รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มอบนโยบายว่า สศช. จะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่จากนักวางแผนเป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ และขับเคลื่อนการพัฒนาและการปฏิรูปประเทศไปพร้อมกัน รวมทั้งได้วาง 4 แนวทางปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรของ สศช. คือ ทิ้ง ซ่อม เสริม และสร้าง
เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2560 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมราชการ พร้อมมอบนโยบายและติดตามความก้าวหน้าในภารกิจต่างๆ ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งมี ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สศช. ให้การต้อนรับและรับมอบนโยบาย
ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า สศช. จะเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการมองประเทศไปข้างหน้า โดยเฉพาะภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่ง สศช. จะได้รับมอบหมายภารกิจที่สำคัญเพิ่มมากขึ้น จึงต้องมีการปรับบทบาทหน้าที่และภารกิจ สศช. ให้เป็นผู้วางกลยุทธ์ของชาติ (National Strategies) คือเป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ คือ "เปลี่ยนจากนักวางแผนเป็นนักยุทธศาสตร์ชาติ” โดยผนวกเรื่องการปฏิรูปประเทศและการขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดินเข้าไปพร้อมกับการพัฒนาประเทศ การปฏิรูปโดยการ reform และ transform ซึ่ง สศช. จะต้องเลือกเรื่องที่จะทำหรือไม่ทำ ฉะนั้น สศช. จะเป็นผู้ที่มาช่วยดูว่าประเทศจะปรับเปลี่ยนไปข้างหน้าอย่างไร ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการพัฒนาเพียงอย่างเดียว
การเปลี่ยนแปลงนี้อาจเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและต่อเนื่อง ดังนั้น สศช. จึงต้องมีขีดความสามารถในการติดตามประเด็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรุนแรงของโลกให้ได้ สศช. ในอนาคตจึงต้องมีหน่วยงานที่คอยตรวจดูว่ามีอะไรที่เป็นสัญญาณความอ่อนแอที่จะก่อให้เกิดแนวโน้มของโลก หรือ Global Trend เพื่อที่จะบอกว่าประเทศไทยต้องปรับตัวอย่างไร หรือจะต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายหรือยุทธศาสตร์อะไรบ้าง ซึ่งเป็นการมองโลกไปข้างหน้า หรือ Future lap
ด้วยเหตุนี้ สศช. ต้องทำงานในเชิงรุก วิเคราะห์ได้ว่าหากอนาคตโลกเป็นอย่างนี้ จะเป็นโอกาสหรือเป็นภัยคุกคามของประเทศ ต้องถอดรหัสนี้ออกมาให้ได้ โดยจะต้องมีการทดลอง เป็นห้องปฏิบัติการนโยบาย หรือ Policy lab เพื่อที่จะคิดค้นนวัตกรรมทางนโยบาย (Policy Innovation) หรือนวัตกรรมทางยุทธศาสตร์ (Strategic Innovation) ใหม่ๆ ที่ปฏิบัติได้และสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลก รวมถึงต้องทดสอบตลอดเวลาว่าได้ผลหรือไม่อย่างไร แล้วค่อยขยายผล โดยภารกิจนี้จะช่วยตอบโจทย์เรื่องการปฏิรูป โดยผลักดันเป็นนโยบายและจ่ายแจกไปให้กระทรวง ทบวง และกรม ในการนำไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งในอนาคต สศช. น่าจะเป็นผู้กำกับในส่วนนี้ เช่น เรื่อง Aging ประเทศไทยจะตั้งรับกับเรื่องนี้อย่างไร หรือมองวิกฤติเป็นโอกาสอย่างไร
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ สศช. มีภารกิจที่แบกรับมากมาย โดยอยู่ในคณะกรรมการทั้งหมด 600 กว่าชุด จึงได้มีการหารือกันว่า สศช. จะต้องปรับเปลี่ยนใน 4 เรื่องด้วยกัน คือ ทิ้ง ซ่อม เสริม และสร้าง
"ทิ้ง” ในบางเรื่องที่คิดว่าไม่ใช่ภารกิจที่จำเป็นออกไป หรือเป็นภารกิจของกระทรวงอื่นในอนาคตแทนที่ สศช. จะต้องเข้าไปอยู่ในทุกคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง น่าจะให้ สศช. ได้เลือกว่า คณะกรรมการชุดไหนที่จำเป็น สามารถตอบโจทน์ยุทธศาสตร์ชาติได้ ให้เลือกเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการชุดนั้นได้ และไม่จำเป็นต้องไปอยู๋ในคณะกรรมการชุดไหน เป็นต้น
"ซ่อม” จะทำอย่างไรที่จะยกระดับกำลังใจและกำลังพลให้ สศช. เนื่องจากปริมาณงานและภารกิจที่มากมาย ในขณะที่มีงบประมาณในการดำเนินงานน้อยมาก ซึ่งปัจจุบันได้รับการจัดสรรเพียงปีละ 500 ล้านบาท คิดแล้วน้อยมากสำหรับการปฏิบัติภารกิจ ทำวิจัย รับผิดชอบและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ จึงต้องปลดล็อคข้อจำกัดต่างๆ ของ สศช. โดยลดงานที่มากเกินไป และลงทุนในสิ่งที่ สศช. จะต้องมีในอนาคต โดยเพิ่มงบประมาณมากขึ้น รวมทั้งกำลังคนให้มากขึ้นตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายและต้องดูแลรับผิดชอบที่เพิ่มมากขึ้น
"เสริม” ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ แง่มุมของการต่างประเทศหรือการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายต่างประเทศ จะทำอย่างไรที่จะเสริมให้ สศช. มี International Exposure มีเครือข่ายซึ่งจะช่วยให้รู้ทันว่าโลกมีพลวัตการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง จะได้นำมาเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติได้
"สร้าง” ในเรื่ององค์ความรู้ที่จำเป็นแก่ สศช. ดังนั้น ต้องปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ โดยอาจพิจารณาจากทางเลือกต่างๆ ทั้งการปรับตามระเบียบเดิมที่เป็นราชการ และการเพิ่มบางรูปแบบที่เพิ่มง่ายยุบง่าย รวมทั้งเพิ่มรูปแบบพิเศษ เพื่อให้มีข้อมูลในการวิเคราะห์เศรษฐกิจและสังคมเชิงลึก (intelligence analysis) มีสถาบันวิจัยเป็น Special Delivery Unit (SDU) ทำงาน วิจัยในเชิงยุทธศาสตร์ระดับประเทศ และเรื่องใหญ่ๆ ที่ท้าทาย โดยต้องให้ความสำคัญกับเส้นทางในอนาคตในเรื่องความมั่งคั่งและความมั่นคงซึ่งไม่สามารถแยกจากกันได้ และขณะนี้ สศช. ได้ทำงานลงไปถึงระดับชุมชน จังหวัด และกลุ่มจังหวัด รวมทั้งท่านนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ดูเรื่องภาค ซึ่งเป็น 6 ภาคแล้ว จึงต้องมีการ "สร้าง” โดยการลงทุนในเรื่องขอบเขตของการทำงานของ สศช. อีกมากทั้งในด้านกำลังคนและงบประมาณ
สรุปคือ รูปแบบการทำงานของ สศช. กับกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ จะเปลี่ยนไป โดยงานที่ทำนี้จะเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งยวดของประเทศ ดังนั้น สศช. น่าจะได้รับมอบอำนาจจากรัฐบาลและนำมาขับเคลื่อนโดยตรงมากกว่าไปอยู่ในรูปแบบคณะกรรมการอย่างที่มีอยู่
ข่าว วันทนีย์ สุขรัตนี
ภาพ เมฐติญา วงษ์ภักดี / อมรเทพ ศรีประเสริฐ |