ข่าวสาร/กิจกรรม
|
เวทีหารือเชิงนโยบายเพื่อการหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) กับ สศช.
วันที่ 11 เม.ย. 2562
|
เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2562 ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมเวทีหารือเชิงนโยบายเพื่อการหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) กับ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส หลานหลวง กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 60 คน ประกอบด้วย ผู้แทนองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ สศช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
การจัดเวทีหารือเชิงนโยบายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังการนำเสนอรายงาน The Economic Outlook for Southeast Asia, China and India ขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นในประเด็นสำคัญในรายงาน The Economic Outlook for Southeast Asia, China and India ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการดำเนินงานของ สศช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย โดยมีประเด็นที่ถูกหยิบยกนำมาหารือ ได้แก่ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยและภูมิภาคเอเชียในระหว่างปี 2562 – 2566 ความท้าทายเชิงนโยบายที่สำคัญของประเทศกำลังพัฒนา อาทิ การพัฒนาเมือง การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคม และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำของไทย
ในโอกาสนี้ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) ได้แสดงความประสงค์ที่จะเผยแพร่รายงาน The Economic Outlook for Southeast Asia, China and India ที่จัดทำขึ้น พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะหน่วยงานวางแผน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการด้านเศรษฐกิจและการกำหนดนโยบายสาธารณะของประเทศไทย และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ไทยสามารถนำข้อมูลและการศึกษาวิเคราะห์ประเด็นต่าง ๆ ในรายงานดังกล่าวไปใช้เป็นแนวทางการดำเนินงาน เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศและภูมิภาคต่อไป
สำหรับรายงานดังกล่าวมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงกระบวนการพัฒนาและการรวมกลุ่มระดับภูมิภาคของประเทศอาเซียน และประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐอินเดีย ซึ่งนอกจากการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคแล้ว รายงานฉบับปัจจุบันยังให้ความสำคัญกับประเด็นความท้าทายเชิงนโยบายของประเทศกำลังพัฒนา อาทิ การพัฒนาเมือง การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคม และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเป็นอย่างมากด้วย
ข่าว : รวีวรรณ เลียดทอง
ภาพ : เมฐติญา วงษ์ภักดี
|