ข่าวสาร/กิจกรรม
|
สศช. หารือผู้ประสานงาน UN ร่วมจัดทำรายงานประเมินผลกระทบจากโควิด-19 และการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สำหรับประเทศไทย
วันที่ 15 พ.ค. 2563 (จำนวนผู้เข้าชม 10)
|
เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการฯ พร้อมด้วยผู้บริหารกองศึกษาและวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ และกองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมให้การต้อนรับและประชุมหารือกับ นางกีต้า ซัพบระวาล (Mrs. Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย (The United Nation Resident Coordinator in Thailand) และคณะ ณ ห้องประชุม 522 สศช.
สำหรับประเด็นหารือประกอบด้วย หนึ่ง ความร่วมมือกับหน่วยงานสหประชาชาติในประเทศไทย ได้แก่ สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Children's Fund: UNICEF) โดย UNDP และ UNICEF จะร่วมกันจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 (โควิด-19) สำหรับประเทศไทย ร่วมกับ สศช. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) หอการค้าไทย ธนาคารโลก และธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) เพื่อศึกษาและประเมินผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคมจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเสนอแนะนโยบายและมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าวในระดับประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ว่าจะสามารถช่วยให้ไทยก้าวผ่านสถานการณ์การแพร่ระบาด และสามารถดำเนินงานเพื่อบรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และแผนพัฒนาระดับประเทศได้ตามเป้าหมาย โดยทาง UNDP และ UNICEF จะดำเนินการร่วมกับ Economist Intelligence Unit (EIU) ทำการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและการเงิน และ Oxford Policy Management (OPM) ในการประเมินผลกระทบทางสังคมโดยรวมและต่อกลุ่มเปราะบางที่สุด จากนั้นจะมีการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยความร่วมมือของ TDRI ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าการดำเนินงานจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2563
นอกจากนี้ ยังมีโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาศูนย์นวัตกรรมระดับภูมิภาค (Regional Innovation Centre: RIC) ในประเทศไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ส่งเสริมการพัฒนาให้เกิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความร่วมมือ (Co-creation platform) ภาคีเครือข่ายและผู้เชี่ยวชาญระดับภูมิภาคในการสร้างสรรค์วิธีการรับมือกับความท้าทายที่ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคที่เผชิญร่วมกัน โดยอาศัยความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การสร้างนวัตกรรมการแก้ปัญหาใหม่ๆ (Co-creating innovative solutions) โดยมุ่งให้เกิดการออกแบบ ทดลอง และสร้างสรรค์นวัตกรรมเชิงนโยบายที่มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในทุกมิติ (2) มุ่งพัฒนา RIC ให้เป็นกลไกเชื่อมโยงองค์ความรู้และประสบการณ์จากภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาชนทั้งจากในประเทศและในระดับภูมิภาค โดยมุ่งสร้างสรรค์พื้นที่ทดลอง (Safe sandbox) นวัตกรรมเชิงนโยบายผ่านการประยุกต์ใช้องค์ความรู้และแนวทางใหม่ ๆ ในการพัฒนาและแก้ปัญหาความท้าทายที่สำคัญระดับประเทศและภูมิภาค และ (3) มุ่งพัฒนาศักยภาพของประเทศไทยให้มีบทบาทที่โดดเด่นในภูมิภาคในการสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาของภูมิภาคโดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV โดยให้ความสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมเชิงนโยบายเพื่อการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ โครงการ RIC มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี กำหนดเริ่มดำเนินการปี 2563-2565
สำหรับประเด็นหารือที่สอง การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย ในการประชุมคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2562 ซึ่งมี สศช. เป็นเลขานุการของคณะกรรมการฯ นั้น ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทย (Thailand’s SDGs Roadmap) ประกอบด้วย 6 ด้าน ได้แก่ (1) การสร้างการตระหนักรู้ (2) การเชื่อมโยงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนกับแผน 3 ระดับของประเทศ (3) กลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน (4) การจัดทำโครงการ/การดำเนินงาน/การพัฒนาเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (5) ภาคีการพัฒนา และ (6) การติดตามผ่านระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) โดยปัจจุบัน สศช. อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. 2559-2563 ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2563 โดยจะร่วมมือกับ UN ในการพัฒนารายงานให้มีความสมบูรณ์มากที่สุด และจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและประชาคมโลกต่อไป
ข่าว: กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ
ภาพ: อภิชาติ แดงดี
|