ข่าวสาร/กิจกรรม
ผลการประชุมหารือร่วมระหว่างนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการ กรอ. ส่วนกลาง และกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 
วันที่ 29 มี.ค. 2560
เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2560 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือร่วมระหว่างนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการ กรอ. ส่วนกลาง และคณะกรรมการ กรอ.กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 (นครพนม สกลนคร มุกดาหาร) ณ ห้องประชุมนาคราช อาคารศรีโคตรบูรณ์ มหาวิทยาลัยนครพนม จังหวัดนครพนม โดยมีรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม และดร.ปรเมธี  วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมประชุมในฐานะเลขานุการ กรอ. พร้อมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้แก่ ดร.ปัทมา  เธียรวิศิษฎ์สกุล รองเลขาธิการฯ นายประพันธ์  มุสิกพันธ์ รองเลขาธิการฯ นายสุริยนต์  ธัญกิจจานุกิจ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และ นายมนตรี  ดีมานพ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สศช.
นอกจากนี้ มีผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย ภาคเอกชน ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวมทั้งผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 เข้าร่วมประชุม เพื่อหารือเรื่องการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 สรุปสาระสำคัญการประชุมได้ ดังนี้ 
1. รายงาน "ความก้าวหน้าการดำเนินงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน” ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีผลการดำเนินการตามแผนงานมาโดยลำดับ เช่น การประกาศเขตพื้นที่ การให้สิทธิประโยชน์ และการจัดตั้งศูนย์ OSS (การลงทุนและแรงงาน) ครบทั้ง 10 พื้นที่ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน/ด่านศุลกากร ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างตามแผน รวมทั้งการบริหารด้านแรงงาน สาธารณสุขและความมั่นคง สำหรับการจัดหาที่ดินของรัฐเพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหารอยู่ระหว่างการสรรหาผู้ลงทุนในพื้นที่พัฒนา และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนมได้จัดหาพื้นที่พัฒนาแล้วและจะเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) พิจารณากำหนดอัตราค่าเช่าต่อไป ทั้งนี้ มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศเร่งรัดการเจรจากับ สปป.ลาว เพื่อบริหารจัดการแรงงานในลักษณะไป-กลับ โดยให้มีการลงนามความตกลงว่าด้วยการข้ามแดนไทย-สปป.ลาว
2. การส่งเสริมป่าเศรษฐกิจครอบครัวเพื่อสร้างอาชีพและรายได้ ในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการ และมอบหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สถาบันการศึกษาภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง พิจารณาศึกษาในรายละเอียดการขอสนับสนุนด้านนโยบายป่าเศรษฐกิจครอบครัว เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ โดยคำนึงถึงผลกระทบในทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สังคมและชุมชน โดยให้ภาคประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการดำเนินการก่อนเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป
3. โครงการ Sanuk Colors Food Valley : Diversity of Functional Organic ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการ และมอบหมายกระทรวงเกษตรฯ เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย สถาบันการศึกษาภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง พิจารณารายละเอียดการขอรับการสนับสนุนโครงการดังกล่าว เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตรและการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร โดยให้คำนึงถึงศักยภาพและความพร้อมในการเพิ่มมูลค่าที่ครบวงจร (Value Chain) ให้เชื่อมโยงกับเครือข่ายเกษตรกรที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ 3 จังหวัดในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2  ตลอดจนกำหนดกลไกการบริหารจัดการในรูปแบบประชารัฐที่อยู่ในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ เพื่อให้การดำเนินงานต่อเนื่องและยั่งยืน ทั้งนี้ ให้ประสานกับสำนักงบประมาณเพื่อพิจารณาความเหมาะสมของงบประมาณที่จะขอรับการสนับสนุนตามขั้นตอนต่อไป
4. โครงการ Sanuk Farmer market โดยขอรับการสนับสนุนการจัดตั้ง "ตลาดเกษตรกรของกลุ่มจังหวัด” (Sanuk Farmers Market) ขึ้นใน "เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนครพนม” ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการ และมอบหมายกระทรวงเกษตรฯ เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการ เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย ภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องพิจารณาในรายละเอียดของการจัดตั้ง "ตลาดเกษตรกรของกลุ่มจังหวัด” (Sanuk Farmers Market) ขึ้นใน "เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนครพนม” โดยให้คำนึงถึงศักยภาพและความต้องการของพื้นที่ที่สามารถเพิ่มมูลค่าตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ตลอดจนกำหนดกลไกบริหารติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องต่อไป
5. โครงการนำร่อง "การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรอย่างยั่งยืน จังหวัดมุกดาหาร” ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการ และมอบหมายกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทานเร่งรัดดำเนินการศึกษาและออกแบบโครงการนำร่อง "การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรอย่างยั่งยืน จ.มุกดาหาร” โดยการยึดหลักการเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพของแหล่งน้ำในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งมอบกรมชลประทานไปสำรวจและออกแบบที่เหมาะสมเพื่อให้เริ่มดำเนินการได้ภายในปี 2560
6. การพัฒนาและยกระดับแหล่งท่องเที่ยวลุ่มน้ำโขง ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการ และมอบหมายกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย พิจารณาความเหมาะสมและความพร้อมของการพัฒนาและยกระดับแหล่งท่องเที่ยวลุ่มน้ำโขง ได้แก่ (1) การจัดตั้งหมู่บ้านวัฒนธรรมและวิถีชุมชนลุ่มน้ำโขง (2) การก่อสร้างทางเดินและทางจักรยานอ้อมหลังบ้านเก่าริมโขง และ (3) การสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งและทางเดินเลียบริมฝั่งโขง โดยคำนึงถึงกลุ่มคลัสเตอร์ท่องเที่ยวในประเทศ ความเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน ความปลอดภัยในการท่องเที่ยว และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งหลักการบริหารจัดการการพัฒนาและยกระดับแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่อย่างยั่งยืน ก่อนขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามขั้นตอน
7. โครงการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยงเส้นทาง ไทย-สปป.ลาว-เวียดนาม และจีน ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการ และมอบหมายกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ พิจารณาในรายละเอียดเพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยงเส้นทางไทย-สปป.ลาว-เวียดนาม และจีน รวมทั้งความเชื่อมโยงในกลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN Tourism Connectivity Corridors) อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต โดยให้ความสำคัญถึงการใช้การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเป็นฐานในการเชื่อมโยงกลุ่มประเทศในภูมิภาค เพื่อเพิ่มและกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวแก่พื้นที่การท่องเที่ยวลุ่มน้ำโขง 
8. โครงการพัฒนาและบินสำรวจแหล่งน้ำบาดาลด้วยวิธีทางธรณีฟิสิกส์เพื่อสนับสนุนแผนบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจ ภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการ และมอบหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ รับไปพิจารณารายละเอียดของโครงการพัฒนาและบินสำรวจแหล่งน้ำบาดาลด้วยวิธีทางธรณีฟิสิกส์เพื่อสนับสนุนแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เขตเศรษฐกิจ ภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยคำนึงถึงพื้นที่ที่มีความเหมาะสม ความจำเป็นเร่งด่วน และความพร้อมในการดำเนินการโครงการฯ ดังกล่าวด้วย

ข่าว : สำนักพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ (สพข.)
ภาพ : สพข. และคลังภาพ www.Thaigov.go.th 

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์