ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
สภาพัฒน์ เชิญเอกชนถกแก้ปัญหาเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 
วันที่ 13 เม.ย. 2563
สภาพัฒน์ เชิญประชุมคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์
การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หาข้อเสนอแนะ 
การป้องกันและแก้ปัญหาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19
-------------------

เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2563 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็น ประธาน การประชุมคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 1/2563 ตามที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 8/2563 ลงวันที่ 8 เมษายน 2563 ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน พร้อมด้วย ผู้บริหาร สศช.  ที่เกี่ยวข้อง ผ่านทางระบบการประชุมทางไกล (Video Conference)  ณ ห้องประชุม 521 และเนื่องจากมีผู้เข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก จึงได้ถ่ายทอดการประชุม ไปยังห้องประชุม 532  สศช. ด้วย 

เลขาธิการฯ ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนและประชาชนผ่านช่องทาง Facebook Live ของสภาพัฒน์ หลังจากการประชุม ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการรับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วมในการช่วยกันแก้ปัญหาและบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากโควิด 19 จึงได้ตั้งคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนภาคเอกชน ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สภาเกษตรกรแห่งชาติ สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจ เพื่อ ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ข้อเสนอแนะ การป้องกัน และแก้ไขปัญหาของภาคธุรกิจเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ให้เป็นไปด้วยความรอบคอบและมีประสิทธิภาพ 

ที่ประชุม ได้หารือ โดยภาคเอกชนมีข้อเสนอแนะที่สำคัญ อาทิ (1) ปรับลดค่าไฟฟ้า 5% ทั่วประเทศและลดค่า ft ตามราคาน้ำมัน (2) เอกชนสามารถนำค่าใช้จ่ายสำหรับป้องกันโควิด-19 มาหักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า (3) ขอให้รัฐออกคำสั่งปิดกิจการโรงแรมเพื่อให้ลูกจ้างได้รับเงินช่วยเหลือจากประกันสังคม (4) ขอให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ปีภาษี 2562-2563 กรณี SMEs เหลือไม่เกิน 10% และกรณีผู้ประกอบการอื่น เหลือไม่เกิน 20% (5) รัฐจัดสรรงบประมาณในการจ้างงานและซื้อสินค้าจากผู้ผลิตภายในประเทศ (6) ผ่อนปรบการเข้าถึงสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ (7) อนุญาตให้จ้างงานเป็นรายชั่วโมง ชม. ละ 40-41 บาท 4-8 ชม/วัน (8) ลดเงินสมทบประกันสังคมของนายจ้างจาก 4% เหลือ 1% (9) ช่วยเหลือแรงงานที่เงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท รัฐจ่าย 50% บริษัทจ่าย 25% ของค่าจ้าง (10) บริษัทนำค่าใช้จ่ายด้านค่าจ้างแรงงาน ในช่วง COVID-19 มาหักภาษี 3 เท่า (11) การผ่อนปรนมาตรการเคอร์ฟิวสำหรับผู้ประกอบการขนส่งสินค้าในเวลากลางคืน  และ (12) การช่วยเหลือผู้ประกอบการขนส่งผู้โดยสารระหว่างเมืองให้มีมาตรฐานเดียวกัน 

ทั้งนี้ ภาคเอกชน ได้เสนอถึงปัญหาอุปสรรคและความชัดเจนของมาตรการ เช่น การเข้าถึงวงเงินสินเชื่อผ่อนปรนที่มีเงื่อนไขค่อนข้างรัดกุมทำให้ภาคเอกชนไม่สามารถเข้าถึงได้ การกำหนดหลักเกณฑ์การค้ำประกันเพื่อลดความเสี่ยงให้กับสถาบันการเงิน การช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถจ้างแรงงานโดยใช้ประโยชน์จากกองทุนประกันสังคม และการกำหนดมาตรการช่วยเหลือ SMEs ที่ครอบคลุมทั้งระยะเร่งด่วน และระยะฟื้นฟู รวมถึงการปรับโครงสร้างภาคเกษตรไปสู่การทำเกษตรที่มั่นคงและยั่งยืน ซึ่งประเด็นต่างๆ จะได้มีการหารือในรายละเอียดในครั้งต่อไป

เลขาธิการฯ  กล่าวว่า  การประชุมครั้งหน้าขอให้ คณะที่ปรึกษาฯ ที่เกี่ยวข้องจัดทำข้อเสนอประเด็นเฉพาะด้าน เพื่อเสนอที่ประชุมพิจารณาหารือในรายละเอียดในการประชุมครั้งต่อไป แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้ (1) กลุ่มมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) ประกอบด้วย สมาคมธนาคารไทย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และธนาคารแห่งประเทศไทย (2) กลุ่มมาตรการเพื่อการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่ ประกอบด้วยหอการค้าไทย (3) กลุ่มมาตรการเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ (4) กลุ่มมาตรการเพื่อภาคเกษตร ประกอบด้วย สภาเกษตรกรแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และ (5) กลุ่มมาตรการเพื่อการแก้ไขปัญหาด้วยดิจิทัล (Digital Solution) ประกอบด้วยคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ซึ่งจะได้พิจารณาคู่ขนานกันไป เพื่อประกอบการพิจารณาในครั้งต่อไป

นอกจากนี้ ในระยะต่อไป สศช. จะได้ดำเนินการประมวลความต้องการจากทุกภาคส่วน รวมถึง การเปิดพื้นที่สาธารณะในการรับฟังความคิดเห็นผ่าน Facebook "ร่วมด้วยช่วยคิด” ซึ่งจะได้รวบรวม ประมวลและนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

12 เมษายน 2563

สอบถามเพิ่มเติม : กองยุทธศาสตร์และประสานการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน สศช.
เบอร์โทรศัพท์ภายใน (5601,5623)
--------------------------------------------
ข่าว : กองยุทธศาสตร์และประสานการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน สศช.
ภาพ : เมฐติญา วงษ์ภักดี 
เรียบเรียง/เผยแพร่ : ธนเทพ ปลายแก่น



สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์