เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2567 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยกองยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง (กพม.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "มุมมอง ความรู้และความเข้าใจเพื่อพัฒนาสมรรถนะการให้ข้อเสนอแนะต่อผลการประเมินตามตัวชี้วัด” ภายใต้ค่าใช้จ่ายการติดตามผลการดำเนินงานโครงการสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่และ เมืองน่าอยู่อัจฉริยะ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ สศช. โดยมีนางสาวชณกช ชสิธภนญ์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.ธัญญลักษณ์ วีระสมบัติ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมจากกองและสำนักต่างๆ ใน สศช. จำนวน 25 คน รวมทั้งผู้เข้าร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ จำนวนไม่น้อยกว่า 15 คน
การประชุมเชิงปฏิบัติการนี้มี วัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจของบุคลากร สศช. เกี่ยวกับหลักการและวิธีการกำหนดตัวชี้วัดที่เหมาะสมกับเป้าหมาย การติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน รวมทั้งการจัดทำข้อเสนอแนะที่ผลการประเมินที่เป็นประโยชน์และสร้างสรรค์ รวมทั้งเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างผู้เข้าร่วมประชุมและวิทยากร โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1) ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการสร้างและพัฒนาตัวชี้วัด ประกอบด้วย นิยามของตัวชี้วัด ประเภทตัวชี้วัด (เชิงปริมาณ เชิงคุณภาพ และเชิงปริมาณที่ใช้วัดสิ่งที่เป็นนามธรรม) ลักษณะตัวชี้วัดที่ดี ขั้นตอนการจัดทำตัวชี้วัด เทคนิคและแนวทางการกำหนดตัวชี้วัด
2) การแปลผลและการให้ข้อเสนอแนะต่อตัวชี้วัด รวมทั้งการเขียนรายงาน ประเด็นหลัก ได้แก่ ตัวแบบ (Model) สำหรับประยุกต์ใช้ในการให้ข้อเสนอแนะ ได้แก่
- CIPP Evaluation Model ประกอบด้วย การประเมินสภาวะแวดล้อม (Context) การประเมินปัจจัยเบื้องต้น (Input) การประเมินกระบวนการ (Process) และการประเมินผลผลิต (Product)
- Kirkpatrick Model ประกอบด้วย การประเมินปฏิกิริยา (Reaction Evaluation) การประเมินผลการเรียนรู้ (Learning Evaluation) การประเมินพฤติกรรม (Behavior Evaluation) และการประเมินผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นต่อองค์กร (Result Evaluation)
- Bloom’s Taxonomy ประกอบด้วย การรู้และจดจำข้อมูล (Remembering) การเข้าใจ (Understanding) การประยุกต์ใช้ (Applying) การวิเคราะห์ (Analyzing) การสร้างผลลัพธ์ใหม่ (Creating) และการประเมิน (Evaluating)
การประชุมเชิงปฏิบัติการนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเจ้าหน้าที่ สศช. โดยได้สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการสร้างและพัฒนาตัวชี้วัด รวมทั้งการแปลผลและการให้ข้อเสนอแนะ ซึ่งช่วยเพิ่มสมรรถนะของเจ้าหน้าที่ สศช. ในการติดตามและประเมินผลความก้าวหน้าการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
กองยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
14 มิถุนายน 2567 |