หลักการและเหตุผล
นับจากการเริ่มมีแผนพัฒนาประเทศอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2504 ประเทศไทยประสบผลสำเร็จ ในการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับที่น่าพอใจ เศรษฐกิจในภาพรวมขยายตัวในเกณฑ์สูงเฉลี่ยร้อยละ 6.17 ซึ่งส่งผลให้รายได้ต่อหัวของประชากรเพิ่มขึ้นจาก 110 เหรียญ สรอ. ในปี 2505 เป็น 5,210 เหรียญ สรอ. ในปี 2555 ซึ่งทำให้ธนาคารโลกยกระดับฐานะของประเทศไทยจากประเทศรายได้ต่ำเป็นประเทศรายได้ปานกลางในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525 – 2529) และยกฐานะจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับกลาง (Middle Middle Income Country) เป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับบน (Upper Middle Income Country) ในปี 2554 ความสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจดังกล่าวทำให้สัดส่วนของคนยากจนปรับตัวลดลงตามลำดับจากร้อยละ 65.26 ในปี 2531 เป็นร้อยละ 13.15 ในปี 2554 อย่างไรก็ตามหากพิจารณาในเชิงพื้นที่ พบว่าความยากจนยังคงกระจุกตัวหนาแน่นอยู่ในเขตชนบท โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ และกลุ่มประชากรวัยเด็ก กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ประกอบการในภาคเกษตร และผู้มีระดับการศึกษาต่ำ เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนความจากจนสูง ในด้านการกระจายรายได้ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้เพิ่มขึ้นในระยะแรกของการพัฒนา ก่อนที่จะปรับตัวลดลงอย่างช้าๆ ในช่วงหลังวิกฤติการณ์เศรษฐกิจในปี 2540 แม้กระนั้นก็ตามข้อมูลล่าสุดในปี 2554 แสดงให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ยังคงอยู่ในระดับสูง ปัญหาความยากจนที่ยังคงกระจุกตัวในบางพื้นที่และบางกลุ่ม ตลอดจนปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ยังคงเป็นปัญหา ที่ท้าทายต่อการกำหนดนโยบาย โดยเฉพาะภายใต้จุดมุ่งหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อยกระดับฐานะประเทศไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูงและยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลให้ปัญหาการกระจายได้ มีความรุนแรงมากขึ้น
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีพันธกิจที่สำคัญ คือ การวางแผนและจัดทำยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศไปสู่ความสมดุลและยั่งยืนในระยะยาว ภายใต้จุดหมายดังกล่าว สายงานเศรษฐกิจมีภาระหน้าที่ในการจัดทำข้อมูลเศรษฐกิจ วิเคราะห์ ศึกษาวิจัยและการคาดการณ์เศรษฐกิจ เพื่อการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้น ระยะปานกลางและระยะยาวเพื่อนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่มีความสมดุลซึ่งจะต้องให้ความสำคัญกับ การสร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีความสมดุลและมีการกระจายตัวอย่างทั่วถึง เพื่อให้ความสมดุลและการกระจายตัวของการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สร้างขึ้นเป็นปัจจัยการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่สำคัญสำหรับ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อยกระดับประเทศเข้าสู่การเป็นประเทศรายได้สูง ในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว สายงานเศรษฐกิจมหภาคจึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาข้อมูล วิเคราะห์ และศึกษาวิจัย เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในด้านความยากจนและการกระจายรายได้ ตลอดจนปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัญหาความยากจนและการกระจายรายได้กับเงื่อนไขทางด้านนโยบายและตัวแปรเศรษฐกิจมหภาคต่างๆ รวมทั้งการนำผลการจัดทำข้อมูล ผลการวิเคราะห์และศึกษาวิจัยที่ได้เผยแพร่ต่อสาธารณชน รับฟังความเห็นและมุมมองทางวิชาการกับผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการและผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งนี้ เพื่อนำผลที่ได้ไปปรับปรุงการจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การสัมมนาวิชาการสายงานเศรษฐกิจประจำปี 2556 จึงได้กำหนดให้มีการนำเสนอ ผลการศึกษาวิเคราะห์ในด้านปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัญหาความยากจนและการกระจายรายได้กับเงื่อนไขทางด้านนโยบายและตัวแปรเศรษฐกิจมหภาคใน 3 ประเด็น ประกอบด้วย (1) การวิเคราะห์ปัจจัยสำคัญ ที่ส่งผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ โดยการนำแนวคิดทางภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ (Economic Geography) มาอธิบายพลวัตของการกระจุกตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศไทย (2) การวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงความยากจน เพื่อช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความยากจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งลักษณะพลวัตของความยากจน (Poverty Dynamics) ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการเข้า ออกจากความยากจน (Poverty transition) และการอยู่ในความยากจนแบบถาวรหรือความยากจนเรื้อรัง (Poverty persistence) และ (3) การวิเคราะห์ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและรูปแบบครัวเรือนที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางเศรษฐกิจของครัวเรือนในทุกภูมิภาค อันเป็นสาเหตุสำคัญของความแตกต่างของสถานการณ์สังคมสูงอายุระหว่างพื้นที่ ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครัวเรือนไปสู่สังคมผู้สูงอายุ และอาจเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งของความแตกต่างและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นระหว่างพื้นที่ในปัจจุบัน