เมื่อวันที่ 12 และ 13 ธันวาคม 2567 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาไท (มพท.) เปิดเวที "เชื่อมเครือข่าย ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาวุฒิอาสาธนาคารสมอง ระดับกลุ่มจังหวัด” เพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มการทำงานและสร้างเครือข่ายการทำงานในระดับพื้นที่ของวุฒิอาสาฯ ในการเป็นพลังร่วมพัฒนาประเทศ ตามเป้าหมายการพัฒนาของกลุ่มจังหวัด โดยเปิดเวทีระดมความคิดเห็นประเด็นการขับเคลื่อนงานของวุฒิอาสาฯ ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 ในวันที่ 12 ธันวาคม 2567 ณ โรงแรมโบนีโต้ ชิโนส์ จังหวัดนครสวรรค์ และกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 ในวันที่ 13 ธันวาคม 2567 ณ โรงแรม The Park จังหวัดพิษณุโลก ผู้ร่วมประชุมประกอบด้วย วุฒิอาสาฯ จากกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 (ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และอุตรดิตถ์) วุฒิอาสาฯ จากกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 (กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิจิตร อุทัยธานี) ผู้บริหาร สศช. กรรมการมูลนิธิพัฒนาไท เจ้าหน้าที่ สศช. และ มพท. โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 90 คน/เวที
นางสาววรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้นำเสนอเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาภาคเหนือ สถานการณ์การพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด สถานการณ์ด้านประชากรที่สำคัญ การพัฒนาคนตามดัชนีความก้าวหน้าของคน (HAI) ใน 8 มิติ อาทิ มิติด้านการศึกษา มิติด้านสุขภาพ และมิติด้านชีวิตการทำงาน พร้อมทั้งปัญหาและความท้าทายที่สำคัญ ตลอดจนการขับเคลื่อนงานของวุฒิอาสาฯ โดยกล่าวถึง เป้าหมายและแนวทางพัฒนาภาคเหนือ (พ.ศ. 2566-2570) ที่ให้ความสำคัญสู่การเป็น "ฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ” โดยมีแนวทางการพัฒนา อาทิ NEC - Creative LANNA การยกระดับการท่องเที่ยวและบริการที่มีศักยภาพ การพัฒนาการผลิตตามระบบเกษตรกรรมยั่งยืน การเสริมศักยภาพของเมือง พื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และระบบโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์ การพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิต การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สำหรับเป้าหมายการพัฒนาตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 (พ.ศ. 2566-2570) มุ่งเน้นการเป็น "เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจเหนือ – ใต้ (NSEC) กับระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก (EWEC) ที่เข้มแข็ง” โดยปัจจุบันมีสถานการณ์การพัฒนาที่สำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุอยู่ที่ร้อยละ 21.7 โดยจังหวัดที่มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุสูงสุด คือ จังหวัดสุโขทัย ร้อยละ 24.8 และรองลงมา คือ จังหวัดพิษณุโลก ร้อยละ 23.2 และจังหวัดพิษณุโลก ร้อยละ 23.2 ยกเว้นจังหวัดตาก ที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุเพียงร้อยละ 13.1 ส่วนสถานการณ์การพัฒนาคน มีค่า HAI ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ อย่างไรก็ตาม มิติด้านคมนาคมและการสื่อสารมีความก้าวหน้ามากที่สุด ขณะที่มิติด้านการศึกษา ด้านการมีส่วนร่วม และด้านสุขภาพ ยังเป็นมิติที่เป็นจุดอ่อน ซึ่งกลุ่มจังหวัดนี้มีปัญหาและความท้าทายสำคัญ ประกอบด้วย ด้านสุขภาพและประชากร สัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอยู่ลำพังและเป็นภาวะพึ่งพิง ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ความก้าวหน้าด้านคุณภาพการศึกษาอยู่ในระดับต่ำ อัตราการเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษาลดลง ด้านเศรษฐกิจ รายได้ต่อหัวประชากรยังอยู่ในระดับต่ำ สัดส่วนแรงงานสูงวัยต่อแรงงานรวมมีแนวโน้มสูงขึ้น และกระจุกตัวในภาคเกษตร รวมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เรื่องมลภาวะ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เกินค่ามาตรฐาน และปัญหาการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ โดยวุฒิอาสาฯ ในพื้นที่มีการดำเนินงานที่สำคัญในเรื่องการให้องค์ความรู้ด้านต่าง ๆ การเกษตร การสร้างอาชีพและสร้างรายได้ในชุมชน อาทิ การเป็นวิทยากรให้ความรู้ด้านต่าง ๆ การทำเกษตรอินทรีย์ การอบรมการปลูกและดูแลสับปะรดสี ส่งเสริมการปลูกข้าว ปลูกผักสวนครัวปลอดสารพิษ แปรรูปผลไม้และสมุนไพรด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน การฝึกอาชีพทำขนมไทยโบราณ และประดิษฐ์กระเป๋าจากเศษวัสดุ
จากกระบวนการระดมความคิดเห็นกลุ่มย่อย ได้ประเด็นการขับเคลื่อนที่สำคัญ ดังนี้ (1) การป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อาทิ เบาหวาน ความดัน โดยส่งเสริมให้ประชาชนดูแลตนเองขั้นพื้นฐาน ด้วยหลัก 3 อ ประกอบด้วย อาหารปลอดภัย ออกกำลังกาย และอารมณ์ดี (2) การพัฒนาทักษะองค์ความรู้ทุกช่วงวัย : การรู้เท่าทันเทคโนโลยี ส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยรู้เท่าทันเทคโนโลยี สร้างภูมิคุ้มกันในตนเอง ป้องกันการถูกหลอกลวง โดยดำเนินการในระดับครัวเรือน และชุมชน (3) โครงการพัฒนาคนและพื้นที่เพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ด้วยการสร้างงาน สร้างอาชีพผ่านการท่องเที่ยวคู่ขนานกับการส่งเสริมมรดกโลก ร่วมกับการพัฒนาองค์ความรู้สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ให้กับทุกกลุ่มวัย และ (4) การบริหารจัดการขยะ ส่งเสริมการคัดแยกขยะในระดับครัวเรือน ชุมชน และขยายผลสู่สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ โดยผลักดันประเด็นการบริหารจัดการขยะสู่การจัดทำเป็นแผนงาน/โครงการในแผนพัฒนาระดับท้องถิ่น
ส่วนเป้าหมายการพัฒนาตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 (พ.ศ. 2566-2570) เน้น "ยกระดับสินค้าเกษตรปลอดภัยที่มีนวัตกรรม แหล่งอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ เสริมสร้างศักยภาพการท่องเที่ยวและบริการเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนเชื่อมโยงเศรษฐกิจภูมิภาคสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยปัจจุบันมีสถานการณ์การพัฒนาที่สำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์เช่นเดียวกับกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุสูงอยู่ที่ร้อยละ 23.6 อยู่ในจังหวัดพิจิตร ร้อยละ 24.9 จังหวัดนครสวรรค์ ร้อยละ 24.4 และจังหวัดอุทัยธานี ร้อยละ 23.52 ซึ่งจังหวัดอุทัยธานี มีสัดส่วนผู้สูงอายุอาศัยอยู่ตามลำพังสูงที่สุดในประเทศ ในสถานการณ์การพัฒนาคน มีค่า HAI ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ พบว่ามิติที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด คือ ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนที่สำคัญ คือ ด้านการศึกษา กลุ่มจังหวัดนี้มีปัญหาและความท้าทายสำคัญด้านสุขภาพและประชากร มีผู้สูงอายุในภาวะเปราะบางและพึ่งพิงเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ส่งผลให้เกิดผู้พิการตามมา ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พบการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและการแพร่ระบาดของยาเสพติดเพิ่มขึ้น รวมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ที่มีปัญหาการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ และมลภาวะทางอากาศอันเนื่องมาจากการเผาซากผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งทั้ง ๒ กลุ่มจังหวัดประสบปัญหาในเรื่องเดียวกัน คือ การเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุในภาวะเปราะบางและภาวะพึ่งพิง ซึ่งนำไปสู่อัตราการฆ่าตัวตายสูง โดยวุฒิอาสาฯ ในพื้นที่มีการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ การให้องค์ความรู้ด้านต่าง ๆ การเสริมทักษะและความสามารถทั่วไป และส่งเสริมการศึกษาชุมชน การท่องเที่ยวชุมชน การถ่ายทอดภูมิปัญญาทางการเกษตรและการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียง การสร้างอาชีพเสริมด้านอาหารและแปรรูป หัตถกรรมจักสาน การดูแลผู้สูงอายุ และถ่ายทอดความรู้การดูแลสุขภาพในผู้สูงอายุ
สำหรับผลการระดมประเด็นการขับเคลื่อนที่สำคัญ มีดังนี้ (1) การป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ผลักดันให้ประชาชนทุกคนตั้งแต่ระดับครัวเรือนถึงระดับชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลและป้องกันโรค เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของภาครัฐ (2) การส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนให้เป็นคนดี มีวินัย มีความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นประเด็นพื้นฐานของการพัฒนาสังคมที่มีคุณภาพ ดำเนินการในระดับครอบครัว และชุมชน (3) โครงการสร้างอาชีพนักเล่าเรื่อง ด้วยการสร้างอาชีพและรายได้เสริมให้คนในพื้นที่ผ่านการท่องเที่ยว และ (4) การบริหารจัดการขยะ โดยให้ความรู้ด้วยการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการขยะแบบสัญจรในจังหวัดต่าง ๆ และการสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง ดำเนินการนำร่องในระดับครัวเรือน
นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานจาก นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ กรรมการ มพท. ที่ให้ความเห็นว่า ในการแปลงประเด็นการพัฒนาที่ได้จากการระดมความเห็นไปสู่การขับเคลื่อนในพื้นที่อย่างบรรลุผลสำเร็จ ควรกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน อาทิ ระดับครอบครัว ระดับชุมชน และเน้นการใช้ความรู้ ความสามารถของวุฒิอาสาฯ ให้เต็มศักยภาพ นอกจากนี้ วุฒิอาสาฯ ควรให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภูมิปัญญาระหว่างกัน โดยให้ความสำคัญกับภาคีเครือข่ายที่มีบทบาทในการเชื่อมต่อ สนับสนุน และเสริมพลัง เพื่อให้การขับเคลื่อนงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
รองเลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ประเด็นขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ที่วุฒิอาสาฯ ระดมความเห็นร่วมกัน จะสามารถเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายในระดับกลุ่มจังหวัดที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันขับเคลื่อน ซึ่งภายหลังการระดมความเห็นในครั้งนี้ สศช. จะสังเคราะห์ประเด็นที่ได้เพื่อนำมาจัดทำเป็นยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานวุฒิอาสาธนาคารสมองต่อไป
ข่าว/ภาพ : กองยุทธศาสตร์การพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม |