ข่าวสาร/กิจกรรม
|
การสัมมนาหัวข้อ “Heat Stress: The Coming Crisis and Needed Solution”
วันที่ 29 เม.ย. 2568 (จำนวนผู้เข้าชม 209)
|
เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2568 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) จัดการสัมมนาหัวข้อ "Heat Stress: The Coming Crisis and Needed Solution”
ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ สศช. โดยมีนายวันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานร่วมกับ Mr. Anouj Mehta ผู้อำนวยการสำนักงานผู้แทน ADB ประจำประเทศไทย พร้อมด้วยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ นางสาวสุนีย์ ศรีสง่าตระกูลเลิศ รองปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ Ms. Zonibel Woods ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านการพัฒนาสังคม ADB Mr. Alvin Lopez หัวหน้าทีมประจำ Nature Solutions Finance Hub ADB Mr. William Bugler ที่ปรึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ KPMG International และ ดร.จีรนุช ศักดิ์คำดวง ผู้เชี่ยวชาญจากมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย รวมทั้งมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
ในการนี้ รองเลขาธิการฯ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญและความเร่งด่วนในการรับมือกับปัญหาความร้อนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่และมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งการแก้ปัญหาความร้อนจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและนวัตกรรมที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่ทั้งฉับพลันทันทีและค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่ Mr. Anouj Mehta ได้นำเสนอบริบทของวิกฤตความร้อนในประเทศไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ผนวกกับลักษณะภูมิอากาศร้อนชื้นของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาวะ ตลอดจนภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ได้แก่ ผลผลิตภาคการเกษตรที่อาจลดลงร้อยละ 10-15 ผลิตภาพแรงงานในภาคการผลิตและผู้ทำงานกลางแจ้งลดลงถึงร้อยละ 12 รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่อาจหดตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งยังได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องเตรียมการรับมืออย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่าง สศช. และ ADB ในการดำเนินโครงการ Thailand Green Incubator เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย BCG Economy
ในประเด็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รองปลัด พม. ได้นำเสนอผลกระทบที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเปราะบาง 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) เด็กอายุ 0-7 ปี 2) ผู้สูงอายุและคนพิการ และ 3) ผู้มีรายได้น้อย โดย พม. มีบทบาทในการดำเนินงานตามแผนระบบสนับสนุนการปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉิน และแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ รวมถึงความร่วมมือระหว่าง พม. กับธนาคารโลก ในการพัฒนาทุนมนุษย์ของประชากรกลุ่มเปราะบาง การยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และการเพิ่มประสิทธิภาพระบบข้อมูลสารสนเทศผ่านการจัดทำแผนที่กลุ่มคนเปราะบางพื้นที่ภัยพิบัติ ในขณะที่ Ms. Zonibel Woods นำเสนอแนวทางการวางแผนรับมือและพัฒนาภายใต้บริบทความเหลื่อมล้ำทางสังคม ผ่านโครงการลดความร้อนและความต้องการระบบทำความเย็นในเมืองผ่านการเพิ่มปริมาณพื้นที่สีเขียว (Urban Forestry) โครงการ Cool Roof Programs ลดการดูดซับความร้อนสำหรับที่อยู่อาศัยของชุมชนผู้มีรายได้น้อย และ Parametric Heat Insurance ประกันภัยความร้อนที่จ่ายเงินช่วยเหลือเมื่ออุณหภูมิสูงถึงกำหนดโดยไม่มีการประเมินความเสียหาย โดยได้มีความสำเร็จของโครงการนำร่องเหล่านี้แล้วในประเทศอินเดีย และ Mr. Alvin Lopez นำเสนอผลกระทบต่อท้องทะเลที่ส่งผลเสียต่อความหลากหลายทางชีวภาพในมหาสมุทร และเสนอโครงการ ADB Gulf of Thailand Investment Program ที่มุ่งเน้นการศึกษาผลกระทบและแนวทางแก้ไขร่วมกันระหว่างประเทศไทย เวียดนาม และกัมพูชา รวมถึงจัดทำแผนปฏิบัติการสำหรับภาคการท่องเที่ยว ภาคการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และภาคการประมง ที่เชื่อมโยงกันผ่านการสร้างความยั่งยืนและฟื้นฟูระบบนิเวศน์ของอ่าวไทย
สำหรับประเด็นบทบาทของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง Mr. William Bugler ได้กล่าวถึงบทบาทของภาคเอกชนในการให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการจากผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาดและความยั่งยืน นวัตกรรมเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความช่วยเหลือด้านการเงินจากภาคเอกชน และ ดร.จีรนุช ได้กล่าวถึงบทบาทขององค์กรอิสระในการศึกษาวิจัยผลกระทบและแนวทางรับมือในระดับชุมชนเพื่อพัฒนา Nature-based Solutions ที่คำนึงถึงความครอบคลุมและความยั่งยืน
ทั้งนี้ สศช. และ ADB ได้รับทราบข้อเสนอแนะและแนวทางการรับมือที่ได้นำเสนอ รวมทั้งแสดงความมุ่งมั่นที่จะสร้างความร่วมมือในการผลักดันโครงการต่าง ๆ ให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมและสามารถนำมาใช้ประโยชน์ร่วมกันในการรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและวิกฤตความร้อน นอกจากนี้ ทั้งสองหน่วยงานยังเน้นย้ำถึงการดำเนินโครงการ Thailand Green Incubator เพื่อส่งเสริมการดำเนินนโยบาย BCG Economy อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งยืนยันความมุ่งมั่นในการบูรณาการข้อมูลและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ
ข่าว : กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ
ภาพ : เมฐติญา วงษ์ภักดี |