ข่าวสาร/กิจกรรม
|
สศช. เข้าเยี่ยมชมและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนและอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 จังหวัดนครราชสีมา
วันที่ 26 มิ.ย. 2567 (จำนวนผู้เข้าชม 167)
|
คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สศช. เข้าเยี่ยมชมและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 จังหวัดนครราชสีมา เพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนาองค์ความรู้และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2567 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ กรรมการกฤษฎีกา พร้อมด้วยนายวิโรจน์ นรารักษ์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายอธิพงศ์ หิรัญเรืองโชค ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและเจ้าหน้าที่ คณะผู้แทนจาก Japan Internation Cooperation Agency Thailand Office (JICA) และคณะผู้แทนจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้เข้าเยี่ยมชมและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) (สซ.) และอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 จังหวัดนครราชสีมา
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (สซ.) โดย รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนและทีมนักวิจัยของ สซ. ได้นำเสนอรายละเอียดและการเตรียมความพร้อมสำหรับ "โครงการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน 3 GeV และห้องปฏิบัติการ” ในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) จังหวัดระยอง พร้อมทั้งได้มีการหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นแนวทางการผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศอย่างกว้างขวางต่อไป ทั้งนี้ การสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนและห้องปฏิบัติการแห่งใหม่ที่มีระดับพลังงานสูงขึ้นที่จังหวัดระยองเมื่อเทียบกับเครื่องเดิมที่ตั้งอยู่ที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จังหวัดนครราชสีมาจะช่วยเสริมสร้าง (1) ความเข้มแข็งด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนและระบบลำเลียงแสง และเทคโนโลยีจากการประยุกต์ใช้แสงซินโครตรอน (2) พัฒนาบุคลากรในด้านที่เกี่ยวข้อง (3) การยกระดับงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ การเกษตร อาหาร พลังงาน สิ่งแวดล้อม การแพทย์และสาธารณสุขของประเทศผ่านการวิจัยและพัฒนาจากเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน รวมทั้ง (4) การสนับสนุนการวิจัยสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ และแก้ปัญหาในภาคการผลิตของประเทศ
อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 โดย ผศ.ดร.ปภากร พิทยชวาล ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 และผู้แทนจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ได้นำเสนอกลไกการให้บริการของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 ซึ่งประกอบด้วยบริการ 4 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ (1) ด้าน IT Software and Digital Content (2) ด้าน Energy Technology and Material (3) ด้าน Agriculture and Food และ (4) ด้าน Medical and Bio-Technology ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในปี 2566 คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 89 ล้านบาทหลังจากเปิดให้บริการเมื่อเดือนเมษายน 2566 พร้อมทั้งได้มีการหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแนวทางการขับเคลื่อนการยกระดับผู้ประกอบการในพื้นที่ด้วยโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ รวมถึงทิศทางการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ที่มีศักยภาพและมีความสามารถในการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศได้ต่อไป ทั้งนี้ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 มีแหล่งทุน แพลตฟอร์ม และการให้บริการเพื่อสนับสนุนการวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจและสังคมตลอดห่วงโซ่คุณค่าการพัฒนานวัตกรรม (Innovation Value Chain) เช่น พื้นที่สำหรับวิจัยและพัฒนา พื้นที่โรงงานต้นแบบ พื้นที่กลางรองรับการทดสอบด้านเกษตรและอาหาร และการให้บริการให้คำปรึกษาทางด้านธุรกิจ/กฎหมาย/ทรัพย์สินทางปัญญา
ภาพ/ข่าว : กองยุทธศาสตร์และประสานการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน
|