เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 ศ.พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในไตรมาสแรกของปี 2563 และแนวโน้มปี 2563 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2563
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2563 ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.5 ในไตรมาสก่อนหน้า (%YoY) และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2563 ลดลงจากไตรมาสที่สี่ของปี 2562 ร้อยละ 2.2 (QoQ_SA)
ด้านการใช้จ่าย การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัว การใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนปรับตัวลดลง การส่งออกรวมปรับตัวลดลงตามการส่งออกบริการที่ปรับตัวลดลงมาก ในขณะที่การส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัว การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.0 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 4.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนและกึ่งคงทน สอดคล้องกับการชะลอตัวของฐานรายได้ที่สำคัญ ๆ ในระบบเศรษฐกิจและการลดลงของความเชื่อมั่นผู้บริโภค ในขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนและหมวดบริการขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนลดลงร้อยละ 8.8 ตามการลดลงของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล หมวดสินค้ากึ่งคงทนลดลงร้อยละ 4.4 สอดคล้องกับการลดลงของดัชนีปริมาณค้าปลีกสินค้ากึ่งคงทนและดัชนีปริมาณการนำเข้าสินค้าหมวดสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม ในขณะที่การใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทนขยายตัวร้อยละ 2.8 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนส่วนหนึ่งจากการเตรียมการของภาคครัวเรือนเพื่อรองรับการระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งส่งผลให้การใช้จ่ายสินค้าอาหารและเครื่องดื่มหลายรายการขยายตัว และการใช้จ่ายในหมวดบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของปริมาณการใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือน ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 49.7 เทียบกับระดับ 56.8 ในไตรมาสก่อนหน้า การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลลดลงร้อยละ 2.7 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.9 ในไตรมาสก่อนหน้า อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายรวมอยู่ที่ร้อยละ 25.3 (สูงกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 22.3 ในไตรมาสเดียวกันของปีงบประมาณก่อน) การลงทุนรวมลดลงร้อยละ 6.5 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.8 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 5.5 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการลดลงของการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรและการลงทุนในสิ่งก่อสร้าง ร้อยละ 5.7 และร้อยละ 4.3 ตามลำดับ และการลงทุนภาครัฐลดลงร้อยละ 9.3 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 5.1 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนของรัฐบาลลดลงร้อยละ 22.1 สอดคล้องกับความล่าช้าของการประกาศใช้พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวร้อยละ 12.1 อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนอยู่ที่ร้อยละ 10.5 เทียบกับอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 4.3 ในไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 18.2 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน
ในด้านภาคต่างประเทศ การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 60,867 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 1.5 เทียบกับการลดลงร้อยละ 4.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 ในขณะที่ราคาส่งออกลดลงร้อยละ 0.4 กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าขยายตัว เช่น น้ำตาล (ร้อยละ 16.2) คอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 11.0) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 15.0) เครื่องปรับอากาศ (ร้อยละ 14.8) ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า (ร้อยละ 12.4) และอาหารสัตว์ (ร้อยละ 10.6) เป็นต้น กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าลดลง เช่น ข้าว (ลดลงร้อยละ 25.0) ยางพารา (ลดลงร้อยละ 2.7) มันสำปะหลัง (ลดลงร้อยละ 19.0) รถยนต์นั่ง (ลดลงร้อยละ 11.1) รถกระบะและรถบรรทุก (ลดลงร้อยละ 27.4) เคมีภัณฑ์ (ลดลงร้อยละ 14.0) ปิโตรเคมี (ลดลงร้อยละ 10.7) และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ลดลงร้อยละ 4.4) เป็นต้น การส่งออกสินค้าไปยังตลาดอาเซียน (9) และตะวันออกกลาง (15) ขยายตัว ขณะที่การส่งออกไปยังสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (15) และออสเตรเลียปรับตัวลดลง เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 3.1 และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวร้อยละ 0.5 ส่วนการนำเข้าสินค้า มีมูลค่า 52,817 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 0.9 เทียบกับการลดลงร้อยละ 7.6 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.01 ในขณะที่ราคานำเข้าลดลงร้อยละ 0.9
ด้านการผลิต การผลิตสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาอุตสาหกรรม สาขาเกษตรกรรม สาขาการขนส่ง และสาขาก่อสร้างปรับตัวลดลง ขณะที่การผลิตสาขาการขายส่งและการขายปลีก สาขาไฟฟ้าและก๊าซ สาขาการเงินและการประกันภัย และสาขาข้อมูลข่าวสารขยายตัว โดยสาขาเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 5.7 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 2.5 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการลดลงของผลผลิตพืชเกษตรสำคัญซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ผลผลิตพืชผลสำคัญที่ลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก (ลดลงร้อยละ 29.4) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ลดลงร้อยละ 29.2) อ้อย (ลดลงร้อยละ 12.7) ปาล์มน้ำมัน (ลดลงร้อยละ 19.1) มันสำปะหลัง (ลดลงร้อยละ 5.4) และกลุ่มไม้ผล (ลดลงร้อยละ 0.4) เป็นต้น ผลผลิตพืชผลสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ยางพารา (ร้อยละ 1.1) ด้านผลผลิตหมวดประมงลดลงร้อยละ 8.3 ขณะที่ผลผลิตหมวดปศุสัตว์ขยายตัวต่อเนื่องในเกณฑ์ดีร้อยละ 3.6 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.5 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นไตรมาสที่ 4 ติดต่อกัน โดยดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน (ร้อยละ 123.2) กลุ่มไม้ผล (ร้อยละ 23.4) ข้าวเปลือก (ร้อยละ 6.7) และอ้อย (ร้อยละ 17.3) อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาสินค้าเกษตรสำคัญบางรายการปรับตัวลดลง เช่น ยางพารา (ลดลงร้อยละ 9.0) มันสำปะหลัง (ลดลงร้อยละ 11.8) และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ลดลงร้อยละ 10.0) เป็นต้น การเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาสินค้าเกษตร ส่งผลให้ ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมกลับมาขยายตัวร้อยละ 2.0 สาขาการผลิตอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 2.7 ต่อเนื่องจากร้อยละ 2.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกในช่วงร้อยละ 30 – 60 ลดลงร้อยละ 19.0 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) ลดลงร้อยละ 2.2 ในขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) ขยายตัวร้อยละ 0.8 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่ลดลง เช่น การผลิตยานยนต์ (ลดลงร้อยละ 18.8) การผลิตน้ำตาล (ลดลงร้อยละ 37.7) และการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ลดลงร้อยละ 4.3) เป็นต้น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น การผลิตเครื่องจักรอื่น ๆ ที่ใช้งานทั่วไป (ร้อยละ 13.0) การผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง (ร้อยละ 6.9) และการผลิตสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำสด แช่เย็นหรือแช่แข็ง (ร้อยละ 12.7) เป็นต้น อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 66.7 ลดลงจากร้อยละ 70.8 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ลดลงร้อยละ 24.1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 6.8 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศและรายรับจากนักท่องเที่ยวลดลงมาก โดยในไตรมาสนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 6.69 ล้านคน ลดลงร้อยละ 38.0 ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 13 ไตรมาส (นับตั้งแต่ไตรมาสที่สี่ของปี 2559) เมื่อรวมกับการลดลงของนักท่องเที่ยวชาวไทย ส่งผลให้ในไตรมาสนี้มีรายรับรวมจากการท่องเที่ยว 0.515 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 38.2 ประกอบด้วย (1) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 0.332 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 40.4 โดยรายรับจากนักท่องเที่ยวจากประเทศสำคัญที่ลดลง ประกอบด้วย รายรับจากนักท่องเที่ยวจีน มาเลเซีย อินเดีย และเกาหลีใต้ ตามลำดับ และ (2) รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 0.183 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 33.6 อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 51.50 ลดลงจากร้อยละ 71.26 ในไตรมาสก่อนหน้า และลดลงจากร้อยละ 78.62 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า ลดลงร้อยละ 6.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของบริการขนส่งผู้โดยสารเป็นสำคัญ โดยบริการขนส่งทางอากาศลดลงร้อยละ 20.8 บริการขนส่งทางบกและท่อลำเลียงลดลงร้อยละ 4.2 และบริการสนับสนุนการขนส่งลดลงร้อยละ 2.4 อย่างไรก็ตาม บริการขนส่งทางน้ำขยายตัวร้อยละ 2.2 และบริการไปรษณีย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 สาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร ขยายตัวร้อยละ 4.4 ชะลอลงจากขยายตัวร้อยละ 10.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของบริการโทรคมนาคมและบริการการจัดทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์และการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เป็นสำคัญ และสาขาการเงินและการประกันภัย ขยายตัวร้อยละ 4.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.4 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากการขยายตัวในเกณฑ์สูงจากสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่ออุปโภคบริโภคของบริษัทผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่มิใช่สถาบันการเงิน และผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ปรับตัวดีขึ้น ส่วนด้านการประกันภัยโดยรวมขยายตัวเร่งขึ้น
เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.0 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.4 บัญชีเดินสะพัดเกินดุล 9.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (295.8 พันล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 7.1 ของ GDP เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 อยู่ที่ 226.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 มีมูลค่าทั้งสิ้น 7,018.7 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 44.0 ของ GDP
แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2563
เศรษฐกิจไทยปี 2563 คาดว่าจะปรับตัวลดลงในช่วงร้อยละ (-6.0) - (-5.0) เนื่องจาก (1) การปรับตัวลดลงรุนแรงของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก (2) การลดลงรุนแรงของจำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ (3) เงื่อนไขและข้อจำกัดที่เกิดจากการระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศ และ (4) ปัญหาภัยแล้งโดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 8.0 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมปรับตัวลดลงร้อยละ 1.7 และร้อยละ 2.1 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ (-1.5) - (-0.5) และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 4.9 ของ GDP
รายละเอียดของการประมาณการเศรษฐกิจในปี 2563 ในด้านต่าง ๆ มีดังนี้
1. การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคและบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะลดลงร้อยละ 1.7 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 4.5 ในปี 2562 และการขยายตัวร้อยละ 3.5 ในการประมาณการเดิม ตามแนวโน้มการลดลงของฐานรายได้ที่สำคัญ ๆ ในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในด้านการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน และความเชื่อมั่นผู้บริโภค รวมทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคและมาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มที่จะเริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ ในช่วงที่เหลือของปี ตามแนวโน้มการลดลงของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ รวมทั้งการผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่และจำกัดการเดินทางของภาครัฐ และปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐ การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.6 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.4 ในปี 2562 และเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.6 ในการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับการปรับเพิ่มอัตราเบิกจ่ายงบรายจ่ายประจำภายใต้งบประมาณประจำปี 2563 รวมทั้งแรงขับเคลื่อนเพิ่มเติมจากการใช้จ่ายภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ทั้งในส่วนของแผนงานด้านสาธารณสุขเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรค และแผนงานเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม
2. การลงทุนรวม คาดว่าจะลดลงร้อยละ 2.1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.1 ในปี 2562 และการขยายตัวร้อยละ 3.6 ในการประมาณการครั้งก่อน โดยการลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.6 เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.2 ในปี 2562 และเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.8 ในการประมาณการครั้งก่อน โดยเป็นผลจากการเบิกจ่ายงบลงทุนภายใต้งบเหลื่อมปีที่มีแนวโน้มสูงกว่าสมมติฐานการประมาณการครั้งก่อน และการเพิ่มขึ้นของวงเงินภายใต้พระราชกำหนดเงินกู้ฯ ในส่วนของแผนงานเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ส่วนการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะลดลงร้อยละ 4.2 ปรับลดลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.8 ในปี 2562 และการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับการปรับตัวลดลงของอัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรม การส่งออก การบริโภคภายในประเทศ และความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ
3. มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะลดลงร้อยละ 8.0 เทียบกับการลดลงร้อยละ 3.2 ในปี 2562 และเป็นการปรับลดจากการขยายตัวร้อยละ 1.4 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยเป็นผลจากการปรับลดประมาณการปริมาณการส่งออกสินค้าจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.5 เป็นการลดลงร้อยละ 6.0 สอดคล้องกับการปรับลดสมมติฐานเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกจากการขยายตัวร้อยละ 3.2 และร้อยละ 2.4 เป็นการลดลงร้อยละ 2.8 และร้อยละ 10.0 ตามลำดับ และการปรับลดสมมติฐานราคาสินค้าส่งออกซึ่งคาดว่าจะลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.1 เป็นการลดลงร้อยละ 2.0 ตามการปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบ เมื่อรวมกับการส่งออกบริการที่คาดว่าจะปรับตัวลดลงตามการปรับลดสมมติฐานจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจาก 39.8 ล้านคน เป็น 12.7 ล้านคน คาดว่าจะส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการลดลงร้อยละ 17.3 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.9 ในการประมาณการครั้งก่อนหน้า และการลดลงร้อยละ 2.6 ในปี 2562
ประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2563
การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2563 ควรให้ความสำคัญกับ (1) การประสานนโยบายการเงินการคลังเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจในช่วงการลดลงอย่างรุนแรงของรายได้จากการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก รวมทั้งเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และเพื่อสร้างความมั่นใจว่าภาคธุรกิจมีความพร้อมในการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังการระบาดของโรคโควิด 19 และเงื่อนไขข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจผ่อนคลายลง (2) การผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่และข้อจำกัดการเดินทางควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคโควิด 19 อย่างรัดกุม และดำเนินมาตรการเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนให้พฤติกรรมในการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนและภาคธุรกิจสามารถปรับตัวเข้าสู่ระดับใกล้เคียงภาวะปกติ รวมทั้งสามารถปรับตัวสอดคล้องกับมาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดของภาครัฐ และการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคและรูปแบบการประกอบธุรกิจที่เกิดจากการระบาดของโรคโควิด 19 (3) การให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนภาคการส่งออกสินค้าเพื่อไม่ให้การส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงรุนแรงมากเกินไป รวมทั้งเพื่อช่วยลดผลกระทบจากการลดลงของรายได้จากการท่องเที่ยว โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้าในช่วงที่ผ่านมาและได้รับประโยชน์เพิ่มเติมจากการระบาดของโรคโควิด 19 ในต่างประเทศ ซึ่งทำให้ความต้องการสินค้าบางรายการปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ และอุปกรณ์สำนักงานและอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการทำงานที่บ้าน และวัตถุดิบสำหรับการประกอบอาหารที่บ้าน (4) การเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้กรอบต่าง ๆ ของภาครัฐ ประกอบด้วย (i) การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90.2 ของวงเงินงบประมาณ โดยเบิกจ่ายรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 99.0 และร้อยละ 55.0 ตามลำดับ (ii) การเบิกจ่ายงบประมาณเหลื่อมปีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90.0 (iii) การเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75.0 และ (iv) การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้กรอบพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมฯ (5) การขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายใต้พระราชกำหนดเงินกู้ เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนการสร้างศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาวภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีและกรอบงบลงทุนรัฐวิสาหกิจอย่างต่อเนื่อง และ (6) การเตรียมการรองรับความเสี่ยงสำคัญ ๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปีและในระยะปานกลาง
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
18 พฤษภาคม 2563
|