ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
สภาพัฒน์ เชิญเอกชนถกแก้ปัญหาเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 ครั้งที่ 2/2563
วันที่ 20 เม.ย. 2563
เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็น ประธาน การประชุมคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 2/2563 ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน พร้อมด้วย ผู้บริหาร สศช.  ที่เกี่ยวข้อง  ณ ห้องประชุม 521 และเนื่องจากมีผู้เข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก จึงได้ถ่ายทอดการประชุม ไปยังห้องประชุม 532  สศช. ด้วย 

เลขาธิการฯ กล่าวว่า สศช. ได้เชิญหารือภาครัฐและเอกชนภายใต้คณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนภาคเอกชน ได้แก่ (1) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (2) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (3) สมาคมธนาคารไทย (4) สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (5) สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (6) สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (7) สภาเกษตรกรแห่งชาติ (8) สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจ มาประชุมครั้งนี้ ตามที่คณะที่ปรึกษาฯ ได้เสนอข้อเสนอแนะและมาตรการตามมติที่ได้หารือในคราวประชุม เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2563 ซึ่งได้แบ่งข้อเสนอและมาตราการเป็นประเด็นเฉพาะด้าน 5 กลุ่ม ดังนี้ 

1.ข้อเสนอมาตรการเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ได้แก่ (1) มาตรการด้านประกันสังคม/กองทุน/แรงงาน เช่น ลดเงินสมทบประกันสังคมนายจ้างจาก 4% เหลือ 1% ระยะเวลา 180 วัน (2) มาตรการด้านภาษี เช่น ให้ภาคเอกชนหักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า กรณีใช้งบประมาณเพื่อป้องกัน COVID-19 (3) มาตรการด้านสาธารณูปโภค/ที่ดิน เช่น ขอเลื่อนการจ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟ ออกไป 4 เดือน (4) มาตรการด้านการเงิน เช่น สินเชื่อที่รัฐให้เพิ่มสภาพคล่อง ขอให้ บสย. ค้ำประกันวงเงินกู้เพิ่มเป็น 80% (5) มาตรการด้านอื่น ๆ เช่น  ให้รัฐจัดสรรงบประมาณในการจ้างงาน ซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในประเทศ (Made-in-Thailand) ซึ่งเอกชนจะได้มีการหารือในรายละเอียดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงแรงงานและกระทรวงมหาดไทย ต่อไป

2.ข้อเสนอมาตรการเพื่อการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่ ได้แก่ (1) มาตรการในการปรับพฤติกรรมของประชาชน โดยมีการกำหนดแนวทางในการปฏิบัติของประชาชนและสถานที่ให้บริการ (2) แนวทางพิจารณาการเปิดดำเนินการธุรกิจตามความเสี่ยงของสถานประกอบการ และพื้นที่ที่มีความเสี่ยง อาทิ สถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่ำอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่ำ อาจพิจารณาเปิดให้บริการได้ตามมาตรการที่กำหนด ขณะที่สถานประกอบการที่มีความเสี่ยงสูง และอยู่ในจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงจะไม่พิจารณาเปิดให้บริการ (3) กระบวนการอนุญาตและติดตาม อาทิ การลงทะเบียนสำหรับสถานประกอบการ การติดตามตรวจสอบโดยภาครัฐระดับท้องถิ่นและจังหวัด การรายงานของภาคประชาชนผ่านแอพลิเคชันไลน์ (4) การพิจารณาระยะเวลาดำเนินการ โดยเป็นการทดลองเปิดในจังหวัดที่มีความเสี่ยงต่ำและขยายผลไปสู่จังหวัดที่มีความเสี่ยงต่ำและปานกลางต่อไป (5) การสื่อสาร โดยภาครัฐจัดทำแผนการสื่อสารไปสู่ประชาชนและสถานประกอบการให้รับทราบถึงข้อปฏิบัติและแนวทางในการดำเนินการ (6) คณะทำงานร่วมในการดำเนินการ ประกอบด้วยภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคสังคมและวิชาการ ซึ่งเอกชนจะได้มีการหารือในรายละเอียดกับกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุขต่อไป

3.ข้อเสนอมาตรการเพื่อการแก้ไขปัญหาด้วยดิจิทัล (Digital Solution) ได้แก่ (1) การควบคุม ป้องกัน และรักษา เช่น การจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (2) ความต่อเนื่องธุรกิจ เช่น แก้กฎหมายเพื่อรองรับการจัด E-Gov Digital ID (3) การจ้างงานและพัฒนาคน มาตรการสนับสนุนผู้จนการศึกษาใหม่ คนว่างงาน และรักษาการจ้างงานในปัจจุบัน (4) ความมั่นใจตลาดเงินและทุน เช่น การเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจ และการช่วยเหลือ Digital Startup, SME (5) เศรษฐกิจใหม่ เช่น Smart farming และ E-commerce (6) โครงสร้างขันเคลื่อนยามวิกฤต เช่น การปรับปรุงโครงสร้างการขับเคลื่อนพิเศษในสถานการณ์ฉุกเฉิน

4.ข้อเสนอมาตรการเพื่อภาคเกษตร ประกอบด้วย 

มาตรการระยะสั้น ได้แก่ (1) การเยียวยาให้กับเกษตรกร ครัวเรือนละ 5,000 บาท ระยะเวลา 3 เดือน (2) การพักหนี้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับทางราชการ ระยะเวลา 1 ปี (3) การปรับโครงสร้างหนี้และขยายเวลาชำระหนี้จากการเช่าซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร (4) การจัดให้มีช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ (5) การสนับสนุนและจัดระบบการขนส่งผลผลิตการเกษตร (6) การส่งออกผ่านพรหมแดนประเทศเพื่อนบ้าน และ (7) การใช้ Big Data ในการติดตามสถานการณ์ภาคเกษตร 

มาตรการระยาว ซึ่งจะต้องหารือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบอีกครั้ง ได้แก่ (1) การปรับโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ่านกองทุนร่วมทุนเกษตรกร 50,000 ล้านบาท (2) การพัฒนานักธุรกิจเกษตรอัจฉริยะ และ (3) การพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตผ่านกลไกการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม

5.ข้อเสนอมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคจากมาตรการสินเชื่อใหม่วงเงิน 500,000 ล้านบาท สำหรับภาคธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ (1) สถาบันการเงินจะกระจายวงเงินให้ลูกหนี้ทุกระดับของ SMEs ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ กระจายวงเงินครอบคลุม ทุกอุตสาหกรรม  ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และการให้วงเงิน ไม่จำกัดเฉพาะลูกหนี้ชั้นดีของสถาบันการเงินเท่านั้น (2) การผ่อนปรนเงื่อนไขและแนวทางการพิจารณาวงเงินสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ (Soft Loan) ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องไปหารือกับธนาคารต่างๆ เพื่อให้เกิดกระจายสินเชื่อเงินกู้ไปถึงผู้ประกอบการรายย่อย โดยไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียม  และ (3) การเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันส่วนสูญเสียจากเดิมแก่บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

อย่างไรก็ตามข้อเสนอทั้ง 5 กลุ่ม มีหลายมาตรการที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานของหน่วยงานและสามารถดำเนินการได้ทันที หลายมาตรการยังไม่ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และอีกส่วนหนึ่งเป็นมาตรการระยะยาว ดังนั้น เลขาธิการฯ จึงได้แบ่งมาตรการเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 

(1) กลุ่มมาตรการที่ทำได้ทันที เช่น การเยียวยาเกษตรกร การอนุญาตให้ปรับการจ้างงานเป็นรายชั่วโมงได้  

(2) กลุ่มต้องหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ลดเงินสมทบประกันสังคมนายจ้างจาก 4% เหลือ 1% ระยะเวลา 180 วัน การให้ภาคเอกชนหักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า กรณีใช้งบประมาณเพื่อป้องกัน COVID-19 และการขอขยายสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐออกไป 4 เดือน จังหวัดและธุรกิจที่มีความเสี่ยงระดับต่ำถึงปานกลางจะทดลองนำร่อง (Sandbox) เป็นต้น 

(3) กลุ่มมาตรการระยะยาว เช่น การแก้กฎหมายเพื่อรองรับการจัด E-Gov การจัดตั้ง "กองทุนร่วมทุนเกษตรกร” 50,000 ล้านบาท 

หลังจากนั้น สศช. จะนำมาตรการและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน มาประมวลและจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อนำเสนอต่อท่านนายกรัฐมนตรี ตามที่ได้มีวินิจฉัยและสั่งการต่อไป

20 เมษายน 2563

สอบถามเพิ่มเติม : กองยุทธศาสตร์และประสานการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน สศช. 
เบอร์ติดต่อภายใน (5601 ,5623)

------------------------------------

ข่าว : กองยุทธศาสตร์และประสานการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน สศช. 

เรียงเรียง/ภาพ/เผยแพร่ : ธนเทพ ปลายแก่น


สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์