เมื่อวันที่ 11 และ 12 กรกฎาคม 2567 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาไท (มพท.) เปิดเวที "เชื่อมเครือข่าย ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาวุฒิอาสาธนาคารสมอง ระดับกลุ่มจังหวัด” เพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มการทำงานและสร้างเครือข่ายการทำงานในระดับพื้นที่ของวุฒิอาสาฯ ในการเป็นพลังร่วมพัฒนาประเทศ ตามเป้าหมายการพัฒนาของกลุ่มจังหวัด โดยเปิดเวทีระดมความคิดเห็นประเด็นการขับเคลื่อนงานของวุฒิอาสาฯ ของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 ณ โรงแรมฟอร์จูน จังหวัดนครราชสีมา และกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด จังหวัดขอนแก่น ผู้ร่วมประชุมประกอบด้วย วุฒิอาสาฯ จากกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์) วุฒิอาสาฯ จากกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง (ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์) ผู้บริหาร สศช.กรรมการมูลนิธิพัฒนาไท เจ้าหน้าที่ สศช. และ มพท. โดยกลุ่มแรกจำนวนประมาณ 120 คน และกลุ่มที่สอง จำนวน 60 คน
นางสาววรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้นำเสนอเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สถานการณ์การพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด สถานการณ์ด้านประชากรที่สำคัญ การพัฒนาคนตามดัชนีความก้าวหน้าของคน (HAI) ใน 8 มิติ ประกอบด้วย มิติด้านสุขภาพ มิติด้านการศึกษา มิติด้านชีวิตการงาน มิติด้านเศรษฐกิจ มิติด้านที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม มิติด้านชีวิตครอบครัวและชุมชน มิติด้านการคมนาคมและการสื่อสาร และมิติด้านการมีส่วนร่วม พร้อมทั้งปัญหาและความท้าทายที่สำคัญ ตลอดจนการขับเคลื่อนงานของวุฒิอาสาฯ โดยกล่าวว่า เป้าหมายและแนวทางพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (พ.ศ. 2566-2570) ได้ให้ความสำคัญสู่การเป็น "ศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” โดยให้ความสำคัญกับประเด็นการพัฒนาใน 3 มิติ ได้แก่ (1) การเป็นฐานการผลิตของประเทศที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green) (2) การเป็นประตูเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน (Gate) และ (3) การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน (Growth)
สำหรับเป้าหมายการพัฒนาตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 (พ.ศ. 2566-2570) จะมุ่งเน้นการเป็น "ศูนย์กลางของเกษตรอุตสาหกรรม ท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ อารยธรรมขอม การค้าชายแดน ผลิตภัณฑ์ไหม และสังคมเป็นสุข สู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน” โดยปัจจุบันมีสถานการณ์การพัฒนาที่สำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุอยู่ที่ร้อยละ 20 โดยจังหวัดที่มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุสูงสุด คือ จังหวัดชัยภูมิ ร้อยละ 21.3 และรองลงมา คือ จังหวัดนครราชสีมา ร้อยละ 20.5 ส่วนสถานการณ์การพัฒนาคน มีค่า HAI ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ โดยมิติด้านชีวิตการงานมีความก้าวหน้ามากที่สุด ขณะที่มิติด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ และด้านการมีส่วนร่วม ยังเป็นมิติที่เป็นจุดอ่อน ซึ่งกลุ่มจังหวัดนี้มีปัญหาและความท้าทายสำคัญในด้านสังคม อาทิ สัดส่วนประชากรพิการ และผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังคนเดียว ปัญหายาเสพติด ด้านเศรษฐกิจและแรงงานที่ยังคงมีความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ทางเศรษฐกิจและอัตราการว่างงานของแรงงานนอกระบบในระดับสูง ปัญหาหนี้สินเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือน รวมทั้งด้านสิ่งแวดล้อมในเรื่องปัญหาวิกฤตด้านทรัพยากรป่าไม้เนื่องจากการขาดที่ดินทำกิน โดยวุฒิอาสาฯ ในพื้นที่ มีการดำเนินงานที่สำคัญทั้งในเรื่องการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ในชุมชนผ่านการทอผ้าพื้นเมือง ผ้าไหม และโครงการช่างชาวบ้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อาทิ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุโดยผ่านโรงเรียนผู้สูงอายุ การจัดรายการวิทยุที่ให้ความรู้ในด้านต่าง ๆ กับประชาชนทั่วไป การอนุรักษ์ผ้าพื้นเมืองผ้าไหม การเกษตรในรูปแบบโคก หนอง นา และการปรับแก้ดินเค็ม-น้ำเค็ม ด้วยอินทรียวัตถุ
สำหรับผลการระดมประเด็นการขับเคลื่อนที่สำคัญ มีดังนี้ (1) ด้านการดูแลกลุ่มเปราะบาง ส่งเสริมการแก้ไขปัญหายาเสพติดในกลุ่มเด็กและเยาวชน เพื่อสร้างเกราะกำบัง และภูมิคุ้มกันแก่เด็กและเยาวชน โดยเริ่มนำร่องในระดับชุมชน ที่โรงเรียนในเขตเทศบาลของแต่ละจังหวัด ซึ่งมีวุฒิอาสาฯ จังหวัดนครราชสีมาเป็นแกนนำ และทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย บ้าน วัด โรงเรียน ราชการ (บวร) อาทิ อปท. โรงเรียน ครู อาจารย์ ผู้นำชุมชน และผู้ปกครอง ผ่านกระบวนการสร้างความรู้ความเข้าใจ การสอดส่องดูแล ไปจนถึงการให้คำปรึกษาแก่เด็กและเยาวชน (2) ด้านการเพิ่มรายได้ภาคเกษตร เน้นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำโดยใช้ธนาคารน้ำใต้ดิน ซึ่งเป็นระบบการกักเก็บน้ำฝนไปไว้ในชั้นใต้ดิน สร้างความชุ่มชื้นให้แก่ชั้นผิวดินเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน ดำเนินการใน 2 รูปแบบ คือ แบบเปิดและแบบปิด โดยมีวุฒิอาสาฯ จังหวัดนครราชสีมาเป็นแกนนำ ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ กรมการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัย กรมทรัพยากรน้ำ กิจกรรมเพื่อสังคมของโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ และ (3) ด้านการท่องเที่ยววิถีชุมชน เชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยว "นครชัยบุรินทร์” บนฐานทรัพยากรทางการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ทั้งทางธรรมชาติ และเชิงประวัติศาสตร์ อีกทั้งเป็นการให้คุณค่าทุนทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น โดยแนวทางในการขับเคลื่อนจะใช้สถานที่ที่น่าสนใจและเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละจังหวัดเป็นจุดตั้งต้น และนำศิลปวัฒนธรรมและสินค้าท้องถิ่นมาเป็นจุดขายเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้แก่คนในพื้นที่
ส่วนเป้าหมายการพัฒนาตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง (พ.ศ. 2566-2570) เน้น "เติบโตด้วยเศรษฐกิจแห่งอนาคต สังคมเป็นสุข สิ่งแวดล้อมยั่งยืน” โดยปัจจุบันมีสถานการณ์การพัฒนาที่สำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์เช่นเดียวกับกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุสูงอยู่ที่ร้อยละ 20.4 โดยจังหวัดที่มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุเกินร้อยละ 20 อยู่ใน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น ร้อยละ 20.8 จังหวัดมหาสารคาม ร้อยละ 20.6 และจังหวัดร้อยเอ็ด ร้อยละ 20.4 ทั้งนี้ สถานการณ์การพัฒนาคน มีค่า HAI สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศโดยด้านคมนาคมและการสื่อสาร มีความก้าวหน้ามากที่สุด อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนที่สำคัญ คือ ด้านการศึกษา กลุ่มจังหวัดนี้มีปัญหาและความท้าทายสำคัญในด้านเศรษฐกิจ อาทิ การขาดแคลนน้ำสำหรับทำการเกษตร ต้นทุนการผลิตสินค้าทางการเกษตรสูงแต่ปริมาณและราคาผลผลิตต่ำ แรงงานในภาคการเกษตรส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและมีลักษณะการทำเกษตรแบบดั้งเดิม ด้านการท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยวขาดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ ด้านการพัฒนาทุนมนุษย์ เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการถดถอย คุณภาพการศึกษายังมีน้อย รวมทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีความเสื่อมโทรม โดยวุฒิอาสาฯ ในพื้นที่มีการดำเนินงานที่สำคัญทั้งในเรื่องการดูแลสุขภาวะผู้สูงอายุในรูปแบบโรงเรียนผู้สูงอายุ การพัฒนาชุมชนโดยโครงการบ้านมั่นคงชุมแพ การรักษาภูมิปัญญาไทยด้านศิลปกรรมการแสดงพื้นบ้าน การจัดการท่องเที่ยวชุมชน การพัฒนาผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิขาย การกำจัดขยะด้วยบ่อบำบัดขยะเปียกกำจัดเศษอาหาร
สำหรับผลการระดมประเด็นการขับเคลื่อนที่สำคัญ มีดังนี้ (1) ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เน้นการแก้ไขปัญหายาเสพติด เนื่องจากเป็นประเด็นสำคัญที่เป็นจุดคานงัดในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านอื่น ๆ โดยดำเนินการนำร่องที่ศูนย์เรียนรู้ ดร.วรรณกานต์ อ.บรบือ จ.มหาสารคาม มีวุฒิอาสาฯ จ.มหาสารคามเป็นแกนนำ และทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย บวร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และผู้นำชุมชน (2) ด้านการเกษตรมูลค่าสูง ปรับการทำการเกษตรให้เป็นแหล่งผลิตเกษตรอินทรีย์ครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยปลูกพืชแบบผสมผสานมีความหลากหลาย สร้างอัตลักษณ์มีมาตรฐานรองรับ นำเทคโนโลยีมาช่วยในการผลิตและการตลาด ซึ่งมีวุฒิอาสาฯ จังหวัดขอนแก่นเป็นแกนนำ และทำงานเชื่อมโยงกับเครือข่ายต่าง ๆ อาทิ มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (3) ด้านการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เน้นการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยว "ร้อยแก่นสารสินธุ์” เพื่อกลุ่มเป้าหมายแต่ละช่วงวัย โดยแนวทางการขับเคลื่อนจะเลือกสถานท่องเที่ยวที่เหมาะกับแต่ละช่วงวัยและกำหนดเป็นเส้นทางซึ่งจะมีการประชาสัมพันธ์ผ่านกลอนรำ ซึ่งเป็นศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมถึง Social Media ที่สามารถสร้างการรับรู้ได้เป็นวงกว้าง นอกจากนี้ จะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับมาตรฐานในแต่ละด้าน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยว โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานรับผิดชอบในด้านต่าง ๆ
นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานจาก นายครรชิต เข็มเฉลิม กรรมการ มพท. และวุฒิอาสาฯ จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่มีกระบวนการการทำงาน โดยมีการกำหนดประเด็นและเป้าหมายการพัฒนาร่วมกันของคณะทำงานที่เป็นวุฒิอาสาฯ ในจังหวัดฉะเชิงเทรา อาทิ ความมั่นคงด้านอาหาร การท่องเที่ยวชุมชน การเรียนรู้บนฐานชุมชน การสร้างเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน และวิเคราะห์การเชื่อมโยงประเด็นกับภาคีเครือข่ายอื่น ๆ ในจังหวัด ก่อนจะขยายผลไปสู่การร่วมทำงานกับจังหวัดอื่น ๆ บนฐานการใช้ทรัพยากรร่วมกัน โดยใช้กระบวนการขับเคลื่อน SDG LAB ที่มีการพบปะและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องผ่านแพลตฟอร์มตะวันออกฟอรั่ม เป็นการทำงานเชิงยุทธศาสตร์ยกระดับการทำงานจากระดับจังหวัดขึ้นเป็นระดับภาค มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ "ตะวันออกวิถีแห่งความสุข” รวมทั้งเห็นว่าการเพิ่มคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมเป็นวุฒิอาสาฯ จะทำให้มีพลังขับเคลื่อนมากขึ้น และนายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ กรรมการ มพท. ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการเชื่อมเครือข่ายวุฒิอาสาฯ ทำให้เกิดการรวมพลังวุฒิอาสาฯ ในการร่วมคิด ร่วมวางแผน และทำงานร่วมกัน นำไปสู่การสร้างประโยชน์ของสังคม ชุมชน เพราะวุฒิอาสาฯ ทุกคนเป็นพลเมืองเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเมือง สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นพลังทางสังคม
รองเลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ประเด็นขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ที่วุฒิอาสาฯ ระดมความเห็นร่วมกัน สอดคล้องกับการขับเคลื่อนของภาคส่วนอื่น ๆ ที่มีการขับเคลื่อนอยู่ ทั้งนี้สามารถเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายในระดับกลุ่มจังหวัดที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันขับเคลื่อนภายหลังการระดมความเห็นในครั้งนี้ สศช. จะสังเคราะห์ประเด็นที่ได้เพื่อนำมาจัดลำดับความสำคัญในการผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ต่อไป
ข่าว/ภาพ : กองยุทธศาสตร์การพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม |