เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 นายโสภณ แท่งเพ็ชร์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "เทคนิควิธีการถอดบทเรียน เพื่อประยุกต์ใช้ในการติดตามและประเมินผล การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580) กรณีเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ” โดยกองยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง (กพม.) ภายใต้ค่าใช้จ่ายการติดตามผลการดำเนินงานโครงการสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่และ เมืองน่าอยู่อัจฉริยะ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ สศช. ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ นายศุภณัฐ เพิ่มพูนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมจากกองและสำนักต่าง ๆ ใน สศช. จำนวน 20 คน รวมทั้งผู้เข้าร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ จำนวนไม่น้อยกว่า 10 คน
การประชุมเชิงปฏิบัติการนี้มี วัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจของบุคลากร สศช. เกี่ยวกับหลักการเบื้องต้น รูปแบบ เทคนิคและวิธีการถอดบทเรียน เพื่อประยุกต์ใช้ในการติดตามและประเมินผล การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580) กรณีเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ รวมทั้งเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างผู้เข้าร่วมประชุมและวิทยากร โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1) หลักการเบื้องต้นในการถอดบทเรียน ประกอบด้วย การเริ่มสร้างการมีส่วนร่วมในการถอดบทเรียน การค้นหา เก็บ และรวบรวมข้อมูล การจัดหมวดหมู่ข้อมูลที่ได้รับ การวิเคราะห์และสังเคราะห์ การระดมความเห็นกลุ่ม การใช้คำถามเชิงวิเคราะห์ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อรวบรวมข้อมูลหรือประเด็นต่าง ๆ
2) เทคนิค วิธีการ และเครื่องมือที่ใช้ในการถอดบทเรียน ที่สำคัญ ได้แก่
- การทบทวนหลังการปฏิบัติงาน (After Action Review: AAR) ประกอบด้วย (1) การทบทวนสิ่งที่คาดว่าจะได้รับจากการทำงาน (2) การทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นจริง (3) การทบทวนหาสาเหตุ (Why) ของความแตกต่าง และ (4) การทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้และการหาวิธีการลดความแตกต่าง
- การตั้งคำถามอย่างสร้างสรรค์ (Appreciative Inquiry) โดยการประยุกต์ใช้เครื่องมือการวิเคราะห์ที่สำคัญ คือ SONEAR Analysis ประกอบด้วย จุดแข็ง (Strength) โอกาส (Opportunity) ความจำเป็น (Needs) อารมณ์ และความเข้าอกเข้าใจ (Emotion & Empathy) ความปรารถนา (Aspiration) และ ผลลัพธ์ (Result)
- การสนทนาอย่างสร้างสรรค์ (Objective-Reflect-Interpretive-Decision: ORID) เป็นการตั้งคำถามเพื่อให้ผู้ตอบคำถามตัดสินใจ แบ่งเป็น 4 ระดับ ประกอบด้วย (1) ระดับวัตถุประสงค์ (Objective Level) เป็นการถามเกี่ยวกับความเป็นจริง (Fact) เพื่อปลุกเร้าการรับรู้ (2) ระดับสะท้อนความรู้สึก (Reflective Level) เพื่อปลุกเร้าความรู้สึกภายใน อารมณ์ ความจำ การเกี่ยวโยง (3) ระดับการตีความ (Interpretive Level) เพื่อให้ผู้ถูกถามมีความรู้สึกนึกคิดถึงค่านิยม นัยสำคัญ ความหมายจากระดับวัตถุประสงค์ และ (4) ระดับการตัดสินใจ (Decisional Level) โดยรวมเพื่อค้นหาสิ่งที่จะต้องทำต่อไป
การประชุมเชิงปฏิบัติการนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเจ้าหน้าที่ สศช. โดยได้สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการเบื้องต้น รูปแบบ เทคนิคและวิธีการถอดบทเรียน ซึ่งช่วยเพิ่มสมรรถนะของเจ้าหน้าที่ สศช. ในการติดตามและประเมินผลความก้าวหน้าการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
ข่าว : กองยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง
ภาพ : เมฐติญา วงษ์ภักดี |