เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 นางสาววรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานในการจัดเวทีสนทนาเชิงนโยบายกลไกการขับเคลื่อนระบบสนับสนุนเด็กและครอบครัวระดับพื้นที่แบบชุมชนนำ (community-led approach) จัดขึ้นโดย สศช. ร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว ณ ห้องประชุมดอกรัก โรงแรมเดอะ ระวีกัลยา แบงค็อก เขตพระนคร กรุงเทพฯ โดยมีนางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) และผู้แทนภาครัฐ อาทิ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสถาบันครอบครัว ผู้อำนวยการกองติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร). ผู้อำนวยการกองคุ้มครองเด็กและเยาวชน และสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) พร้อมด้วยคณะทำงานในระดับพื้นที่ ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ รศ.พญ.วนิดา เปาอินทร์ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน การปลดล็อกมาตรการหรือกฎระเบียบ และการขยายแนวร่วมในการยกระดับการพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชนโดยใช้ชุมชนนำ ในการจัดเวทีสนทนาครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมรวมทั้งสิ้นจำนวน 127 ราย แบ่งเป็นผู้เข้าร่วมในรูปแบบออนไซต์จำนวน 64 ราย และผู้เข้าร่วมผ่านระบบออนไลน์จำนวน 63 ราย
รศช.วรวรรณฯ สะท้อนให้เห็นความสำคัญของการพัฒนาเด็ก โดยผนวกไว้เป็นส่วนสำคัญของแผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว (พ.ศ. 2565 - 2580) ที่เน้นเรื่องการส่งเสริมการเกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ ซึ่งปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จดังกล่าว มีพื้นฐานสำคัญที่ครอบครัวและชุมชนต้องร่วมกันสนับสนุนการพัฒนาและแก้ปัญหาให้กับเด็ก ทั้งนี้ สสส. ได้มีการนำร่องและถอดบทเรียนของแนวคิดชุมชนนำ ซึ่งให้ความสำคัญกับบทบาทชุมชนในการร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมแก้ไขปัญหาในพื้นที่มาระยะหนึ่ง เวทีในวันนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ในการร่วมหาแนวทางขับเคลื่อน ขยายผล บูรณาการการทำงาน และเพิ่มเติมการหนุนเสริมจากภาครัฐ รวมถึงปลดล็อกเรื่องที่ยังเป็นอุปสรรค โดยมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบในการสนับสนุนเด็กและครอบครัวไทยต่อไป
นางสาวณัฐยาฯ สะท้อนความท้าทายในการทำงานเรื่องเด็กและเยาวชน โดยที่ผ่านมามีการทำงานแบบแยกส่วน แยกกลุ่มเป้าหมาย หรือเป็นปัญหาเฉพาะเรื่อง อีกทั้ง ขาดความต่อเนื่องจากการดำเนินโครงการ ส่งผลให้ไม่พบผลลัพธ์เชิงการเปลี่ยนแปลงที่ตัวเด็ก สสส. จึงปรับวิธีการทำงานโดยนำแนวคิดที่มองการพัฒนา
ตลอดช่วงวัย (life-course approach) การพัฒนาเด็กแบบไม่แยกส่วนการพัฒนา (whole-child development) และมองระบบนิเวศการเติบโตของเด็กและเงื่อนไขในการใช้ชีวิตของครอบครัว จึงเป็นที่มาของการทดลองนำแนวคิดชุมชนนำมาใช้ โดยเริ่มจากการสร้างทีมชุมชนที่สนใจทำงานเรื่องเด็กและครอบครัว ซึ่งได้รับการหนุนเสริมองค์ความรู้ หากการทำงานเกินความสามารถจะส่งต่อให้กับทีมวิชาชีพ อีกทั้ง ยังได้รับการหนุนเสริมด้านนโยบายและทรัพยากรจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น โดยมีภาคประชาสังคมเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา เกิดเป็น macro-micro link ระหว่างนโยบายและพื้นที่ โดยระยะถัดไป สสส. ร่วมกับ พม. สศช. และภาคีเครือข่าย
หาแนวทางเชิงลึกเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อการทำงานในทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับเด็กและครอบครัว ผ่านพื้นที่รังสรรค์นวัตกรรมทางนโยบาย (policy sandbox) ในสามพื้นที่ ได้แก่ จังหวัดลำปาง จังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดตรัง
ในช่วงถัดมา เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานในพื้นที่จากตัวแทนคณะทำงานกลุ่มต่าง ๆ นำการสนทนาโดย นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้อำนวยการศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ความแตกต่างระหว่างการทำงานแบบชุมชนนำและการพัฒนาแบบใช้ชุมชนเป็นฐาน โดยการพัฒนารูปแบบหลังเน้นชุมชนเป็นพื้นที่การดำเนินงาน แต่การตัดสินใจและวางแผนอาจมาจากองค์กรภายนอกหรือผู้เชี่ยวชาญ ขณะที่การขับเคลื่อนแบบชุมชนนำเป็นการให้ชุมชนคิด เป็นผู้นำหรือเป็นผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง โดยการตัดสินใจและวางแผนมาจากสมาชิกในชุมชนเองและมีองค์กรภายนอกเป็นที่ปรึกษา อีกทั้ง กล่าวถึงการเชื่อมต่อจากพื้นที่สู่นโยบาย ผ่านการมีข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ การสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนระหว่างชุมชนและผู้กำหนดนโยบาย การพัฒนาศักยภาพแกนนำชุมชน และการมีกลไกสนับสนุนเชื่อมโยงทั้งแนวดิ่งและแนวราบ
นอกจากนี้ นางนัฏญา วรชินา ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสถาบันครอบครัว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ชี้ให้เห็นข้อจำกัดของศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) ได้แก่ การไม่มีกฎหมายรองรับ การกำหนดนโยบายจากส่วนกลางที่ไม่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ และข้อจำกัดด้านงบประมาณ จึงได้ปรับการดำเนินงานให้สอดคล้องกับแนวคิดชุมชนนำ โดยเสริมศักยภาพวิทยากรระดับจังหวัดและการจัดพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับครอบครัว พร้อมทั้งปรับบทบาทการทำงานเชิงรุกมากขึ้น ทั้งนี้ ได้เสนอให้สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) เข้ามามีบทบาทและให้ถอดบทเรียนพื้นที่นำร่องเพื่อนำเสนอคณะอนุกรรมการพัฒนาและส่งเสริมครอบครัวจังหวัด ส่งต่อไปยังคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ครอบครัวแห่งชาติ เพื่อใช้เป็นแนวทางขับเคลื่อนงานชุมชนนำอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ขณะที่ นางสาววราภา สยังกูล ผู้อำนวยการกลุ่มประสานงานบ้านพักเด็กและครอบครัว กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กล่าวว่า การทำงานมีข้อท้าทายด้านการบูรณาการข้อมูลและเชื่อมโยงการทำงานในระดับพื้นที่ ทั้งนี้ แนวคิดชุมชนนำถือเป็นการเปลี่ยนแนวทางการทำงานหน่วยงานภาครัฐจากระบบสั่งการจากบนลงล่าง (top-down) สู่การเปิดพื้นที่ให้ชุมชนมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการสร้างเครื่องมือเชิงป้องกัน รวมถึงปรับตัวชี้วัดจาก "ปริมาณงาน” เป็น "คุณภาพของกระบวนการ”
ในช่วงถัดมา เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์งานของสามพื้นที่ สะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งของแนวคิด "ชุมชนนำ จังหวัด/ภาครัฐหนุน” โดยจังหวัดกาฬสินธุ์มีทีมแกนนำชุมชนที่เฝ้าระวังและให้ความช่วยเหลือได้อย่างครอบคลุม จังหวัดลำปางเน้นการเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายและพัฒนาฐานข้อมูลในพื้นที่ และจังหวัดตรังเน้นการเสริมพลังชุมชนและการเปลี่ยนบทบาทภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน แต่ยังคงมีข้อจำกัดด้านงบประมาณและกฎหมายขององค์กรภาคประชาชน รวมถึงการประเมินผล LPA ของ อปท. ที่ยังไม่ครอบคลุมประเด็นเด็กและเยาวชน
ที่ประชุมมีข้อเสนอสำหรับการทำงานที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางที่สามารถสะท้อนปัญหาอย่างแท้จริงและส่งข้อมูลกลับไปยังพื้นที่/ชุมชน ทั้งนี้ ปัจจุบันมีข้อมูลเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนที่อาจนำมาเชื่อมโยงกันได้ อาทิ ข้อมูลเด็ก Thailand Zero Dropout การต่อยอดกับการทำ dashboard ของสำนักงาน ก.พ.ร. การปลดล็อกข้อจำกัดการทำงานผ่านการสร้างความชอบธรรมทางกฎหมาย ระเบียบ และแนวนโยบาย (legal support) อาทิ การออกระเบียบหรือหนังสือสั่งการเพื่อให้หน่วยงานหรือ อปท. สนับสนุนชุมชนหรือภาคประชาสังคม การออกแบบบทบาทของชุมชนอย่างประณีต ที่ให้ชุมชนเป็นเจ้าของ โดยสนับสนุนและรวบรวมองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ (technical support) เพื่อติดอาวุธให้กับทีมชุมชน นอกจากนี้ ควรมีมาตรการสร้างแรงจูงใจการทำงาน อาทิ การปรับตัวชี้วัดการประเมิน LPA ให้สะท้อนผลงานและส่งเสริมการคุ้มครองเด็ก รวมถึงการเข้าถึงงบประมาณผ่านกองทุนต่าง ๆ
ท้ายสุด รศช.วรวรรณฯ ได้สรุปแนวทางการขับเคลื่อนงานในระยะต่อไป โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่ชุมชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ พร้อมทั้งเสนอให้มีการจัดเวทีเพื่อบูรณาการข้อมูลจากหลากหลายภาคส่วนในพื้นที่อย่างเป็นระบบ ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างศักยภาพของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องใน 3 กลุ่ม กล่าวคือ ท้องถิ่น ได้แก่ กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จะมีบทบาทในการปลดล็อกกลไกการประเมินประสิทธิภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (LPA) และสามารถออกเทศบัญญัติให้สอดคล้องกับการพัฒนาในพื้นที่ ท้องที่ หน่วยงานภาครัฐในระดับตำบล สามารถนำฐานข้อมูลในชุมชนไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานได้อย่างครอบคลุมทุกมิติ และระดับท้องทุ่ง สมาชิกชุมชนที่เป็นผู้จัดทำและดูแลฐานข้อมูล ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืนและตอบสนองต่อบริบทของชุมชนได้อย่างแท้จริง
ข่าว/ภาพ : กองยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และสังคม (กมส.) |