทางการเงินของครัวเรือนไทยและความเสี่ยงทางการเงิน
ในปัจจุบันสถานการณ์ครัวเรือนไทยกำลังเผชิญผลกระทบทั้งในมิติทางเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งวัฒนธรรม โดยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างและความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจและสังคมในระดับครัวเรือนอย่างชัดเจน ทั้งนี้ จากผลการศึกษาโครงการสำรวจและศึกษาสาเหตุที่คนไทยก่อหนี้เพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล โดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และบริษัทศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ จำกัด (SAB) ได้ฉายภาพให้เห็นรูปแบบการสะสมความเสี่ยงที่ส่งผลต่อฐานะทางการเงินของครัวเรือนเป็นจำนวนมาก ได้แก่ (1) พฤติกรรมการก่อหนี้ที่เน้นการบริโภค นำไปสู่การสร้างภาระทางการเงินของครัวเรือน และไม่สามารถช่วยยกระดับรายได้ของครัวเรือนให้สูงขึ้นได้ในระยะยาว โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของรายจ่ายมักเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการที่จำเป็น ขณะเดียวกันปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่ายโดยเฉพาะในกลุ่มคนที่เริ่มทำงานใหม่ส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายจ่ายเพื่อสันทนาการฯ อาทิ ค่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์/บุหรี่ ค่าใช้จ่ายท่องเที่ยว และค่าการดูแลความสวยงาม รวมถึงทัศนคติที่พร้อมจะใช้จ่ายมากขึ้นเมื่อมีรายได้สูงขึ้น และความคลั่งไคล้ในการชอปปิง (2) ทัศนคติและพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือนมีแนวโน้มทำให้เกิดการบริโภคสูง การก่อหนี้ที่นำไปใช้จ่ายผิดประเภท และการเข้าสู่วงจรหนี้ซ้ำ โดยเฉพาะการนำเงินที่ได้จากการกู้เพื่อประกอบอาชีพและเพื่อการศึกษาไปใช้บริโภคแทนการลงทุนและต่อยอดเพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตในระยะยาว และเมื่อไม่สามารถชำระคืนได้จะอาศัยการกู้เงินจากแหล่งอื่นเพื่อนำไปชำระหนี้คืนแทน (การก่อหนี้ซ้ำ) และ (3) การเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจทำให้เห็นความเปราะบางของครัวเรือนชัดเจนมากยิ่งขึ้น ในช่วงสถานการณ์ปกติครัวเรือนไทยก็มีปัญหาทางการเงินในระดับสูง ทั้งการมีเงินออมน้อย มีภาระหนี้สูงและนาน และภูมิคุ้มกันทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ เมื่อต้องเผชิญกับภาวะที่เศรษฐกิจหดตัวทำให้ผลกระทบต่อครัวเรือนจะมีความรุนแรง และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นวงกว้าง
ในปัจจุบันการแก้ไขปัญหาของภาครัฐพยายามเร่งดำเนินการเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของครัวเรือนในช่วงระยะสั้น อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญของการแก้ไขปัญหา คือ การแก้ไขปัญหาความเปราะบางทางการเงินในระดับเชิงโครงสร้างของครัวเรือนในระยะยาวอย่างยั่งยืน โดย (1) การสร้างกลไกเพื่อบรรเทาภาระหนี้และปรับเปลี่ยนโครงสร้างหนี้โดยมีภาครัฐเป็นสื่อกลาง (2) การยกระดับรายได้ของประชาชนให้สอดคล้องกับความเป็นอยู่และความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และ (3) การส่งเสริมความรู้และสร้างวินัยทางการเงินให้กับประชาชนผ่านช่องทางเทคโนโลยีที่สามารถเข้าถึงได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ
บทความเรื่อง "วิกฤต COVID-19: บทเรียนเพื่อการก้าวต่อไปอย่างมีภูมิคุ้มกัน”
การแพร่ระบาดของ COVID-19 นำมาซึ่งมาตรการในการควบคุมการแพร่กระจายของโรค ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้างต่อทั้งเศรษฐกิจและสังคมไทย โดยทำให้ (1) กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง ส่งผลถึงการจ้างงาน จากการชะลอตัวของการบริโภคภาคเอกชน การหดตัวของการลงทุน และการส่งออก-นำเข้า ซึ่งส่งผลต่อการประกอบธุรกิจและการจ้างงาน (2) ภาวะหนี้ครัวเรือนถูกซ้ำเติมจากรายได้ที่ลดลง ซึ่งอาจทำให้ครัวเรือนเกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน (3) วิถีชีวิตของคนในสังคมเปลี่ยนไป โดยประชาชนจะให้ความสำคัญกับการรักษาความสะอาดและการดูแลสุขภาพมากขึ้น มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานโดยทำงานจากที่บ้านมากขึ้น มีการใช้บริการสินค้า/ซื้ออาหารทางออนไลน์มากขึ้น รวมไปถึงการศึกษาที่มีการปรับสู่การเรียนการสอนออนไลน์แทนการเรียนที่โรงเรียน (4) คุณภาพชีวิตที่ไม่เหมือนเดิม กลุ่มคนเปราะบางจะได้รับผลกระทบจากการที่รายได้ลดลง และอาจกลายเป็นคนจน คนไร้บ้าน รวมทั้งยังเผชิญปัญหาในเรื่องสุขภาวะจากการป้องกันตนเองทั้งจากการมีหน้ากากอนามัย/เจลล้างมือ หรือการเว้นระยะห่างของคนในครอบครัวจากข้อจำกัดทางการเงินและที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ ยังมีอุปสรรคในการเข้าถึงบริการภาครัฐ ทั้งสาธารณสุข การศึกษา และกระบวนการยุติธรรม (5) ผลกระทบต่อสุขภาพจิต จากความเครียดและแนวโน้มความรุนแรงในครอบครัวที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากแรงกดดันในการดำรงชีพ และ (6) ผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม พบว่า ปริมาณขยะทางการแพทย์ (Medical Waste) มีจำนวนเพิ่มขึ้น รวมถึงขยะพลาสติกและกระดาษที่ใช้เป็นบรรจุภัณฑ์จากธุรกิจเดลิเวอรี่ด้วย ส่งผลต่อระบบการบริหารจัดการขยะมูลฝอย
อย่างไรก็ตาม วิกฤตครั้งนี้ทำให้เกิดการเรียนรู้และการปรับตัวของสังคมไทย ซึ่งจะกลายเป็นความคุ้นชินใหม่หลังการแพร่ระบาดยุติลง อาทิ (1) การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ซึ่งถือเป็นโอกาสลงทุนด้านดิจิทัล การประยุกต์ใช้ดิจิทัลในการดำเนินการธุรกิจ รวมทั้งเกิดการบริการออนไลน์ใหม่ๆ เช่น การศึกษา สุขภาพ การแพทย์ อีเวนต์ต่างๆ (2) การตระหนักในเรื่องการดูแลสุขภาพ ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่จะรับมือกับการระบาดของโรคอุบัติใหม่และการดูแลตัวเองให้มีสุขภาวะที่ดีจนเกิดเป็นความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) (3) การตระหนักถึงการมีหลักประกันทางรายได้รองรับในยามวิกฤต โดยเห็นความสำคัญของการวางแผนทางการเงินของบุคคลและครัวเรือนอย่างรอบคอบ รวมถึงการมีความรู้ในการบริหารจัดการทางการเงิน และ (4) การตระหนักถึงความเข้มแข็งของภาคประชาสังคม ทำให้เห็นบทบาทและความเข้มแข็งของภาคประชาสังคมจากการให้ความช่วยเหลือ/แบ่งปัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนผู้ได้รับผลกระทบ
ในการนี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการดำเนินการเพื่อรองรับการปรับตัวดังกล่าว ได้แก่ (1) การพัฒนาระบบนิเวศดิจิทัล โดยส่งเสริมและพัฒนาระบบดิจิทัลและแพลตฟอร์มออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพ (2) การสร้างหลักประกันด้านรายได้และยกระดับประกันสังคมให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุม โดยพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่มีความแม่นยำ ส่งเสริมระบบการออมตลอดชีวิต รวมทั้งจัดระเบียบการจัดสวัสดิการให้ครอบคลุมและทั่วถึง (3) การส่งเสริมกระบวนการคิดวิเคราะห์และรับมือปัญหาในภาวะวิกฤต ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชน ความคิดสร้างสรรค์ และเครือข่ายอาสาสมัคร (4) การเสริมสร้างให้สังคมไทยเป็นสังคมพหุปัญญาที่รอบรู้อย่างรอบด้านและสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ถึงกัน ทั้งเรื่องสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม และ (5) การเรียนรู้และถอดบทเรียนจากการดำเนินการต่างๆ ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและเตรียมความพร้อมในการทำงานและบริหารจัดการของภาครัฐให้สามารถรองรับสถานการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในระยะต่อไปได้อย่างเหมาะสมและรวดเร็ว โดยเฉพาะการบริหารจัดการข้อมูล การสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านสาธารณสุข
ดาวน์โหลดเอกสารประกอบทั้งหมด ►►► http://bit.ly/35AJAV7
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
28 พฤษภาคม 2563