ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
สศช. หารือผู้แทนระดับสูง OECD เดินหน้าสู่การเป็นสมาชิก พร้อมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนาประเทศ
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. พร้อมคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สศช. เข้าร่วมการหารือกับเอกอัครราชทูตโคลอมเบียประจำ OECD และอุปทูตโรมาเนีย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการเข้าเป็นสมาชิก OECD พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการประยุกต์ใช้เทคนิคการคาดการณ์อนาคตเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Foresight) เพื่อประกอบการยกร่างกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2571-2575) ระหว่างวันที่ 22 - 27 มิถุนายน 2568 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส

เลขาธิการ สศช. พบหารือกับ Rafał Kierzenkowski, Head of Strategic Foresight Unit โดยได้เน้นย้ำถึงการนำกระบวนการคาดการณ์เชิงยุทธศาสตร์และและมุมมองระดับนานาชาติที่ได้รับจากการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ นี้ ไปใช้การวิเคราะห์บริบทการเปลี่ยนแปลงและจัดทำฉากทัศน์การพัฒนาของประเทศให้มีความครอบคลุม เพื่อประกอบการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 14 ให้มีประสิทธิภาพต่อไป นอกจากนี้ สศช. ยังได้มีการหารือกับเจ้าหน้าที่จาก the Observatory of Public Sector Innovation (OPSI) ภายใต้ OECD Public Governance Directorate เกี่ยวกับการพัฒนาแนวทางการยกระดับกลไกเชิงสถาบันในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 14 ซึ่งจะได้มีการดำเนินการร่วมกันในระยะต่อไป

โดยระหว่างวันที่ 23 - 25 มิถุนายน 2568 เจ้าหน้าที่ สศช. ได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการการคาดการณ์อนาคตเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Foresight) เพื่อวิเคราะห์สัญญาณการเปลี่ยนแปลงสำคัญในระดับโลก ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2571 - 2575) ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจาก OECD รวมกว่า 30 ท่าน ทั้งจาก Strategic Foresight Unit และผู้เชี่ยวชาญในรายประเด็นการพัฒนา อาทิ ด้านเศรษฐกิจ ด้านการเกษตร ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการศึกษา ด้านธรรมาภิบาล โดยการคาดการณ์อนาคตเชิงยุทธศาสตร์ ถือเป็นกระบวนการหนึ่งที่สำคัญในการวิเคราะห์แนวโน้มหรือสัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่มีความผันผวนและไม่แน่นอนสูงให้เป็นระบบ เพื่อให้การจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 14 มีความยืดหยุ่นและพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต (Robustness)

กิจกรรมภายใต้การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ดังกล่าว ได้มีการเรียนรู้และทดลองใช้เครื่องมือการคาดการณ์เชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Foresight) อาทิ Futures Wheel เพื่อระบุผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงในระดับต่าง ๆ Dator’s  Arcs ในการนำเสนอทางเลือกของการพัฒนาในรูปแบบต่าง ๆ Stakeholder Analysis เพื่อวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง และ 2 x 2 Matrix ในการพัฒนาฉากทัศน์ของการพัฒนาที่เกิดจากปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศและมีความไม่แน่นอนสูง พร้อมทั้งได้มีการแลกเปลี่ยนมุมองและความเห็นเกี่ยวกับผลการศึกษาแนวโน้มและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง ที่ สศช. ได้ดำเนินการไปเบื้องต้น ร่วมกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงที่คาดว่าจะกระทบกับทิศทางและกรอบของนโยบายการพัฒนาของ OECD เพื่อให้ผลของการวิเคราะห์สามารถสะท้อนการเปลี่ยนแปลงทั้งในบริบทภายในประเทศและบริบทโลกได้อย่างเหมาะสม โดยประเด็น "Eroding Trust in a Changing World” และ "Competitiveness in the New World Order” เป็นสองประเด็นที่ผู้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ เห็นพ้องกันว่า มีความสำคัญลำดับสูงในการกำหนดนโยบายการพัฒนาประเทศของไทย

ในโอกาสนี้ เลขาธิการ สศช. ยังได้พบหารือกับ H.E. Luis Fernando Medina Sierra, Colombian Ambassador to the OECD และ Gabriela Butu, Chargé d’Affaires of the Romanian Delegation in Paris ซึ่งผู้แทนทั้งสองประเทศได้ให้ข้อแนะนำแก่ไทยในการเตรียมความพร้อม และประเด็นสำคัญที่หน่วยงานประสานหลักควรเร่งดำเนินการเพื่อให้กระบวนการเข้าเป็นสมาชิกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ (1) รัฐบาลจำเป็นต้องแสดงเจตนารมณ์ทางการเมือง (Political Commitment) ในการผลักดันประเทศเข้าสู่การเป็นสมาชิก OECD อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ผ่านการเข้าร่วมการประชุมระดับสูง การสื่อสารต่อสาธารณชน (Public Communication) และการเร่งเข้าเป็นภาคีตราสารทางกฎหมายของ OECD ที่สำคัญ เช่น ภาคีอนุสัญญาต่อต้านการให้สินบน (OECD Anti-Bribery Convention) (2) กระบวนการปรับกฎหมายภายในประเทศใช้เวลานาน จึงจำเป็นต้องสื่อสารกับฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อให้เกิดการรับรู้ ความเข้าใจ และเห็นถึงความเร่งด่วนในการพิจารณากฎหมายหรือกฎระเบียบที่จำเป็นต้องปรับแก้ในขั้นตอนของรัฐสภา และ (3) การจัดตั้ง Coordination Team ประจำการ ณ กรุงปารีส รับผิดชอบเรื่องการเข้าเป็นสมาชิก OECD ซึ่งถือเป็นการลงทุนให้กับประเทศ เนื่องจากผู้แทนไทยสามารถเข้าร่วมการประชุมแบบ in-person ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์และสร้างความต่อเนื่องในการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการ OECD และดำเนินความร่วมมือต่าง ๆ กับ OECD และประเทศสมาชิก OECD 

สำหรับการหารือกับผู้แทน OECD Directorate for Legal Affairs เกี่ยวกับความคืบหน้าในการเข้าเป็นสมาชิก OECD เลขาธิการ สศช. แจ้งว่า ปัจจุบันหน่วยงานไทยอยู่ระหว่างการจัดทำข้อตกลงเบื้องต้น (Initial Memorandum: IM) และคาดว่าจะสามารถยื่น IM ให้กับ OECD ได้ตามกำหนดภายในเดือนธันวาคม 2568 ตรงกับช่วงที่ สศช. และ OECD จะจัดเผยแพร่รายงาน Thailand Economic Surveys 2025 และเลขาธิการ OECD มีกำหนดเยือนไทย จึงเป็นโอกาสอันดีที่ผู้แทนไทยจะยื่น IM ให้กับเลขาธิการ OECD ซึ่งจะช่วยสร้างการรับรู้ต่อสาธารณชน และทำให้เห็นว่ากระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD สามารถช่วยประเทศไทยได้อย่างไร สำหรับปี 2569 ไทยจะเริ่มดำเนินขั้นตอนถัดไปคือ การประเมินทางเทคนิค (Technical Review) ซึ่ง OECD แนะนำให้ไทยจัดลำดับความสำคัญของเรื่องที่ไทยจะต้องได้รับการประเมินผ่านคณะกรรมการ OECD 25 คณะ โดยอาจพิจารณาให้ความสำคัญประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐบาล ประเด็นที่ประชาชนเข้าใจง่าย และประเด็นที่ไทยดำเนินการตามมาตรฐานของ OECD มาก่อนหน้าผ่านโครงการ OECD-Thailand Country Programme เพื่อให้ไทยสามารถขับเคลื่อนกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ได้รวดเร็วมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังหารือกับผู้แทน OECD Directorate for Employment, Labour and Social Affairs และ OECD Development Centre เกี่ยวกับการดำเนินความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและยกระดับประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ไทยเข้าถึงองค์ความรู้และเครื่องมือในการพัฒนา ตลอดจนได้รับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนประเทศ โดยเฉพาะประเด็นที่ไทยกำลังเผชิญความท้าทาย อาทิ แรงงานนอกระบบ (Informality) ระบบความคุ้มครองทางสังคม (Social Protection System) สังคมสูงวัย ผลิตภาพ ระบบอาหารสีเขียว และผลกระทบทางเศรษฐกิจจากภัยพิบัติ ซึ่งเลขาธิการ สศช. ให้ความสนใจและยินดีช่วย OECD ในการประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับ OECD และบทบาทของไทยใน OECD ให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

ข่าว : กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ กองศึกษาและวิจัยเชิงยุทธศาสตร์

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์