ข่าวสาร/กิจกรรม
|
การศึกษารวบรวมงานวิจัยและองค์ความรู้สู่การแปรรูปเพิ่มมูลค่าจากเฮมพ์
วันที่ 6 ต.ค. 2559
|
เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2559 ณ ห้องประชุม 531 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นางสาวลดาวัลย์ คำภา รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมระดมความคิดเห็น ครั้งที่ 2 เรื่อง "ปัญหา อุปสรรค และความเหมาะสมของเทคโนโลยีการแปรรูปเฮมพ์ในปัจจุบัน และความต้องการงานวิจัยแปรรูปสนับสนุนในอนาคต” ภายใต้โครงการศึกษารวบรวมผลงานวิจัยและองค์ความรู้การแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากเฮมพ์ (กัญชง) โดยมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม
หลังจากนั้น นางสาวช่อทิพย์ วิเศษพงษ์พันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาสมรรถนะธุรกิจ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม นำเสนอการทบทวนประเด็นและข้อเสนอแนะจากการประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 1 ผลการศึกษารวบรวมผลงานวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ และศักยภาพดำเนินธุรกิจโดยผ่านโครงสร้างห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของเฮมพ์ในประเทศไทย ความเหมาะสมของเทคโนโลยีและความต้องการงานวิจัยแปรรูปสนับสนุนในอนาคตจากผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้อง นายวรชัย มโนมัธย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธาอัส จำกัด นำเสนอสถานการณ์เฮมพ์ในประเทศออสเตรเลีย และ ผศ.ดร.อริสรา ขัยกิตติรัตนา ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบินอวกาศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ นำเสนอผลงานวิจัยการขึ้นรูปเส้นใยจากธรรมชาติ แบบที่ทำให้โครงสร้างมีน้ำหนักเบา (lightweight structures)
ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า ทิศทางและแนวโน้มงานวิจัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในระยะ 13 ปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยยังอยู่ในระยะเริ่มต้นของการพัฒนาเฮมพ์ไปสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งเกิดจากข้อจำกัดของกฎหมาย และนโยบายของหน่วยงานหลักที่ดำเนินงานเกี่ยวกับเฮมพ์ ทำให้ในระยะเริ่มแรกต้องสร้างงานวิจัยพื้นฐานที่เกี่ยวกับองค์ความรู้ต่างๆ และขยับไปสู่การวิจัยประยุกต์ เพื่อใช้ประโยชน์จากลำต้น เปลือก และแกนเป็นหลัก ในขณะที่งานวิจัยทางด้านใบ เมล็ด และดอก ยังมีน้อยมาก เนื่องจากข้อจำกัดในด้านการพิจารณาขอบเขตการอนุญาตให้วิจัยเน้นไปทางการใช้ประโยชน์จากลำต้น เปลือก และแกนเท่านั้น โดยหลีกเลี่ยงการใช้ประโยชน์จากใบ ดอก ซึ่งใกล้เคียงกับกัญชามาก และหลีกเลี่ยงการใช้เมล็ดเนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญในการควบคุมของภาครัฐ
ส่วนงานวิจัยต่างประเทศมีการศึกษาการพัฒนาหรือแปรรูปผลิตภัณฑ์โดยใช้ประโยชน์จากแกนเฮมพ์มากที่สุด และที่น่าสนใจคือมีการศึกษาวิจัยการใช้ประโยชน์จากเฮมพ์ทางด้านอาหาร ทางการแพทย์ และยารักษาโรคเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในยุโรปและอเมริกา เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงที่สามารถตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและตลาดผู้บริโภคปลายทางได้ ซึ่งสอดคล้องกับกระแสความต้องการผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ข่าว/รวีวรรณ เลียดทอง
ภาพ/เมฐติญา วงศ์ภักดี
|